xs
xsm
sm
md
lg

ข้อคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ในช่วงนี้มีเสียงแสดงความคิดเห็นในทำนองให้ถวายพระราชอำนาจคืนบ้าง หรือกราบบังคมทูลขอรัฐบาลพระราชทานบ้าง

เสียงอย่างนี้เกิดขึ้นคงมาจากความรู้สึกอึดอัดทางการเมืองในปัจจุบัน!

แต่เสียงเหล่านั้นไม่ได้หยุดคิดพิจารณาว่าการระบายความอึดอัดทางการเมือง ด้วยการเสนอแนะว่าให้ถวายพระราชอำนาจคืนก็ดี หรือการกราบบังคมทูลขอรัฐบาลพระราชทานก็ดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่? และถ้าเกิดขึ้นจริงๆ แล้วจะบังเกิดผลอย่างที่คาดคิดหรือไม่?

หรือว่าเป็นเพียงการพูดกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการยั้งคิดเท่านั้นเอง?

อันที่จริงการพูดจาทำนองนี้ เป็นการแสดงความอาจเอื้อม ซึ่งเป็นการมิบังควร เพราะเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

นอกจากนี้ สมมติว่ามีความพยายามกันอย่างจริงจังที่จะถวายพระราชอำนาจคืน แน่ใจหรือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับ? ถ้าไม่ทรงรับแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป?

ใน "ผู้จัดการรายวัน" ฉบับวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน ศกนี้ ในคอลัมน์ "ถาม-ตอบ พายัพ วนาสุวรรณ" มีเรื่อง "ที่มาของวุฒิสภา"

ในการตอบปัญหาครั้งนี้ คุณพายัพ วนาสุวรรณ ได้รื้อฟื้นเหตุการณ์เรื่องหนึ่งในอดีต ซึ่งสะท้อนให้ได้เห็นถึงเรื่องที่ชอบพูดกันในระยะนี้ คือเรื่องถวายพระราชอำนาจคืน

ในคอลัมน์ดังกล่าว ได้มีผู้ใช้นามแฝงว่า "ไพร่ฟ้าสภาดิน" ได้เสนอความเห็นว่า ทางออกในปัญหาที่มาของวุฒิสภานั้นก็คือ ให้ถวายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงคัดสรร โดยทางกฎหมายก็คือให้ ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

คุณพายัพ วนาสุวรรณ ได้ตอบข้อเสนอแนะเรื่องนี้ โดยเล่าเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้นตามแนวคิดเช่นเดียวกันนี้มาแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสภานิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ได้มีบทบัญญัติว่า ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ตรงนี้ผมขอแทรกเล่าเพิ่มเติมว่า ในครั้งนั้นผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ด้วย จึงได้มีส่วนรู้เห็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นอย่างใกล้ชิด

การให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ก็ประสงค์จะถวายให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด ในการเลือกสรรผู้เหมาะสมเป็นสมาชิกวุฒิสภาอย่างเดียวกับความเห็นของคุณ "ไพร่ฟ้า สภาดิน" นั่นเอง

อย่าลืมว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2517 นั้นเป็นสภานิติบัญญัติที่มีต้นกำเนิดมาจากสมัชชาแห่งชาติ (สนามม้า) ซึ่งอุบัติขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งทำให้มีรัฐบาลพระราชทาน ซึ่งมีท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

อนึ่งมีข้อสังเกตด้วยว่า การให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาแล้ว

แต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ได้ประกาศใช้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังประทับอยู่ในต่างประเทศ ผู้ลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นคือ คณะอภิรัฐมนตรี ลงนามในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนามม้า) ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างแล้วเสร็จ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แต่ทรงมีพระราชกระแสผ่านราชเลขาธิการมารวม 3 ประการด้วยกัน

อันที่จริงคุณพายัพ วนาสุวรรณ ได้นำพระราชกระแสทั้ง 3 ข้อมาลงในคอลัมน์ของคุณพายัพที่กล่าวถึงอยู่แล้ว แต่ผมขออนุญาตนำพระราชกระแสเฉพาะข้อ 2 มาลงซ้ำในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

บันทึกพระราชกระแส ข้อ 2 มีความว่า "ตามมาตรา 107 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ทรงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งในมาตรา 16 เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเหมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา 17 ด้วย"

ฉะนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติในครั้งนั้น จึงต้องทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกระแส กล่าวคือ เปลี่ยนจากประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

กรณีนี้เป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่า เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนามม้า) ได้ถวายพระราชอำนาจให้ทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้ตามความเหมาะสม ก็ไม่ทรงรับ แต่กลับทรงมีพระราชกระแสว่า "ขัดกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย)"

ตรงนี้ต้องขอแทรกเล่าไว้ด้วยว่า ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ซึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้พิจารณาถึงเรื่องที่มาของวุฒิสภา เสียงส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่า ควรถวายให้เป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ติดขัดด้วยพระราชกระแส เมื่อปี 2517 ซึ่งทรงค้านแนวคิดในทำนองเดียวกันนี้ มาแล้วครั้งหนึ่ง

เรื่องที่คุณพายัพนำมาตอบชี้แจงในครั้งนี้ จึงน่าจะสะกิดใจให้ต้องหยุดคิดกันบ้าง!

หลายฝ่ายในยุคนี้คิดจะถวายพระราชอำนาจคืนเพื่อขจัดสภาวะอึดอัดทางการเมือง โดยถวายพระราชอำนาจให้เลิกล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เลิกรัฐสภา และล้มเลิกรัฐบาลปัจจุบันไปเสียเลยด้วย ทั้งยังถวายพระราชอำนาจให้ทรงแต่งตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

การถวายคืนพระราชอำนาจถึงขนาดนั้น ย่อมเป็นการ "พลิกแผ่นดิน" ล้มล้างหลักการปกครองประเทศ ซึ่งมีพระมหากษัติย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือการเมืองทีเดียว
จะเอากันถึงขนาดนั้นเทียวหรือ?

เมื่อสังเกตดูพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล้ว จะเห็นได้ว่าทรงระมัดระวังพระองค์อย่างเคร่งครัด ให้ทรงอยู่ในสถานะเหนือการเมืองตลอดมา

แม้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2515 ได้พระราชทานนายกรัฐมนตรี คือท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็จริง แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องจำเป็นรีบด่วน เพราะเป็นช่วงที่มีสุญญากาศทางการเมือง ขืนปล่อยไว้จะเกิดสภาวะวุ่นวายหนักยิ่งขึ้น จึงจำต้องพระราชทานตัวนายกรัฐมนตรี เพื่อให้บ้านเมืองได้มีขื่อมีแปเสียโดยเร็วเท่านั้นเอง

แต่เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกำเนิดมาจากสมัชชาแห่งชาติ (สนามม้า) ได้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถวายพระราชอำนาจเด็ดขาดในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ก็ทรงปฏิเสธไม่ยอมรับ ดังคุณพายัพ วนาสุวรรณได้ชี้ให้เห็นแล้ว!

มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลอานันท์ 2 ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตพฤษภาทมิฬ เมื่อ พ.ศ. 2535 นั้น ไม่ใช่รัฐบาลพระราชทาน แต่เป็นรัฐบาลตามครรลองของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคราวนั้น มีประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534

ฉะนั้นการจะระบายความอึดอัดทางการเมือง ด้วยการพูดจาเรื่องถวายพระราชอำนาจคืนก็ดี หรือขอพระราชทานรัฐบาลใหม่ก็ดี จึงเป็นเรื่องมิบังควร

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ใช่ปราศจากจุดอ่อน ตรงกันข้ามเมื่อได้ใช้รัฐธรรมนูญมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปีแล้ว ก็ปรากฏข้อบกพร่องในหลายประเด็น แต่ก็ควรจะพูดจาให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรอบคอบ จนเกิดเป็นกระแสแรงพอที่จะดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 12 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

ไม่ใช่พอหมดความอดกลั้นหรือเบื่อหน่ายในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็เสนอแบบรวบรัด ให้ถวายพระราชอำนาจคืน แล้วตั้งต้นร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ยากที่จะเป็นจริงขึ้นมาได้!

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ที่มีเสียงวิจารณ์ประเด็นต่างในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วประเด็นดังกล่าวเหล่านั้น ได้เคยผ่านการใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มาแล้ว แต่มีผลเสียจึงต้องเป็นอย่างในสภาพปัจจุบัน

อย่างเรื่องบังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรค มีเสียงวิจารณ์ โดยยกกรณี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไม่ยอมลงสมัคร ส.ส.เพราะรัฐธรรมนูญ 2517 บังคับให้สังกัดพรรคเป็นตัวอย่าง

แต่แท้ที่จริงรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 ได้ให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคมาครั้งหนึ่งแล้ว ปรากฏว่า ส.ส.ที่สมัครอิสระเหล่านั้น ได้สร้างความปั่นป่วนในสภา จนรัฐบาลสมัยนั้นที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีทนไม่ได้ต้องทำรัฐประหารปฏิวัติตนเอง ฉะนั้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 จึงต้องให้ส.ส.สังกัดพรรค และใช้ระบบนี้เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

แน่ใจหรือว่านักการเมืองทั่วไป จะมีคุณธรรมระดับเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถ้านักการเมืองธรรมดาๆ เป็นอย่าง ส.ส.สมัครอิสระ ในสมัยรัฐธรรมนูญ 2511 อีกแล้วจะทำอย่างไร? เวียนกลับมาใช้วิธีการให้สมัครในนามพรรคอีกรอบอย่างนั้นหรือ?

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แต่แท้ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 ฉบับ พ.ศ. 2521 และฉบับพ.ศ. 2534 ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ครั้งนั้นเราก็พูดกันว่า การเปิดโอกาสเช่นนั้นเป็นเพราะระบอบเผด็จการทหารบ้าง! เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง!

แต่มาบัดนี้เราพร้อมจะหมุนเข็มนาฬิกากลับ ไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีกแล้วหรือ?

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าทักท้วงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ เมืองไทยมีนักร่างรัฐธรรมนูญอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแล้ว! ไปห้ามกันไม่ได้หรอก!

เพียงแต่เตือนว่า อย่าพูดกันง่ายๆ อย่างเช่น ถวายพระราชอำนาจคืน หรือกราบบังคมทูลขอรัฐบาลพระราชทาน หรือควรจะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นโน้นประเด็นนี้ แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เรื่องเหล่านั้น ล้วนเป็นเรื่องพายเรือวนเวียนอยู่ในอ่างเท่านั้นเอง!
กำลังโหลดความคิดเห็น