xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอเพื่อขจัดโทรทัศน์ของเจอร์รี แมนเดอร์

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา


ในห้องสมุดส่วนตัว ผมมีหนังสือเก่าๆ ที่ค่อยๆ สะสมจากการไปท่องเที่ยวตามร้านหนังสือชั้นเยี่ยมของโลกจำนวนนับไม่ถ้วน หนึ่งในหนังสือดังกล่าวก็เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคนหนึ่งคือเจอร์รี แมนเดอร์ (Jerry Mander) ผู้ผ่านงานด้านธุรกิจการโฆษณามานานถึงสิบห้าปี รวมทั้งการเป็นประธานและหุ้นส่วนของ Freeman, Mander & Gossage ในซาน ฟรานซิสโก อันเป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทโฆษณาที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ Four Arguments For the Elimination of Television, New York: Quill, 1977 และ 1978

แม้จะเคยพลิกๆ ดูมาหลายครั้งในช่วงหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้จับมาอ่านจริงๆ ก็เมื่อวันสองวันมานี้เอง ทั้งนี้ ก็เพราะหลังจากที่ได้เรียบเรียงข้อมูลอันกระจัดกระจายจากการวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับอันตรายของโทรทัศน์มาสองครั้งแล้ว ก็เกิดกิเลส จนอดไม่ได้ที่จะขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อไปอีก เพื่อให้เกิดความกระจ่างในระดับของการวิเคราะห์เชิงระบบมากขึ้น ในแง่นี้ Four Arguments ดูจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่านี่คือหนังสือระดับที่ขึ้นหิ้งคลาสสิคได้สบายๆ

อย่างน้อยๆ ความเป็นคลาสสิคของหนังสือเล่มนี้ก็มีอยู่สี่ด้านด้วยกันคือ

ในประการแรก นี่เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ของโลกอย่างแน่นอนที่นำเสนอบทวิพากษ์โทรทัศน์อย่างถึงพริกถึงขิงขนาดนำไปสู่ข้อเสนอให้ขจัดโทรทัศน์ไปพ้นไปจากท้องพิภพ

ในประการต่อมา แก่นสารอันเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้มีความใหม่เป็นอย่างมากเมื่อถูกนำเสนอออกสู่ท้องตลาดตอนปลายๆ ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และแม้กระทั่งในวันนี้ ก็ยังให้ความรู้สึกสดอย่างบอกไม่ถูก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการ “คิดนอกกรอบ” ถึงขนาดนี้เป็นอะไรที่หาได้ยากในโลก เหนือสิ่งอื่นใด ที่หนังสือเล่มนี้ยังดูสดมากๆ ก็เพราะในเวลานี้โทรทัศน์ได้รับการสถาปนาให้แข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อเกือบๆ สามสิบปีที่ผ่านมามาก

แข็งแรงจนกระทั่งไม่ค่อยมีใครคิดจะทำอะไรอย่างจริงจังกับโทรทัศน์เสียแล้ว นอกจากการขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการผสมโรงกับกระแสสังคมที่ไม่มีสงสัยในความชอบธรรมของโทรทัศน์เอาเสียเลย

ประการที่สาม ภูมิหลังอันยาวนานในธุรกิจการโฆษณาของผู้เขียน อีกทั้งเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจอันเลื่องลือของสหรัฐอเมริกาคือวอร์ตันและโคลัมเบีย ทำให้ท่านเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะที่จะพูดเรื่องราวแบบนี้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ทำธุรกิจการโฆษณาที่ได้หากินกับโทรทัศน์มาเป็นเวลานาน

และประการที่สี่ ความที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีค่าเท่ากับการตั้งคำถามกับบทบาทในอดีตของตนเอง อันเป็นสิ่งที่ทำให้แมนเดอร์สูญเสียประโยชน์ในทางการเงินและเกียรติภูมิทางวิชาชีพของตน นี่จึงเป็น “ผลงานเกียรติยศ” ที่เป็นการพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของผู้เขียนตรงที่สามารถ “ก้าวข้าม” วิชาชีพเก่าแก่ของตนเองได้ ทั้งนี้ ด้วยวัตถุประสงค์อันสูงส่ง นั่นก็คือ การแสดงความรักใคร่และห่วงใยต่อชะตากรรมของมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้มนต์สะกดของโทรทัศน์

ด้วยคุณความดีขั้นพิเศษอย่างยิ่งแบบนี้เองที่ทำให้เราท่านทั้งหลายสามารถแสดงการคารวะต่อแมนเดอร์อย่างพร้อมเพรียงกันได้เต็มอกเต็มใจ ณ บัดนี้ ซึ่งนับรวมได้เกือบสามสิบปีแล้วที่หนังสือเล่มนี้ปรากฏตัวขึ้นในบรรณพิภพ ในที่นี้ พึงบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานด้วยว่าหนังสือที่มีความยาวทั้งสิ้น ๓๗๑ หน้า ซึ่งแมนเดอร์ใช้เวลาในการค้นคว้าและเขียนนานราวๆ สามปีนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกภายในครอบครัวและเพื่อนๆ ของผู้เขียนจำนวนมาก รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิและกองทุนที่มองการณ์ไกลอย่าง Friends of the Earth Foundation Laras Fund และ Foundation for National Progress

แมนเดอร์เขียนเอาไว้ในคำนำที่เขาเรียกโทรทัศน์ว่า “สัตว์ร้าย” ว่าตลอดเวลาที่เขาทำงานอยู่ในวงการการโฆษณา เขาได้รับรู้ถึงอิทธิพลของโทรทัศน์มากขึ้นทุกวัน “บริษัทของเราดูสง่างามที่สุดในเมือง (ซาน ฟรานซิสโก) เลยทีเดียว ผมเดินทางจากฟากหนึ่งไปสูอีกฟากหนึ่ง (ของสหรัฐอเมริกา) ทุกสัปดาห์ เดินทางไปพักผ่อนที่หมู่เกาะตาฮิติเป็นเวลาห้าวัน รับประทานอาหารในภัตตาคารฝรั่งเศสเท่านั้น นั่งไอพ่นไปยุโรปเพื่อเล่นสกีสองสามวัน

ทว่า ณ จุดหนึ่งเพียงไม่นานนักจากการทำงานในอาชีพใหม่นี้ ผมรู้สึกว่ามีความกลวงอยู่ในตนเองผมค้นพบว่าตัวเองส่งรอยยิ้มที่ไร้ความหมาย ผมสังเกตว่าแม้จะได้ทำกิจกรรมสารพัดเช่นนั้น ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าสนุกอะไรเลย

ผมคิดว่าผมถึงจุดต่ำสุดทางอารมณ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ ตอนที่กำลังเล่นเรืออยู่แถวช่องแคบดัลมาเทียน สังเกตการณ์หุบเขาต่างๆ ท้องทะเลที่หมุนไปมา ฟากฟ้าที่เจิดจ้า และแสงสีที่สว่างไสวราวกับทะเลทราย”

ความรู้สึกว่างเปล่าอย่างยิ่งนี้มีรากฐานที่อยู่การค้นพบว่า โทรทัศน์กำลังทำลายทุกสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตของมนุษย์ แมนเดอร์มีรายละเอียดเกี่ยวกับอันตรายมากมายของโทรทัศน์ที่จัดกลุ่มเอาไว้ภายใต้สี่หัวข้อ อันเป็นไปตามชื่อหนังสือของเขา

หนึ่ง ในการทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ด้านประสบการณ์ของมนุษย์ โทรทัศน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนมนุษย์ให้ไปอยู่ในสภาวะจอมปลอมอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือ ความสัมพันธ์โดยตรงของเรากับความรู้เกี่ยวกับพื้นพิภพถูกช่วงชิงไป

เมื่อถูกตัดตอนเช่นนั้น เราก็เป็นเสมือนมนุษย์อวกาศที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ กล่าวคือ ไม่รู้ว่าตอนไหนกำลังขึ้น ตอนไหนกำลังลง หรืออะไรคือสัจจะ อะไรคือนิยาย เงื่อนไขต่างๆ ของความเป็นโทรทัศน์นั้นเหมาะสมกับการวางรากฐานให้แก่ความจริงที่ไร้ที่มาที่ไป อย่างยิ่ง

สอง ไม่ได้เป็นอุบัติเหตุเลยที่โทรทัศน์จะถูกครอบงำโดยอำนาจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงหยิบมือ เดียวเท่านั้น และมันก็ไม่ได้เป็นอุบัติเหตึเช่นเดียวกันที่โทรทัศน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ “สร้าง” มนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นก็คือ รูปแบบที่สอดรับกับสิ่งแวดล้อมจอมปลอมที่เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ ปัจจัยทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจทำให้อะไรต่างๆ ลงเอยแบบนี้ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

สาม โทรทัศน์ส่งผลกระทบด้านประสาทและจิตวิทยาในมนุษย์ที่เสพมัน มันสามารถทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ ที่แน่นอนก็คือ มันสามารถก่อให้เกิดความสับสนได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการยินยอมตกอยู่ใต้อำนาจของ “ภาพจากภายนอก” เมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดแล้ว ผลกระทบของโทรทัศน์มีมูลค่าเท่ากับการสร้างเงื่อนไขสำหรับการควบคุมแบบอัตตาธิปไตย

และสี่ ในฐานะที่เป็นเทคโนโนโลยี ขอบเขตด้านเนื้อหาของโทรทัศน์จะถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นก็คือ ข่าวสารบางชนิดอาจจะสามารถถ่ายทอดได้ทั้งหมด บางชนิดได้เพียงบางส่วน และอีกบางชนิดถ่ายทอดไม่ได้เลย ลงท้าย ข่าวสารทื่อๆ สั้นๆ ง่ายๆเท่านั้นที่ไปไปกันได้ดีกับเป้าหมายทางการค้าของผู้ควบคุมโทรทัศน์ ศักยภาพสูงสุดของโทรทัศน์ก็คือการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการโฆษณา “อคติ” ดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะมันแฝงเร้นอยู่ในเทคโนโลยีโทรทัศน์

กล่าวอย่างสั้นๆ แมนเดอร์กำลังพูดว่าโทรทัศน์คือรูปแบบสำคัญแห่งการช่วงชิงการครอบงำมนุษย์จนเกิดความสูฯญเสียโอกาส ความสับสนและความเพี้ยน ทำไปทำมา มนุษย์ไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรเป็นสิ่งภายใน อะไรเป็นสิ่งภายนอก ยังผลให้เกิดความปั่นป่วนในแง่ของ “เวลา สถานที่ ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ”

แมนเดอร์เชื่อว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่หลอกลวง เราคิดว่าเรามีความรู้มากขึ้น ทว่าแท้ที่จริงแล้ว เรากลับมีความรู้น้อยลง เพราะโทรทัศน์จำกัดขอบเขตแห่งความรู้ของมนุษย์ ลงท้าย บุคลิกภาพของมนุษย์จะกลายเป็นสิ่งที่ “สร้าง” ขึ้นมาจากพลังของโทรทัศน์ จนมนุษย์หลงทางเพราะห่างไกลจากตัวเองมากขึ้นทุกที

นอกจากนี้ แมนเดอร์ยังเชื่อด้วยว่า โดยธรรมชาติแท้ๆ ของมัน โทรทัศน์เป็นอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ทั้งนี้ เนื่องจากมีราคาแพงที่ธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้นจึงจะเป็นเจ้าของได้ สามารถถ่ายทอดข่าวสารได้อย่างจำกัด ประกอบกับความจริงง่ายๆ ที่ว่า โทรทัศน์เป็นสื่อแบบ “ทางเดียว” คนเพียงไม่กี่คนจึงจะเป็นผู้ถ่ายทอดข่าวสารไปสู่คนจำนวนมหาศาล จิตใจของมนุษย์จึงย่อมจะถูกตกแต่งเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ควบคุมโทรทัศน์

กับประเด็นใหญ่ๆ ที่ถูกยกขึ้นมาอภิปรายในหนังสือที่มีความยาวเกือบสี่ร้อยหน้าของเขานี้ แมนเดอร์มีรายละเอียดมาขยายความเพิ่มเติมอีกมากมาย อันล้วนแล้วแต่เป็นข้อสังเกตที่คมคายจากมุมมองของนักมนุษยนิยมผู้ต้องการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของ “ประสบการณ์โดยตรง” ของมนุษย์ เพื่อที่มนุษย์จะได้มีความสุขจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยไมถูกช่วงชิงไปโดยโทรทัศน์ทั้งสิ้น

ในตอนท้ายๆ ของหนังสือ แมนเดอร์ได้อธิบายว่าในระหว่างที่เขากำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาได้ค้นพบว่าบุคคลที่เขาพานพบในช่วงสามปีนั้น ล้วนถามไถ่เขากันทั้งนั้นว่า “คุณกำลังจะต่อสู้เพื่อให้มีการขจัดโทรทัศน์จริงๆ หรือ” ว่าแล้วก็เสริมว่า “เราเห็นด้วยจริงๆ แต่คุณคงไม่หวังที่จะประสบความสำเร็จดอกนะ” กับปฏิกริยาในทำนองนี้ แมนเดอร์ตั้งคำถามกลับว่า “ก็ผมจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรล่ะ เพราะแม้กระทั่งคนที่รังเกียจโทรทัศน์เองก็ยังเชื่อว่าการขจัดมันเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากอย่างยิ่ง”

ข้อที่น่าสังเกตเช่นกันก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของโทรทัศน์ยังคลาดเคลื่อนไปจากความจริงมาก ดังที่แมนเดอร์บรรยายเอาไว้ว่า “เราเชื่อกันว่าพวกเรากำลังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเพราะพวกเราได้มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนไปทำงานสาธารณะอยู่เป็นครั้งเป็นคราว กระนั้นก็ตาม การลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกวุฒิสมาชิกหรือประธานาธิบดี ดูจะมีความหมายน้อยนิดมากเมื่อเราพิจารณาว่าเราไม่มีอำนาจใดๆ ต่อประดิษฐกรรมต่างๆ ทางเทคโนโลยี ที่สามารถส่งผลกระทบต่อลักษณะการดำรงชีวิตของเราได้มากกว่าผู้นำคนใดคนหนึ่งสามารถกระทำได้ หากเราไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้ แนวความคิดใดๆ ว่าด้วยประชาธิปไคยก็ไม่มีความหมายอะไร แม้แต่การคิดที่จะขจัดเทคโนโลยี เราก็ไม่บังอาจคิดได้...ดังนั้น เราจึงถูกกักขังอยู่ในภาวะที่เฉื่อยชาและไร้สมรรถภาพ จนยากที่จะแยกออกจากการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการได้ สิ่งที่สับสนก็คือ นักเผด็จการของเรามิได้เป็นบุคคล ถึงแม้ว่าบุคคลจำนวนหยิบมือเดียวเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์และระดมเทคโนโลยีอันมหึมาเหล่านี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของตนเอง นักเผด็จการที่แท้จริงก็คือตัวเทคโนโลยีนั่นเอง”

ไม่ว่าใครจะเห็นว่านักเผด็จการในที่นี้จะเป็นมนุษย์หรือเทคโนโลยีก็ตาม นี่คือหนึ่งในบรรดาหนังสือในในสกุล “นักบุกเบิกขนานแท้และดั้งเดิม” ซึ่งสมาชิกทุกคนของศตวรรษที่ยี่สิบและยี่สิบเอ็ดควรจะเสาะหามาอ่านกันดู แม้จะไม่สามารถทำอะไรกับการเปลี่ยนแปลงโทรทัศน์ได้ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราสามารถดำรงอยู่กับโทรทัศน์อย่างมีอารมณ์ขันมากขึ้นกว่าเดิม.
กำลังโหลดความคิดเห็น