xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณรัฐประชาชนจีนกับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (ตอนที่สอง)

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ระบบเศรษฐกิจจีนในสายตานานาประเทศ

สาธารณรัฐประชาชนจีนยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจที่มิใช่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (NME) ดังความปรากฏอย่างเด่นชัดในมาตรา 15 ของพิธีสารเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO Protocol on Accession) กระนั้นก็ตาม ภาคีองค์การการค้าโลกปฏิบัติต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติของรัฐบาลประเทศคู่ค้าสำคัญ อันประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และเกาหลีใต้

สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลด้านการนำเข้า อันได้แก่ Import Administration ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ถือว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น NME ในยามที่มีข้อกล่าวหาว่าด้วยการทุ่มตลาดและการให้เงินอุดหนุนกระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐอเมริกา จะไม่รับข้อมูลจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในกระบวนการไต่สวน หากแต่จะแสวงหาข้อมูลจาก Surrogate Country เพื่อกำหนดต้นทุนการผลิตและมูลค่าปกติ (Normal Value) ของสินค้าที่ถูกกล่าวหาในทางปฏิบัติ กระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐอเมริกามีการศึกษาวิจัยเศรษฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน และใช้ Regression Analysis ในการคำนวณอัตราค่าจ้างในประเทศต่างๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศที่มิได้มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาตีความกฎกติกา GATT/WTO และปฏิบัติต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนตามการตีความดังกล่าวนี้อย่างเข้มงวด สหภาพยุโรปปฏิบัติต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างผ่อนปรน มติคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป Commission Decision No. 435/2001/ECSC เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 ยอมรับการประเมินสถานะระบบเศรษฐกิจเป็นรายภาคเศรษฐกิจหรือรายอุตสาหกรรม หากบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติการทุ่มตลาด อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ และรัฐบาลมิได้เข้าไปเกื้อหนุนไม่ว่าจะประการใด บริษัทดังกล่าวจะถือว่าอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด สหภาพยุโรปยังมิอาจยอมรับว่า ระบบเศรษฐกิจจีนโดยองค์รวมเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แต่พร้อมที่จะยอมรับว่า ภาคเศรษฐกิจบางภาคและอุตสาหกรรมบางประเภทเข้าข่ายระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

อินเดียยึดแนวทางผสมเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป กล่าวคือ อินเดียถือว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสถานะ NME การไต่สวนการทุ่มตลาด และการให้เงินอุดหนุนจะยึดถือข้อมูลจาก Surrogate Country แต่ถ้าหากบริษัทที่ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์โดยชัดแจ้งได้ว่า บริษัทดังกล่าวประกอบการในอุตสาหกรรมที่มีเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโดยพร้อมมูล การไต่สวนจะกระทำเสมือนหนึ่งว่า บริษัทดังกล่าวประกอบการในระบบเศรษฐกิจที่มี MES กล่าวคือ ไต่สวนหาข้อเท็จจริงจากบริษัทนั้นเอง

เกาหลีใต้ปฏิบัติต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนดุจเดียวกับอินเดีย เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เกาหลีใต้โน้มเอียงที่จะยอมรับข้อมูลจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในยามที่มีการไต่สวนการทุ่มตลาดและการให้เงินอุดหนุน ทั้งๆ ที่โดยนิตินัยสาธารณรัฐประชาชนจีนยังถือเป็น NME

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า แม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสถานะ NME ตามข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก แต่การปฏิบัติที่นานาประเทศมีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนแตกต่างไปตามพื้นฐานแห่งสัมพันธภาพ ซึ่งมีตั้งแต่การปฏิบัติชนิดเอาเป็นเอาตาย ดังเช่นสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการปฏิบัติที่ผ่อนปรนอย่างมาก ดังเช่นเกาหลีใต้

ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของประเทศที่มิได้ยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่มีการปฏิบัติที่ผ่อนปรนยิ่ง ภายใต้กฎหมายการตอบโต้การทุ่มตลาด สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกจัดไว้ในกลุ่ม "ระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่าน" (Economy in Transition : EIT) EIT เป็นระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากระบบที่มีการวางแผนจากส่วนกลางไปสู่ระบบตลาด แต่ยังมิใช่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มรูปภายใต้กฎหมายดังกล่าวนี้ หลักการ Surrogacy (การไต่สวนต้นทุนและราคาในประเทศที่สาม) ยังมีการบังคับใช้ แม้ในกรณีที่มีสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแล้ว ก็ยังอาจบังคับใช้หลักการ Surrogacy ด้วย หากไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ในประเทศที่ถูกกล่าวหา หรือประเทศหรือบริษัทที่ถูกกล่าวหาไม่ให้ความร่วมมือในการไต่สวนข้อเท็จจริง

ออสเตรเลียอยู่ในฐานะที่จะบังคับใช้หลักการ Surrogacy กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเต็มที่ ในเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสถานะ EIT แต่ออสเตรเลียก็ปฏิบัติต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างผ่อนปรน การไต่สวนข้อหาการทุ่มตลาด ยึดถือข้อมูลในสาธารณรัฐประชาชนจีน หากปรากฏว่ารัฐบาลมิได้ควบคุมราคาหรือแทรกแซงอุตสาหกรรมนั้น หรือภาคเศรษฐกิจนั้น ต่อเมื่อไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ จึงหันไปใช้หลักการ Surrogacy

ในเดือนตุลาคม 2546 ออสเตรเลียและสาธารณรัฐประชาชนจีนลงนามในข้อตกลง Australia-China Trade and Economic Framework (TEF) ภายใต้ความตกลงนี้ ทั้งสองประเทศจะเริ่มเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ก็ต่อเมื่อออสเตรเลียยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดตามนิยามของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกายึดคำนิยาม "ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด" ตามบทบัญญัติของ US Tariff Act of 1930 กฎหมายฉบับนี้รู้จักกันในชื่อ Smoot-Hawley Tariff Act ตามชื่อสมาชิกรัฐสภาที่นำเสนอกฎหมายนี้ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่การขึ้นอากรขาเข้าเพื่อกีดกันการนำเข้า ซึ่งนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจำนวนมากเชื่อว่า มีส่วนสำคัญในการโหมการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศ อันนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในทศวรรษ 2470

ตาม Smoot-Hawley Tariff Act of 1930 ประเทศที่มีสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจักต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 6 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก การปริวรรตเงินตราต่างประเทศจักต้องมีขอบเขตกว้างขวางพอสมควร ซึ่งบางคนตีความว่า อัตราแลกเปลี่ยนต้องเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

ประการที่สอง อัตราค่าจ้างจักต้องขึ้นอยู่การต่อรองระหว่างฝ่ายบริหารธุรกิจกับผู้ใช้แรงงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อัตราค่าจ้างต้องเป็นไปตามกลไกตลาด

ประการที่สาม การประกอบธุรกิจร่วมทุน (Joint Venture) และการลงทุนจากต่างประเทศจักต้องเป็นไปได้

ประการที่สี่ รัฐบาลจักต้องไม่ผูกขาดความเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยการผลิตทั้งมวล

ประการที่ห้า รัฐบาลจักต้องไม่ควบคุมการจัดสรรทรัพยากร และจักต้องไม่แทรกแซงการตัดสินใจในการกำหนดราคาและปริมาณการผลิตของธุรกิจ

ประการที่หก เกณฑ์อื่นๆ ที่ Import Administration ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐอเมริกา เห็นว่าเหมาะสม เกณฑ์ข้อนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปล่อยผ่านหรือไม่ปล่อยผ่านสถานะ MES ในการประเมินสถานะของระบบเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2545 กระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐอเมริกาหยิบยกประเด็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมาเป็นเกณฑ์ โดยอ้างว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีผลกระทบต่อการทำงานของกลไกตลาด
ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดตามนิยามของสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปมีนิยามว่าด้วยระบบเศรษฐกิจแบบตลาด นิยามนี้ปรากฏใน EU Anti-Dumping Regulation มาตรา 2 (7) (C) ซึ่งกำหนดเกณฑ์สำคัญอย่างน้อย 5 เกณฑ์ กล่าวคือ
เกณฑ์ที่หนึ่ง การตัดสินใจอันเกี่ยวพันกับราคา ต้นทุน และปัจจัยการผลิต จักต้องสนองตอบต่อกลไกราคาและอุปสงค์ในตลาด โดยที่ไม่มีการแทรกแซงของรัฐอย่างสำคัญ

เกณฑ์ที่สอง หน่วยธุรกิจจักต้องมีการจัดทำบัญชีพื้นฐาน และมีการตรวจสอบบัญชีอย่างเป็นอิสระ

เกณฑ์ที่สาม ต้นทุนการผลิตและสถานะทางการเงินของหน่วยธุรกิจ จักต้องไม่ถูกบิดเบือนอย่างสำคัญ ดังเช่นที่ปรากฏในระบบเศรษฐกิจที่มิใช่ระบบตลาด

เกณฑ์ที่สี่ หน่วยธุรกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายล้มละลาย และกฎหมายทรัพย์สิน

เกณฑ์ที่ห้า การปริวรรตเงินตราต่างประเทศต้องยึดถืออัตราตลาด

การเมืองว่าด้วยสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

สาธารณรัฐประชาชนจีนโดนเล่นงานด้วยข้อหาการทุ่มตลาดครั้งแรกจากประชาคมยุโรปในปี 2522 เริ่มต้นด้วยการทุ่มตลาดขัณฑสกร จวบจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2547 สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกเล่นงานด้วยข้อหาการทุ่มตลาดถึง 610 กระทง คิดเป็นมูลค่าการส่งออกถึง 10,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน

ด้วยเหตุที่สาธารณรัฐประชาชนจีนติดขัดด้วยสถานะระบบเศรษฐกิจที่มิใช่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก การแก้ข้อกล่าวหาการทุ่มตลาดจึงยากลำบาก และอยู่ในฐานะเสียเปรียบประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เพราะการไต่สวนต้นทุนการผลิตและมูลค่าสามัญ (Normal Value) ของสินค้าที่ถูกกล่าวหา มิได้กระทำในสาธารณรัฐประชาชนจีน หากแต่กระทำในประเทศที่สาม

การถูกลงโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่าในข้อหาการทุ่มตลาด ทำให้ผู้นำจีนเดินเครื่องร้องขอสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจากนานาประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปรากฏว่ามีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่ให้การรับรองเช่นนั้น (จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2547) อันได้แก่

(1) นิวซีแลนด์ (14 เมษายน 2547)

(2) สิงคโปร์ (14 พฤษภาคม 2547)

(3) มาเลเซีย (29 พฤษภาคม 2547)

(4) เกอร์กิสถาน (Kyrgyzstan) (16 มิถุนายน 2547)

(5) ไทย (21 มิถุนายน 2547)

สาธารณรัฐประชาชนจีนหวังที่จะได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมากกว่าประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นใด เพราะทั้งสองเป็นยักษ์ใหญ่ในสังคมเศรษฐกิจโลก ความหวังที่จะได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาดูริบหรี่ยิ่ง ผู้นำอเมริกันคนแล้วคนเล่ากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนยังต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอีกยาวไกล กว่าจะได้สถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด เพราะระบบเศรษฐกิจจีนยังมิได้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน US Tariff Act of 1930 ในการพิจารณาสถานะระบบเศรษฐกิจจีนในเดือนมิถุนายน 2547 สหรัฐอเมริกายังยืนกรานท่าทีเดิม การที่อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนและอัตราค่าจ้างแรงงานมิได้เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นข้ออ้างของสหรัฐอเมริกาในการไม่รับรองสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อผิดหวังจากสหรัฐอเมริกา หันไปทุ่มเทความหวังจากสหภาพยุโรป กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า สัมพันธภาพอันดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีกับสหภาพยุโรป เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา มิได้ช่วยให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสมหวัง

สาธารณรัฐประชาชนจีนยื่นคำร้องขอให้สหภาพยุโรปพิจารณารับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนมิถุนายน 2546 โดยยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาในเดือนกันยายน ศกเดียวกัน สหภาพยุโรปสรุปผลการประเมินเบื้องต้นในปลายเดือนมิถุนายน 2547 ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่เข้าข่ายระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แม้จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายด้านในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวในจำนวนเกณฑ์ 5 ข้อ รัฐบาลจีนยังคงแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป การบริหารจัดการวิสาหกิจยังขาดบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินและกฎหมายล้มละลายยังขาดความโปร่งใส และภาคเศรษฐกิจการเงินยังมิได้กำกับโดยกลไกตลาด

สาธารณรัฐประชาชนจีนจะยังต้องเรียกร้องสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น