xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองควรเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) ดาราฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ย้ายจากสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลไปสู่สโมสรฟุตบอลรีลแมดริดแห่งสเปน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการย้ายสโมสรครั้งนี้ล้วนมีความสุขความพอใจ

ไมเคิล โอเวน พอใจที่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างและผลตอบแทนอื่นๆ เพิ่มขึ้น

สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพอใจที่มีรายได้จากการขายโอเวนอันนำไปใช้ปรับปรุงทีมได้ มิฉะนั้นหากปล่อยให้เนิ่นนานออกไปจนสัญญาการจ้างโอเวนสิ้นอายุ สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจะมิได้รับรายได้ใดๆ จากการที่โอเวนย้ายออกจากลิเวอร์พูลเลย

สโมสรฟุตบอลรีลแมดริดพอใจที่ได้โอเวนมาเสริมศักยภาพในการแข่งขันของทีม แม้ว่าการซื้อโอเวนจะมีสภาวะความเสี่ยงที่โอเวนจะไม่สามารถทำประตูได้มากดังที่คาดหวัง หรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรงในอนาคตก็ตาม แต่รีลแมดริดต้องประเมินว่าคุ้มกับความเสี่ยง จึงตัดสินใจซื้อโอเวนดังที่ปรากฏ

บัดนี้ โอเวนกลายเป็น "สินทรัพย์" ของรีลแมดริดมูลค่าตลาดของโอเวน จะปรากฏในบัญชีสโมสรฟุตบอลรีลแมดริดในข้างสินทรัพย์ ในขณะเดียวกัน "สินทรัพย์" ของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลต้องลดลง อันเนื่องจากการที่โอเวนย้ายออกจากลิเวอร์พูล

สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลมิได้กล่าวหาสโมสรฟุตบอลรีลแมดริดว่า แอบมา ดูด นักฟุตบอลของตน เพราะการซื้อขายกระทำผ่านกลไกตลาด และบรรลุข้อตกลงเมื่อทั้งสามฝ่าย อันประกอบด้วยตัวนักฟุตบอล สโมสรต้นสังกัด และสโมสรผู้ซื้อ มีความพอใจร่วมกัน

การย้ายสโมสรของนักฟุตบอลอาชีพเป็นพฤติกรรมปกติ การย้ายพรรคของนักการเมืองก็เป็นพฤติกรรมปกติ แต่เสียงประณามนักการเมืองที่ย้ายพรรคดังขรม ในขณะที่เสียงประณามนักฟุตบอลที่ย้ายสโมสรกลับบางเบา แฟนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลไม่พอใจที่สโมสรขายไมเคิล โอเวน แต่ถ้าอันดับของสโมสรใน Premier League ดีขึ้น ความไม่พอใจอาจดับสูญไปได้ แฟนบางกลุ่มอาจไม่พอใจที่โอเวนเห็นแก่เงิน ทั้งๆ ที่โอเวนเติบโตจากการสร้างของลิเวอร์พูล ทุกวันนี้เมื่ออาร์เซนัลต้องไปแข่งในสนาม White Hart Lane โซล แคมป์เบล จะถูกแฟนสโมสรท็อตแนม ฮอต สเปอร์โห่เสมอ ในฐานที่ไม่ภักดีและทรยศต่อสโมสร

ตลาดนักการเมืองเหมือนกับตลาดนักฟุตบอลในข้อที่เป็นตลาดแรงงาน ต่างกันเฉพาะพัฒนาการของตลาดเท่านั้น โดยที่ตลาดนักฟุตบอล "พัฒนา" ไปไกลกว่าตลาดนักการเมืองหลายช่วงก้าว

ตลาดนักฟุตบอลเป็นตลาดค่อนข้างเปิด อย่างน้อยที่สุด มีการซื้อขายนักฟุตบอลอย่างเปิดเผย ตลาดนักฟุตบอล "ก้าวหน้า" ไปถึงกับมีธุรกิจนายหน้าซื้อขายนักฟุตบอล นักฟุตบอลอาชีพระดับดาราล้วนต้องใช้บริการธุรกิจประเภทนี้ กติกาการซื้อขายนักฟุตบอลค่อนข้างชัดเจนและโปร่งใส การว่าจ้างนักฟุตบอลอาชีพเป็นการว่าจ้างโดยมีการทำสัญญา (Contract Employment) สัญญาการว่าจ้างนักฟุตบอลจะระบุพันธะของแต่ละฝ่าย และกำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการละเมิดสัญญาอย่างชัดเจน เงินเดือนค่าจ้างและผลตอบแทนอื่น รวมตลอดจนสวัสดิการที่นักฟุตบอลได้รับล้วนต้องระบุในสัญญา นักฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ของสโมสรจวบจนสัญญาสิ้นอายุ

ตลาดนักการเมืองมิได้ "ก้าวหน้า" เท่าตลาดนักฟุตบอล แม้พลังทุนนิยมจะเติบใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตก แต่ลักษณะทุนนิยมของตลาดนักการเมืองมีน้อยกว่าตลาดนักฟุตบอล ส่วนสำคัญเป็นเพราะการเมืองในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งอุดมการณ์ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Partisan Politics โดยชัดเจน การย้ายพรรคจึงเกิดขึ้นน้อยมาก หากมีความขัดแย้งในหมู่ผู้นำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ภายในพรรค หากการต่อสู้ถึงขั้นแตกหัก อาจต้องมีการแยกพรรค

ด้วยเหตุที่การย้ายพรรคของนักการเมืองมีน้อย ธุรกิจนายหน้าซื้อขายนักการเมืองไม่ก่อเกิด การสังกัดพรรคเป็นไปโดยสมัครใจและด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำสัญญาการจ้างงาน นักการเมืองในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกยึดติดกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดเพียงพรรคเดียว จวบจนสิ้นอายุขัยทางการเมือง

พรรคการเมืองในเมืองไทยมิได้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน และมิได้มีเมนูนโยบายที่แตกต่างกันในขั้นรากฐานเสนอขายแก่ประชาชน บางพรรคไม่มีเมนูนโยบายเลย การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองมิได้แตกต่างจากการรวมกลุ่มการเมืองที่หวังประโยชน์จากธุรกิจการเมือง

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นักการเมืองย่อมมิอาจย้ายพรรคได้ หากไม่มีพรรคการเมืองที่ต้องการซื้อ การซื้อขายนักการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผู้เสนอขาย (นักการเมือง) กับผู้เสนอซื้อ (พรรคการเมือง) โดยที่ราคาที่ซื้อขายขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของทั้งสองฝ่าย

การซื้อขายนักการเมืองเริ่มปรากฏในสังคมการเมืองไทยในยุคที่กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยเรืองอำนาจ เมื่อกลุ่มขุนศึกจำเป็นต้องเล่นเกมการเลือกตั้ง และต้องจัดตั้งพรรคการเมือง การดูดนักการเมืองด้วยสิ่งจูงใจต่างๆ จึงเกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยพรรคเสรีมนังคศิลาในปี 2500 พรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคสหประชาไทยของกลุ่มถนอม-ประภาส และพรรคสามัคคีธรรมของคณะรสช. ในการเลือกตั้งปี 2535

ในยุคสมัยที่กลุ่มยียาธิปไตยเรืองอำนาจ การดูดนักการเมืองโดยจ่ายค่าตัวเป็นตัวเงินและ/หรือตำแหน่งทางการเมืองยังดำเนินสืบต่อมา บางพรรคเมื่อสิ้นสายป่าน นักการเมืองในสังกัดพากันหน่ายหนี ดังเช่นพรรคปวงชนชาวไทยของพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และพรรคความหวังใหม่ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคที่มีแรงดูดนักการเมืองสูงย่อมต้องเป็นพรรคที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้ พรรคการเมืองที่มีแรงดูดเหล่านี้ล้วนเคยมีประวัติการซื้อนักการเมืองทั้งสิ้น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

การย้ายพรรค หรืออีกนัยหนึ่งการซื้อนักการเมือง กลายเป็นวัตรปฏิบัติเมื่อใกล้ฤดูการเลือกตั้ง พรรคที่สูญเสียนักการเมืองมักจะก่นประณามพรรคผู้ซื้อ และนักการเมืองที่ย้ายพรรคมักถูกก่นประณามว่าขายตัวและไม่มีอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ทุกพรรคมีอุดมการณ์ร่วมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการยึดกุมอำนาจรัฐ แม้พรรคที่ยึดกุมอำนาจรัฐได้จะมีแรงดูดนักการเมืองมากกว่าพรรคอื่นๆ และการย้ายพรรคส่วนใหญ่มุ่งสู่พรรคประเภทนี้ แต่การย้ายไปสู่พรรคที่มีชะตากรรมเป็นพรรคฝ่ายค้านปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง

สัญญาการซื้อขายนักการเมืองเป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete Contract) นอกจากไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมิได้ระบุพันธะที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องปฏิบัติ ในประการสำคัญมิได้ระบุบทลงโทษหรือเงินชดเชยความเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาในยามที่มีการละเมิดสัญญา ในยามที่พรรคผู้ซื้อ "เบี้ยว" สัญญา นักการเมืองผู้ย้ายพรรคมิอาจเรียกร้องเงินชดเชยได้ เพราะเกรงการลงประชาทัณฑ์จากประชาสังคมที่พร้อมจะแสดงอาการสมน้ำหน้า ในอีกด้านหนึ่ง พรรคผู้ซื้ออาจเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ หากนักการเมืองที่ซื้อมาแพ้การเลือกตั้ง หรือเมื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ลงมติสนับสนุนนโยบายและกฎหมายของพรรคในรัฐสภา หรือตีจากพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยที่พรรคมิอาจเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายได้

สัญญาการซื้อขายนักฟุตบอลมีลักษณะตรงกันข้ามกับการซื้อขายนักการเมือง เพราะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ (Complete Contract) นอกจากจะเป็นสัญญาที่มีลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังระบุพันธะที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติและระบุบทลงโทษหรือเงินชดเชยความเสียหายที่ต้องจ่ายในยามที่มีการละเมิดสัญญาอย่างชัดเจนอีกด้วย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค เพราะมีมิจฉาทิฐิว่า ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคสามารถลอยตัวเพื่อขายตัวได้ บัดนี้ กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคมิอาจป้องปรามการขายตัวหรือการซื้อขายนักการเมืองได้ ความเชื่อที่ว่า การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคจะเกื้อกูลการพัฒนาการเมืองระบบพรรค นับเป็นมิจฉาทิฐิโดยแท้ การเมืองระบบพรรคมิอาจพัฒนาได้เพียงด้วยการกำหนดกฎกติกาในรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจะมีอุดมการณ์หรือไม่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการเมือง ซึ่งต้องอาศัยเวลายาวนานในการพัฒนา รัฐธรรมนูญมิอาจ "สั่ง" ให้พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ได้

ในเมื่อการย้ายพรรค และการซื้อขายนักการเมืองเป็นพฤติกรรมที่อยู่คู่สังคมการเมืองไทยอีกตราบนานเท่านาน สมควรที่จะเพ่งพินิจการปฏิรูปตลาดนักการเมือง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปการเมืองด้วย

จุดประสงค์หลักของการปฏิรูปตลาดนักการเมืองอยู่ที่การเปลี่ยนสัญญาการซื้อขายนักการเมืองให้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ ยุทธวิธีอยู่ที่การแปลงนักการเมืองให้เป็นสินทรัพย์ (Assetization) พรรคการเมืองต้นสังกัดเป็นเจ้าของนักการเมือง นักการเมืองจะเป็นสินทรัพย์ของพรรคการเมืองก็ต่อเมื่อมีสัญญาการจ้างงานที่ชัดแจ้ง (Explicit Contract) พรรคการเมืองต้องจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ แก่นักการเมืองในสังกัดตามแต่จะตกลง ในขณะเดียวกัน นักการเมืองได้ประโยชน์จากทุนยี่ห้อและฐานการเมืองของพรรคต้นสังกัด การย้ายพรรคนอกจากจะมีข้อตกลงระหว่างนักการเมืองกับพรรคที่ต้องการซื้อแล้ว ยังต้องมีข้อตกลงระหว่างพรรคเจ้าของนักการเมืองกับพรรคที่ต้องการซื้อด้วย ข้อตกลงทั้งปวงต้องเป็นสัญญาที่ชัดแจ้ง ด้วยวิธีการเช่นนี้ สัญญาการซื้อขายนักการเมืองจะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ เพราะมีการระบุพันธะของคู่สัญญาและบทลงโทษหรือเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสัญญาโดยชัดแจ้ง

การแปลงนักการเมืองให้เป็นสินทรัพย์พรรคการเมืองช่วยให้การจัดสรรมูลค่าเพิ่มทางการเมืองมีความเป็นธรรมมากขึ้น ในระบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มูลค่าเพิ่มแบ่งปันกันระหว่างพรรคผู้ซื้อกับนักการเมืองผู้ย้ายพรรค พรรคต้นสังกัดเดิมหาได้ประโยชน์ใดๆ ไม่ ทั้งๆ ที่นักการเมืองผู้นั้นมีมูลค่าเพิ่มทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากการใช้ทุนยี่ห้อของพรรคต้นสังกัดเดิม โดยที่บางคนเป็น "เด็กสร้าง" ของพรรคต้นสังกัดเดิมด้วยซ้ำ แต่กลับถูกพรรคการเมืองที่มีอำนาจซื้อฉกตัวไป โดยที่มิได้รับผลตอบแทน ภายใต้ระบบใหม่ที่แปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์ พรรคที่เป็นเจ้าของนักการเมืองได้รับส่วนแบ่งมูลค่าเพิ่มทางการเมืองอันเกิดจากการย้ายพรรคของนักการเมืองในสังกัดด้วย

ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการแปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์พรรคการเมือง ก็คือ การซื้อขายนักการเมืองจะเป็นไปโดยโปร่งใส และการบัญชีพรรคการเมืองต้องเผชิญกับการตรวจสอบมากกว่าเดิม ในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประชาสังคมมิอาจทราบได้ว่า พรรคการเมืองซื้อนักการเมืองในราคาเท่าไร ในประการสำคัญ มิอาจทราบได้ว่า นำเงินจากแหล่งใดไปใช้ซื้อนักการเมือง เป็นเงินจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ เมื่อนักการเมืองกลายเป็นสินทรัพย์พรรคการเมือง พรรคจักต้องลงรายการสินทรัพย์ให้ถูกต้อง เมื่อมีการลงรายการสินทรัพย์ในงบดุล ก็ต้องมีการลงรายการรายจ่ายในการซื้อสินทรัพย์ (นักการเมือง) ในงบการเงินให้สอดรับกันด้วย

ข้อมูลการซื้อขายนักการเมืองที่ปรากฏในงบดุลและงบการเงินของพรรคการเมือง จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการตัดสินใจว่าสมควรเลือกนักการเมืองที่มีการย้ายพรรคด้วยความถี่สูงหรือไม่

ข้อคัดค้านประการเดียวที่มีต่อข้อเสนอข้างต้นนี้ ก็คือการแปลงนักการเมืองเป็นสินทรัพย์มีผลเท่ากับการแปลงนักการเมืองให้เป็นสินค้า สังคมการเมืองในอุดมคติมิควรส่งเสริมให้นักการเมืองเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาด ข้อโต้แย้งข้อคัดค้านดังกล่าวนี้มีอยู่ว่า นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา นักการเมืองทำตัวเป็นสินค้าโดยสมัครใจ และนับวันลักษณะความเป็นสินค้าของนักการเมืองมีแต่จะมากขึ้น โดยมิอาจสกัดกั้นได้ ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ สมควรที่จะพิจารณา "พัฒนา" ตลาดนักการเมืองเพื่อให้กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ตลาดนักการเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น แทนที่จะเป็นตลาดที่มีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ (Quasi-Market) ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น