xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

เมื่อได้เห็นผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 เดือนที่แล้ว ก็เริ่มได้สำนึกว่า นี่เองแหละ คือผลอันแท้จริงของการปฏิรูปการเมือง!

เราต่างมีภาพในใจกันเกือบทุกคนว่า ในที่สุดการปฏิรูปการเมือง เมื่อมีผลสมบูรณ์ปรากฏออกมาแล้ว รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร!

แต่ภาพเหล่านั้น เป็นเพียงจินตนาการของแต่ละบุคคล ซึ่งสะท้อนออกมาตามแนวคิดของแต่ละคน!

ส่วนใหญ่ของการปฏิรูปการเมืองมาจากแนวคิดของปัญญาชนและนักวิชาการเกือบทั้งนั้น ดังนั้นภาพของการปฏิรูปการเมืองจึงเป็นไปตามแนวทางภูมิหลังของแนวคิดดังกล่าวนั่นเอง

พอแนวทางการเมืองได้หันเหผิดไปจากความมุ่งหวังดังกล่าว เราก็มักเอะอะว่าการ
ปฏิรูปการเมืองได้ถูกบิดเบือนให้ผันแปรไปเสียแล้ว!

แต่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ย่อมแสดงออกมาด้วยการชี้ขาดโดยพลังประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปต่างหาก!

ในการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 72.7 ซึ่งเป็นจำนวนที่ควรถือได้ว่า ได้สะท้อนแนวโน้มของความต้องการอันแท้จริงประชาชนได้แล้ว!

ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.ประเภทเขตเลือกตั้ง 309 คน และด้วยคะแนนเสียงประเภทบัญชีรายชื่อพรรคกว่า 18 ล้านคน จึงได้ที่นั่ง ส.ส.ประเภทนี้อีก 67 คน รวมมีที่นั่งในสภาฯ ทั้งหมดรวม 376 ที่นั่ง

แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ เปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทย ได้บริหารประเทศด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เพราะเชื่อมั่นในคำขวัญในระหว่างหาเสียงของพรรคไทยรักไทยที่ว่า “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง!”

ฉะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้!

ถ้ามองผิวเผินก็อาจเห็นได้ว่า เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของไทยรักไทยและของคุณทักษิณทีเดียว!

แต่จริงๆ แล้ว นับได้ว่าเป็นชัยชนะที่เป็นภาระหนักสำหรับคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยทีเดียว!

รัฐบาลทักษิณ สมัยที่สองนี้ต้องสามารถ “สร้าง” สังคมไทยให้ได้จริงอย่างที่คุยไว้ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้รัฐบาลทักษิณสมัยที่สองจะต้องไม่หักหลังประชาชนที่เลือกมา โดยการใช้คะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาลอย่างท่วมท้นในสภาฯ เพื่อการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไปในทางที่ไม่ถูกไม่ต้องเป็นอันขาด!

แน่ใจได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังจับตามองรัฐบาลทักษิณรอบนี้อยู่ ตั้งแต่ตั้งคณะรัฐมนตรีทีเดียว! ต้องการดูว่าคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยจะทรยศต่อความไว้วางใจอย่างท่วมท้นของประชาชนหรือไม่?

ยังมีผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอีกด้านหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเมืองอีกเหมือนกัน

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยแพ้อย่างราบคาบเหมือนกัน! ไม่ได้รับเลือกตั้งสักคนเดียว! ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ มีคนเดียวที่สมัครในนามพรรคชาติไทยที่ได้รับเลือกเข้ามาในสภาฯ

จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉลี่ยแล้วก็พอๆ กับตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ คือประมาณร้อยละ 70 กว่าๆ

คนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ความจริงข้อนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามุสลิมในจังหวัดเหล่านี้ไม่ได้มีแนวคิดไปในทำนองแบ่งแยกดินแดนเลย! เพราะเขายังสมัครใจ เข้ามามีส่วนรวมในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งนี้!

ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านมุสลิมในจังหวัดชายแดนเหล่านี้ ก็ยังรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการแสดงถึงแนวทางความคิดเห็นของพวกเขาอย่างชัดเจนทีเดียว!

เขาไม่เลือกผู้สมัครของไทยรักไทยเลย แต่ตรงกันข้ามกับเลือกผู้สมัครของฝ่ายค้านทั้งประชาธิปัตย์และชาติไทยทั้งนั้น!

ผลการเลือกตั้งเช่นนี้นับได้ว่า เป็นการแสดงประชามติของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้นายกรัฐมนตรีทักษิณและพรรคไทยรักไทยได้รับรู้ว่า นโยบายและการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมานั้น ประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดนี้ไม่เห็นด้วยเลยทีเดียว!

นี่แสดงว่าชาวบ้านคนไทยสามารถใช้การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งแนวทางของความคิดเห็นของพวกเขาได้อย่างแจ้งชัดทีเดียว!

รัฐบาลทักษิณสมัยที่สอง ต้องรับรู้ในมติของของชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้การเลือกตั้งครั้งนี้! จะมองข้ามความจริงข้อนี้ไปไม่ได้!

อย่างนี้ต้องถือว่า เป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเมืองระดับชาวบ้านเหมือนกัน!

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผลที่แสดงถึงการปฎิรูปทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง คือด้านพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์!

การที่คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคคนก่อน ลาออกเมื่อเห็นผลการเลือกตั้ง เป็นการปราชัยของประชาธิปัตย์ นับได้ว่าเป็นการแสดงมารยาททางการเมืองที่ถูกต้องตามครรลองของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 เดือนนี้ ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงมติเลือกคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะคาดคิดกันอยู่แล้ว!

แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ผู้ว่าฯ กทม. คือคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เช่นเดียวกันคุณวิทูรย์ นามบุตร ส.ส.จากอุบลราชธานี ก็ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่สอง

นำหน้าคนระดับนำ “หน้าเก่า” ของ ปชป. อย่างคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรือ คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ!

ยิ่งไปกว่านั้นคุณกรณ์ จาติกวณิช ได้เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่หนึ่ง บุคคลเหล่านี้ต้องนับว่าเป็น “เลือดใหม่” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ได้มีการ “ผลัดใบ” กันแล้ว

นับว่าครั้งนี้ได้แสดงว่าประชาธิปัตย์ ได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะเดิน “ทัพทางไกล” หรือ Long March เพื่อต่อสู้กับคุณทักษิณและไทยรักไทยอีกยกหนึ่งในสี่ปีข้างหน้า

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนได้ชี้ขาดอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ต้องการเห็นระบบสองพรรคในการเมืองไทย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ประเภทเขต 71 คน ได้รับคะแนนเสียงเลือกระบบพรรคทั้งประเทศ 7 ล้านกว่าคน มี ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ 26 คน รวมได้ที่นั่งในสภาฯ เพียง 97 ที่นั่ง

นับได้ว่าประชาธิปัตย์แพ้ไทยรักไทยอย่างชนิดทิ้งกันห่างทีเดียว!

มีข้อสังเกตว่า ประชาชนไม่ยอมให้ประชาธิปัตย์อย่างที่ร้องขอในระหว่างหาเสียง คือขอให้ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในสภาฯ อย่างน้อยถึง 201 ที่นั่ง เพื่อจะได้ทำการตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที

เมื่อประชาชนไม่ยอมให้ประชาธิปัตย์เช่นนี้ ก็ต้องมองว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลทักษิณมีความเข้มแข็งเด็ดขาดในการบริหารประเทศ

นอกจากนี้ยังอาจมองได้ว่า ประชาชนมีความเบื่อหน่ายกับการตรวจสอบในสภาฯ ที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร เห็นว่าเป็นเพียงการแสดงคารมแบบสาดน้ำเข้ารดกัน ไม่มีแก่นสารจริงจังก็ได้!

มีมุมมองอีกมุมหนึ่ง เรามักมองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงว่าไทยรักไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์อย่างทิ้งห่าง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ทิ้งห่างพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ อีกสองพรรค คือพรรคชาติไทย และพรรคมหาชนเหมือนกัน!

ประชาธิปัตย์มีที่นั่งในสภาฯ ทั้งหมด 97 ที่นั่ง แต่ชาติไทยได้ที่นั่งเพียง 25 ที่นั่ง ส่วนมหาชนนั้นได้เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้นเอง!

ควรสังเกตด้วยว่า จำนวนที่นั่งของพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งคราวนี้ได้ลดลงกว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ครั้งที่แล้วชาติไทยมี ส.ส.ทั้งสองประเภทรวม 40 คน คราวนี้เหลือ 26 คนเท่านั้น

เรื่องนี้อาจเนื่องมาจากกำลังสำคัญของชาติไทยในภาคตะวันออกและในอีสานใต้ ได้ถูกไทยรักไทย “ดูด” ไปก่อนเลือกตั้งแล้ว เป็นการบั่นทอนฐานกำลังของชาติไทยลงก็ได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรามักมองมองข้ามความเป็นจริงไป เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคชาติไทยได้แสดงบทบาทในการหาเสียงได้อย่างน่าตื่นตันใจ อย่างเช่นนำคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์มาลงสมัครในประเภทบัญชีรายชื่อ เอาคุณจณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ มาลงเขตดอนเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตคนแรกของชาติไทยใน กทม.เสียด้วย

แต่ความจริงที่ควรสังเกตของชาติไทยก็คือ พรรคนี้ได้หดตัวลงในการเลือกตั้งครั้งนี้! และผู้แสดงบทบาทนำ มีตัวหัวหน้าพรรคคนเดียว คือคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นผู้สูงอายุแล้ว อีกสี่ปีข้างหน้าอายุก็คงตก 77-78 ปี แล้วจะสามารถแสดงบทบาทได้อย่างเข้มแข็งอีกได้เทียวหรือ?

ส่วนพรรคมหาชนซึ่งเมื่อเริ่มตั้งพรรคก็อ้างว่าเป็นพรรคทางเลือกที่สาม แต่ประชาชนก็ให้ที่นั่งในสภาฯ เพียง 2 ที่นั่ง ซึ่งทั้งคู่ก็ได้เข้าสภาฯ เพราะความสามารถส่วนตัวของเขาเอง!

ฉะนั้นอาจสรุปจากผลการเลือกตั้งคราวนี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะมีพรรคทางเลือกที่สาม หรืออีกนัยหนึ่งยังเห็นว่าระบบสองพรรคหรือพรรคคู่นั้นเหมาะสมแล้วกับเมืองไทย ส่วนวันข้างหน้าระบบพรรคคู่อาจลื่นไถลไปเป็นระบบพรรคเดี่ยว ก็อาจเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ก็คงยอมรับได้!

เราต้องยอมรับว่า การเมืองของเราได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุด ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เกิดขึ้นจากการชี้ขาดของประชาชนส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งที่ผ่านมา!
กำลังโหลดความคิดเห็น