xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของพม่า

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

พม่าเป็นประเทศเดียวในสมาคมอาเซียน ที่ยังมีการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งสามารถคุมอำนาจในพม่าไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ฉะนั้นทุกฝ่ายในโลกปัจจุบัน จึงต่างใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบีบบังคับหรือโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า เพื่อให้ประชาธิปไตยได้มีช่องทางที่จะอุบัติขึ้นมาได้ในพม่า

ทางโลกตะวันตก ใช้วิธีการ "บอยคอต" ปิดล้อมทางเศรษฐกิจ เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลทหารในพม่ายอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งรัฐบาลทหารควบคุมตัวอยู่

อีกด้านหนึ่งคือกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งรวมทั้งไทยเราด้วย ใช้วิธีการที่เรียกขานว่า "ความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์" กับพม่า เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลทหารพม่ายอมรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งปล่อยตัวนางซูจีด้วย

แต่พม่าก็ยังแสดงท่าทีนิ่งเฉย ไม่ยอมเคลื่อนไหวในทางที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเลย!
อันที่จริงโลกภายนอก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับพม่าอย่างไทย ก็ขาดความเข้าใจในลักษณะอันเป็นพื้นฐานสำคัญของฝ่ายทหารในพม่า!

เหตุการณ์ครั้งล่าสุดในพม่าเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่แล้ว มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีของพม่า พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในชั้นแรกกระแสข่าวบอกว่า เป็นการลาออกจากตำแหน่งไปเอง เพราะมีปัญหาสุขภาพ

ต่อมาก็มีข่าวว่ามีการจับกุมนายทหารฝ่ายข่าวกรองซึ่งเป็นลูกน้องของขิ่น ยุ้นต์ และได้มีข่าวกล่าวหาด้วยว่าขิ่น ยุ้นต์ พัวพันกับกรณีทุจริตด้วย และซ้ำร้ายตามข่าวยังบอกด้วยว่าตัวพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้าน

ขิ่น ยุ้นต์ เป็นผู้นำในรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งแสดงท่าทีว่า "เล่น" ด้วยกับความหวังของโลกภายนอกที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในพม่า

เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้ว พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ได้ประกาศ "โรดแมป" เป็นแผนเจ็ดขั้นตอน ที่จะนำพม่าไปสู่ประชาธิปไตย ประการแรกก็คือจัดให้มีการประชุมสภาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่าในการประชุมสภาแห่งชาติครั้งนั้น ขิ่นยุ้นต์ก็ไม่สามารถเอาตัวนางซูจี ออกมาร่วมประชุมด้วยได้

นั่นก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงบารมีและสถานะของขิ่นยุ้นต์เองตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว ว่าไม่สดใสและไม่มั่นคงเท่าใดเลย!

คราวนี้ตัวพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์เองก็โดนโค่นหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกกักบริเวณไว้ในบ้านเหมือนกัน! จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาเองอยู่ในสภาพอย่างไรกันแน่!

การที่ขิ่นยุ้นต์ต้องหลุดจากอำนาจในครั้งนี้ ยิ่งทำให้ชะตากรรมของนางอองซาน ซูจี ดูมืดมิดยิ่งขึ้น! ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่านางซูจี จะเป็นตายร้ายดีประการใด!

คนที่จงเกลียดจงชังนางอองซาน ซูจีเป็นอย่างยิ่ง คือ พล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย ซึ่งเป็นประธานสภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) คือเป็นผู้นำหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่านั่นเอง!
ตัน ฉ่วย เกลียดนางซูจี เพราะเป็นผู้หญิงพม่า แต่ไปมีสามีเป็นฝรั่งอังกฤษ

ตัน ฉ่วยเป็นคนขวาจัด เป็นชาตินิยมพม่าหัวรุนแรง เกลียดชังฝรั่ง เฉพาะอย่างยิ่งฝรั่ง อังกฤษ ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองพม่ามาก่อน เมื่อนางซูจีไปมีสามีเป็นฝรั่งอังกฤษ มีลูกกับฝรั่งถึงสองคน ตัน ฉ่วย จึงไม่ชอบหน้านางเป็นอย่างยิ่ง!

การที่นางอองซาน ซูจี มีสามีเป็นฝรั่งนั้น เป็นแผลเป็นใหญ่ในชีวิตของนางในสายตาของฝ่ายทหารพม่า! ทำให้ฝ่ายทหารพม่าพยายามกีดกั้นทุกทาง ไม่ยอมให้นางได้ก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองได้เลย!

ยิ่งโลกตะวันตกแสดงความห่วงใยนางซูจีมากขึ้นเท่าใด ถึงขนาดให้รางวัลโนเบลทางสันติภาพแก่นาง ยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงสตรีผู้นี้ในสายตาของฝ่ายทหารในพม่ามากขึ้นเท่านั้น

ทำให้ฝ่ายทหารในพม่ามองว่า พวกฝรั่งพยายามสนับสนุนนางซูจีให้มีบทบาททางการเมืองในพม่า เพราะนางมีสามีเป็นฝรั่ง! ย่อมมีความโน้มเอียงสนับสนุนนิยมฝรั่ง ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ฝรั่งกลับเข้ามาครอบงำพม่าได้สะดวกยิ่งขึ้น!

นี่คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลทหารพม่าขวางกระแสโลก! ไม่ยอมปล่อยให้นางอองซาน ซูจี ได้เป็นอิสระ ออกมาแสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่!

แม้แต่ตัวพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์เอง ก็คงมีความรู้สึกร่วมกับฝ่ายทหารในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน! ขิ่นยุ้นต์รู้ดีว่าว่าฝ่ายทหารไม่มีทางยอมให้นางซูจีขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้! แต่ขิ่น ยุ้นต์ เป็นฝ่ายที่ชอบเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับโลกภายนอกเท่านั้นเอง!

มีข่าวลือเรื่องหนึ่งมาจากเมืองพม่าว่า พล.ท.โซวิน ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนขิ่น ยุ้นต์ ในครั้งนี้ ได้เคยมีบทบาทสำคัญมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้

ตามข่าวบอกว่า พล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย เป็นผู้มอบหมายให้ พล.ท.โซวิน สร้างม็อบที่เข้ากลุ้มรุมทำร้ายขบวนเดินทางของนางอองซาน ซูจีเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

หลังจากนั้นนางซูจีก็ถูกฝ่ายทหารคุมตัวเรื่อยมาจนบัดนี้!

แต่เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใด ก็ไม่มีผู้ยืนยันได้ แต่ข่าวลือเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมปิดอย่างพม่า ที่ทำให้ข่าวลือเป็นเรื่องใกล้ความจริงได้เหมือนกัน

อนึ่งการที่โลกภายนอกพม่า พยายามเรียกร้องให้มีการ "ปลดปล่อย"ให้ประชาธิปไตยได้เจริญเติบโตในพม่า เป็นข้อเรียกร้องหรือความหวังที่ไม่มีทางเป็นจริงได้เลย! เพราะได้มองข้ามสภาพความจริงของพม่าประการสำคัญไป!

ฝ่ายทหารพม่าได้ครองอำนาจในพม่ามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 หรือ พ.ศ. 2505 ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลานาน ถึง 42 ปี

นายพลเนวินซึ่งยึดอำนาจขึ้นปกครองพม่านั้นเป็นคนรุ่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ฝ่ายทหารในพม่าสามารถสืบต่อครองอำนาจในพม่าได้เรื่อยมาจนทุกวันนี้

เมื่อ ค.ศ. 1988 หรือ พ.ศ. 2531 นายพลเนวิน ถูกกำจัดให้หลุดจากอำนาจก็โดยทหารอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถสืบเนื่องระบอบเผด็จการทหารในพม่าได้เรื่อยมาจนทุกวันนี้

เดิมพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ก็เป็นนายทหารหน้าห้องของเนวิน ได้รับความไว้วางใจให้คุมหน่วยข่าวกรองของฝ่ายทหารทั้งหมด ในที่สุดขิ่นยุ้นต์ก็ทรยศ ฉวยโอกาสที่คุมกำลังฝ่ายข่าวกรอง ได้เข้าร่วมกับพล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย ยึดอำนาจและขับไล่เนวินให้ตกจากอำนาจไป

ถึงอย่างไรก็ตามฝ่ายทหารในพม่าสามารถยึดครองอำนาจในพม่าติดต่อมาเป็นเวลาร่วม 42 ปีแล้ว นานที่สุดในบรรดาระบบรัฐบาลทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทีเดียว

นานกว่าระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารในเมืองไทย และนานกว่ารัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โตในอินโดนีเซียเสียอีก

ในช่วงเวลาที่ครองอำนาจได้ยาวนานเช่นนี้ ฝ่ายทหารในพม่าได้กลายเป็นชนชั้นปกครองที่มีอภิสิทธิ์อย่างแท้จริง!

ฝ่ายทหารได้ กลายเป็นชนชั้นปกครองผู้มีอภิสิทธิ์ ที่เข้ามาสวมบทบาทแทนชนชั้นปกครองในระบอบอาณานิคมของฝรั่ง ฝ่ายทหารทั้งหมดทุกระดับชั้น ได้ถูกเอื้ออำนวยให้อยู่ในสถานะเหนือชาวบ้านธรรมดาในพม่า ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งชนพื้นเมืองในระบอบอาณานิคมนั่นเอง

ฝ่ายทหารในพม่าตลอดจนครอบครัว ล้วนมีสิทธิพิเศษต่างๆ ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล หรือสถานศึกษาที่เล่าเรียนของบุตรหลาน แม้แต่ร้านขายข้าวของ หรือภัตตาคาร ก็ล้วนจัดเป็นพิเศษโดยเฉพาะแก่ฝ่ายทหารและครอบครัวตามลำดับชั้นทั้งนั้น

กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะให้แก่ฝ่ายทหารและครอบครัวในระดับต่างๆ กันเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายทหารทั้งหมดในพม่ามีความสำนึกร่วมกันว่า พวกตนเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นชนชั้นปกครอง อยู่เหนือชนพื้นเมืองซึ่งเป็นชาวบ้านในพม่าด้วย!

แล้ว "โรดแมป" จะสามารถเนรมิตประชาธิปไตยขึ้นมาได้อย่างไร? จะให้ฝ่ายทหารในพม่ายอมคืนหรือลดอำนาจและสถานะอภิสิทธิ์ต่างๆ ทั้งหมดได้เทียวหรือ?

ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความสำนึกของบรรดาผู้นำฝ่ายทหาร อย่าง พล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย ประมุขของระบอบรัฐบาลทหารพม่า หรือ พล.อ.หม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบก หรือพล.ท.โซ วิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือ พล.ท.เต็ง เส่ง ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการคนที่หนึ่งของ SPDC เท่านั้น

แต่เป็นกระแสความสำนึกร่วมกันของฝ่ายทหารในพม่าทั้งหมดทุกระดับ ที่ไม่ยอมรับแนวคิดที่จะสร้างประชาธิปไตยในพม่า เพราะเป็นการสูญเสียสถานะอันเป็นอภิสิทธิ์ของฝ่ายทหารทุกระดับในพม่าทีเดียว

เมื่อฝ่ายทหารในพม่าได้ครองอำนาจมานานกว่า 40 กว่าปี จึงสามารถทำลายกลุ่มต่างๆ ของภาคประชาสังคมหรือ civil society ไปได้ทั้งหมด ไม่มีกลุ่มอื่นใดในพม่า ที่พอจะเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยได้เลย

มีแต่นางอองซาน ซูจีคนเดียวที่ยืนผงาด ต้านกระแสอำนาจนิยมของฝ่ายทหาร แต่ตัวนางก็มีแผลเป็น คือที่มีสามีเป็นฝรั่ง อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

คราวนี้หันมาพิจารณาความพยายามของฝ่ายตะวันตกที่จะปิดล้อมพม่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีเค้าว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

พม่ายังไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวอย่างที่ฝ่ายตะวันตกมุ่งหวัง นอกจากมีกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังยึดถือนโยบายความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับพม่าแล้ว พม่ายังมีเพื่อนบ้านทางเหนือและทางตะวันตก คือ จีน และอินเดีย ซึ่งต่างต้องแข่งกันเพื่อช่วงชิงมิให้พม่าถูกครอบงำโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

จีนก็ต้องการพม่าเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ส่วนอินเดียจะนั่งดูดายให้จีนรุกอยู่ฝ่ายเดียวก็คงดูกระไรอยู่!

หลังจากโค่นขิ่น ยุ้นต์ ได้ไม่กี่วัน ตัน ฉ่วย ประมุขแท้จริงของรัฐบาลทหารพม่า ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเป็นทางการ ความเคลื่อนไหวในด้านการต่างประเทศของ ตัน ฉ่วยครั้งนี้จะสร้าง ปฏิกิริยาจากทางจีนอย่างใด จะต้องเฝ้าดูกันต่อไปอีกเหมือนกัน

เรื่องเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า เรื่องพม่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิดกันหรอก!
กำลังโหลดความคิดเห็น