xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมจากการเมือง

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

เมื่อเห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดในวงการเมืองของเรา แล้วในระยะนี้แล้ว อดคิดถึงท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้

มีหลายคนที่บ่นถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นทำนองว่า ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ อย่างในตอนนี้ ก็อยากจะฟังว่าท่านจะเขียนจะพูด วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร

แต่สำหรับผมนั้น มีความผูกพันใกล้ชิดกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมถือว่าท่านเป็น "ครู" ไม่ใช่สอนผมแต่ในเรื่องของการเมืองเท่านั้น ท่านยังสอนให้ผมได้รู้หลักธรรมะต่างๆ ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ผมเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระยะนี้ แล้วอดคิดถึงหลักธรรมะที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยสอนไว้ไม่ได้!

เรื่องแรก เมื่อได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลเปรม 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2523 ผมได้ไปกราบขอพรและขอคำแนะนำจากท่าน ในการดำรงชีวิตที่กำลังก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก

ผมจำได้ว่าหลังจากท่านให้ศีลให้พรแล้ว ท่านยังได้สอนว่า อย่าได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองให้ผิดจากเดิม เคยปฏิบัติหรือประพฤติตนเองอย่างไร ก็ให้ทำตนเหมือนเดิม ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงเพราะได้เป็นรัฐมนตรีแล้วเป็นอันขาด!

ท่านอธิบายด้วยว่า เมื่อเราดำรงชีวิตเหมือนเดิม เราจะไม่ยึดติดในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เมื่อต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็จะได้ไม่กระทบกระเทือนความรู้สึกมากนัก

ผมยังจำคำพูดของท่านได้ ท่านพูดว่า "การเมืองก็มีขึ้นมีลง! เวลาขึ้น! ก็ต้องคิดถึงเวลาลงเผื่อเอาไว้บ้าง! ผมอยากให้อาจารย์เกษม ไปอ่านหนังสือนวโกวาท เรื่องโลกธรรม 8 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ท่านทรงเขียนไว้ดีมาก อาจารย์เกษมลองไปหาอ่านดู จะได้สอนใจตนเอง เตรียมเอาไว้! จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้ในคราวนี้นัก"

โลกธรรม 8 นั้นมี มีลาภ 1 ไม่มีลาภ 1 มียศ 1 ไม่มียศ 1 นินทา 1 สรรเสริญ 1 สุข 1 ทุกข์ 1

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ต่อท้ายธรรมะข้อนี้ไว้ว่า "ในโลกธรรม 8 ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ควรพิจารณาว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นแก่เรา ก็แต่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรรู้ตามที่เป็นจริง อย่าให้มันครอบงำจิตได้ คืออย่ายินดีในส่วนที่ปรารถนา อย่ายินร้ายในส่วนที่ไม่ปรารถนา"

เรื่องราวในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ต้องคิดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ในเรื่องที่ท่านเคยสอนถึงเรื่องโลกธรรม 8 ก็คือกรณีคุณรักเกียรติ สุขธนะ ซึ่งเคยเป็น ส.ส. และเป็นรัฐมนตรี แต่บัดนี้ต้องติดคุกตามคำพิพากษา ถึง 15 ปี

ชีวิตของคุณรักเกียรติ ตอนนี้อยู่ในวังวนของโลกธรรม 8 อย่างชัดเจนทีเดียว!

ผมรู้จักคุณรักเกียรติ เมื่อก้าวขึ้นมาบนเวทีการเมืองครั้งแรกในฐานะเป็น ส.ส.จากอุดรธานี ในสังกัดพรรคกิจสังคม ในสมัยที่ผมเป็นเลขาธิการพรรค

ผู้ที่ก้าวขึ้นมาในพรรคกิจสังคม ในฐานะเป็น ส.ส.สมัยแรก รุ่นราวคราวเดียวกัน เท่าที่ผมจำได้มี 3 คนด้วยกัน ใครจะก่อน ใครจะหลัง หรือพร้อมกัน ผมจำไม่ได้แล้ว

คนหนึ่งคุณรักเกียรติ จากอุดรธานี คนที่สองคือ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน จากสุโขทัย และคนที่สามคือคุณสุวิทย์ คุณกิตติ จากขอนแก่น

ทั้งสามคนนี้ ดำเนินการทางการเมืองตามรอยของคุณมนตรี พงษ์พานิช ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม

ส่วนตัวผม เมื่อพ.ศ. 2535 ได้เดินลงจากเวทีการเมือง โดยไม่เหลียวหลัง ไม่ได้หวนกลับไปหาการเมืองอีกเลย!

คุณรักเกียรติ และคุณสมศักดิ์ ได้รับความไว้วางใจจากคุณมนตรี ขนาดเป็นสานุศิษย์ก้นกุฏิทีเดียว! ส่วนคุณสุวิทย์ก็ไม่ได้น้อยหน้า! เมื่อสุขภาพคุณมนตรีเสื่อมโทรมจนเห็นจะไปไม่รอดแล้ว ก็ได้มอบหมายตำแหน่งหัวหน้าพรรคของกิจสังคมให้แก่คุณสุวิทย์ได้สืบต่อ!

บัดนี้คุณสมศักดิ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี คุณสุวิทย์ ซึ่งก็เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ส่วนคุณรักเกียรตินอนอยู่ในคุกอยู่ในตะราง!

เรียกว่ามองเห็นกฎของโลกธรรมได้อย่างชัดเจนทีเดียว!

เช้าวันหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 หรือ 2539 จำวันเดือนปีที่แน่นอนไม่ได้แล้ว ผมต้องเดินทางไปธุระส่วนตัวที่ภูเก็ต ไปนั่งรอขึ้นเครื่องที่ท่าอากาศยานในประเทศ

ขณะนั่งรออยู่นั้น ได้เห็นคุณรักเกียรติ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จะเป็นรัฐมนตรีช่วยหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดก็ไม่แน่ใจนัก

คุณรักเกียรติเดินเข้ามาอย่างผึ่งผาย มีบริวารตามหลังมาเป็นขบวนใหญ่ ตรงเข้าห้องพักวีไอพี คงมารอขึ้นเครื่องกลับอุดรธานี

คุณรักเกียรติมองไม่เห็นผม เพราะผมนั่งปะปนอยู่กับผู้โดยสารธรรมดา ผมจึงเป็นฝ่ายที่ได้นั่งชมวาสนาบารมีของคุณรักเกียรติในเช้าวันนั้นแต่ฝ่ายเดียว!

ผมจำได้แม่นยำว่าเช้าวันนั้นขณะที่มองเห็นคุณรักเกียรติและคณะอยู่นั้น ใจผมกลับหวนคิดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่สอนผม เรื่องโลกธรรม 8!

ขณะนั้นชีวิตคุณรักเกียรติกำลังเปี่ยมด้วยยศด้วยวาสนา แต่ผมเกิดความคิดในใจในครั้งนั้นว่า สิ่งเหล่านี้จะมั่นคงแน่นอนได้เพียงใด?

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเมื่อได้เห็นคุณรักเกียรติและบริวารเดินเข้ามาในท่าอากาศยานในประเทศในตอนเช้าวันนั้น ผมจึงเกิดความคิดเช่นนั้น ? จะเป็นลางสังหรณ์เสียกระมัง!

มาบัดนี้คุณรักเกียรติได้เสื่อมยศเสื่อมวาสนาหมดแล้ว! มีสถานะเป็นเพียงนักโทษอยู่ในคุก! ในที่สุดก็หนีกฎแห่งกรรมและเรื่องโลกธรรมไปไม่พ้น!

ผมจึงต้องคิดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้สอนผมถึงเรื่องโลกธรรม 8

มีอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในระยะนี้อีกเหมือนกัน คือกรณีการชกต่อยกันในที่ประชุมวุฒิสภาทำให้ผมอดคิดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้!

ผมขอเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เสียก่อน

หลังการเลือกตั้งปี 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคกิจสังคมเป็นฝ่ายค้าน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเช้าวันหนึ่ง ขณะที่อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ลุกขึ้นอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่นั้น ปรากฏว่ามี ส.ส.ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงด้วยเสียงตะโกน และข้อความของการอภิปรายประท้วงก็ก้าวร้าวรุนแรงอีกด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ ส.ส.ผู้ประท้วงคนนั้น ไม่ได้ให้เกียรติแก่ท่านเลย!

ในตอนนั้น ยังอยู่ในช่วงใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ซึ่งให้วุฒิสภาประชุมร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่พิจารณาเรื่องสำคัญ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เป็นการประชุมที่วุฒิสภามาประชุมร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ หันไปมอง ส.ส.ผู้ประท้วง แล้วท่านก็อภิปรายด้วยใบหน้ายิ้มๆ ว่า "ท่านประธานที่เคารพ! เมื่อมีท่านผู้มีเกียรติท่านหนึ่งประท้วงกระผมเช่นนี้ กระผมจึงขอยุติการอภิปรายของกระผมเพียงเท่านี้!" แล้วท่านก็นั่งลง

ที่ประชุมเงียบกริบ เพราะไม่ได้คาดฝัน แม้แต่ผู้ประท้วงเองที่ ยืนประท้วงค้างอยู่ ก็ได้แต่ครางด้วยความผิดหวัง ผ่านเครื่องขยายเสียงว่า "อ้าว! เอากันอย่างนี้เองหรือ!"

เมื่อเหตุการณ์นั้นได้ผ่านไปแล้ว ระหว่างพักการประชุมตอนเที่ยง ผมนั่งรถไปรับประทานอาหารกลางวันกับท่าน ท่านได้พูดให้ฟังว่า การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่การเมืองในระบบรัฐสภา ย่อมไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งรุนแรงจนไม่มีทางออก

เมื่อเราเห็นฝ่ายหนึ่งมาแรงเกินสมควรแล้ว! ก็ต้องหยุดกระแสความขัดแย้งลง! เพื่อเปิดทางให้คู่ต่อสู้ได้มีเวลายั้งคิด ถอยกลับไปในจุดที่ถูกที่ควรได้!

ท่านบอกว่า "อาจารย์เกษม! ทำอะไรในสภาต้องมีสติ มีสัมปชัญญะอยู่เสมอ ถ้าขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ เมื่อใด ก็พังได้ง่ายๆ เหมือนกันนะ!"

ฉะนั้นเมื่อเห็นภาพในจอโทรทัศน์ สมาชิกวุฒิสภาต่อยกัน ผมจึงอดคิดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้!

เมื่อภาพสมาชิกวุฒิสภาต่อยกันปรากฏบนจอโทรทัศน์ คนที่นั่งดูโทรทัศน์อยู่ด้วย ถึงกับออกปากว่า "เหมือนกับเด็กต่อยกัน!"

ในทางธรรมะ ท่านบอกว่า สติ คือความรำลึกได้ ส่วนสัมปชัญญะ คือความรู้ตัว รวมกันแล้วท่านเรียกว่าเป็น ธรรมที่อุปการะมาก

แสดงว่า สติและสัมปชัญญะ เป็นของคู่กัน เป็นธรรมะที่คอยประคองให้ทุกฝ่ายอยู่ในขอบเขตของความถูกต้องและความพอเหมาะพอควร!

กรณีเรื่องนี้ ไม่สามารถจะล่วงรู้ได้แน่นอนว่า ใครเป็นฝ่ายก่อ ใครเป็นฝ่ายสาน แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์ได้เกินเลยมาถึงขั้นนี้ได้!

อันที่จริงรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติห้ามมิให้สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็ยังอดแบ่งค่ายกันไม่ได้! ในที่สุดวุฒิสภาก็แบ่งเป็นพวก "เรา" และพวก "เขา" อยู่ดี! ยิ่งไปกว่านั้นความขัดแย้งในวุฒิสภาได้ก้าวไปสู่ความรุนแรง ไปไกลกว่าในสภาผู้แทนราษฎรด้วยซ้ำไป!

ในช่วงนี้เราสามารถเรียนรู้จากวงการเมือง ให้ได้เห็นความจริงได้อย่างชัดเจนในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ทั้งในเรื่องโลกธรรม 8 ประการก็ดี และในเรื่องเมื่ออยู่ในวงการเมืองต้องมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เสมอก็ดี ทั้งสองเรื่องล้วน เป็นหลักธรรมที่ทรงคุณค่าด้วยกันทั้งคู่
กำลังโหลดความคิดเห็น