xs
xsm
sm
md
lg

Philadelphia โฉมหน้ามนุษย์ของเอดส์ (1)

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ


เอดส์เป็นอะไรที่ใครๆ ให้ฉายาและคำอธิบายไว้มากมาย หมอเมือง (หมอยาพื้นบ้านภาคเหนือ) บอกว่า เอดส์เป็น “การแตกสลายของธาตุสี่” คนเคร่งศาสนาบอกว่าเอดส์จะเป็น “การลงโทษของพระเจ้า” คนเคร่งศีลธรรมเรียกเอดส์ว่า “โรคปราบเซียน” นักปรัชญาบอกว่าเอดส์มาจาก “ห้วงลึกของความไร้เหตุผล” (Abyss of Absurdity)

เอดส์ได้เปิดเผยธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ให้ประจักษ์ ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล อย่างที่เชื่อกันและนิยามกันตั้งแต่อริสโตเติล แต่ไร้เหตุผลจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไรถูก นึกว่าแข็งแกร่งทนทาน แต่เปราะบางแตกง่ายไร้ภูมิคุ้มกันยิ่งกว่าอะไร

ที่ว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immune Deficiency Syndrome) ไม่ได้บกพร่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่บกพร่องทางจิตวิญญาณและทางสังคม และรุนแรงยิ่งกว่าทางร่างกายมากนัก

ก็ไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อ HIV ทำให้คนเกลียดกลัวกันอะไรปานนั้น กลัวแบบขี้ขึ้นสมอง กลัวจนไม่ต้องการอยู่ใกล้ ไม่ต้องการสัมผัส ไม่ต้องการเกี่ยวข้องด้วย

และนี่คือสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา สร้างเอดส์ให้เป็นความน่าเกลียดน่ากลัว สร้างให้มันเป็นตราบาป สร้างให้มันเป็นความเลวร้าย เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของนาย ก. นาง ข. สร้างให้เป็นความแปลกแยกและแตกแยก ความสิ้นหวังและความตาย

ภาพเลวร้ายเหล่านี้ติดตรึงจิตใจผู้คนมาจนถึงวันนี้แบบลบเลือนยากยิ่ง คิดดูว่า เอดส์ถูกค้นพบที่สหรัฐอเมริการายแรกเมื่อปี 1981 (2524) ที่ประเทศไทยสามปีหลังจากนั้น (1984/2527) และระบาดอย่างรุนแรงห้าปีต่อมา (1989/2532) จนวันนี้ยังมีการรังเกียจ “เอดส์” กันไปทั่ว โดยเฉพาะในสังคมเมือง ขนาดในปี 2547 หรือ 20 ปีให้หลัง ยังมีโรงแรมใหญ่กลางกรุงเทพฯ แสดงออกถึงความรังเกียจผู้ติดเชื้อถึงขั้นจัดแยกให้พักอยู่ชั้นเดียวกัน แยกให้รับประทานอาหาร

สงสัยถ้ามีบ้านหรือตึกแยกต่างหากก็คงส่งไปประชุมไปพักไปอยู่กันที่นั่น เหมือนกับเกือบ 20 ปีก่อนที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนเสนอว่า ควรนำผู้ติดเชื้อเอชไอวีไปปล่อย ตัดขาดการติดต่อกับคนอื่น โรคจะได้ไม่ระบาด คิดอะไรง่ายปานนั้น

ความรู้สึกที่เลวร้ายเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เอดส์ระบาดหนักยิ่งขึ้น เพราะผู้ติดเชื้อไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง (เคยมีคนออกรายการทีวี กลับบ้านอยู่ไม่ได้ต้องย้ายบ้านหนี) คราวนี้จะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็นใคร ใครเป็นเอดส์ไม่เป็นเอดส์ การป้องกันจึงมีปัญหา การควบคุมจึงไม่ได้ผล และเป็นเหตุให้เอดส์ระบาดแบบระเบิดเถิดเทิง จากไม่กี่รายในประเทศไทยกลายเป็นล้าน จากไม่กี่หมื่นกี่แสนในโลก กลายเป็นหลายสิบล้าน จนเกือบ 50 ล้านแล้วกระมัง

ความตื่นตระหนก ความกลัวจนลนลานทำให้คิดและทำอะไรผิดพลาด รณรงค์กันไปทั่วทุกหัวระแหงว่า เอดส์เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นเอดส์แล้วตาย เอดส์กับความตายกลายเป็นเรื่องเดียวกัน และยิ่งกว่านั้น เอดส์ถูกตัดสินให้เป็นความผิดทางศีลธรรม เพราะโรคนี้ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของผู้เสพยาเสพติด

เอดส์กลายเป็นตราบาป เป็นโรคของคนบาป นอกจากรังเกียจแล้วยังกระหน่ำซ้ำเติมชี้นิ้วประณามหยามเหยียดคนติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นพวก “สำส่อนทางเพศ” “วิปริตทางเพศ” (เป็นเกย์) พวก “เลวไม่รักดี” (ติดยาเสพติด) “รนหาที่ตาย” “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา”

Philadelphia (1993) เป็นหนังฮอลลิวูดฟอร์มใหญ่เรื่องแรกที่แตะปัญหาโลกแตกนี้ และทำได้ดี มีส่วนอย่างสำคัญในการเยียวยาและ “ไถ่บาป” ความผิดพลาดที่สังคมได้ก่อ แม้ไม่อาจลบเลือน “ตราบาป” ได้ทั้งหมด แต่ก็ได้ผ่อนคลายสถานการณ์อันเลวร้ายลงได้บ้าง

เป็นเรื่องของทนายความหนุ่มชื่อ Andrew Beckett (Tom Hanks) ที่เรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ ทำงานในบริษัทกฎหมายยักษ์ใหญ่ เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอนาคตไกล เป็นที่ไว้วางใจของฝ่ายบริหารที่เริ่มมอบหมายงานใหญ่ให้ทำ

แต่อนาคตของเบคเค็ตดับวูบเมื่อฝ่ายบริหารพบว่าเขาติดเชื้อเอชไอวีและเป็นเกย์ เขาถูกให้ออกจากงานด้วยข้อหา “บกพร่องในหน้าที่” เบคเค็ตพยายามหาทางฟ้องบริษัทว่าไล่เขาออกเพราะรังเกียจที่เขาเป็นเกย์และติดเชื้อเอชไอวี แต่หาทนายที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะเรื่องอย่างนี้และสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างนี้แทบไม่มีโอกาสชนะเลย

สุดท้ายได้ทนายผิวดำชื่อ Joe Miller (Denzel Washington) ที่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่กระนั้นทนายมิลเลอร์ก็สะดุ้งเมื่อเบคเค็ตมาพบและบอกว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี และขอให้เป็นทนายให้ เขารีบปฏิเสธ แต่ก็ไม่วายไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเอดส์ทั้งจากแพทย์และจากห้องสมุด จนเข้าใจว่า เอดส์ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ อย่างที่เคยเข้าใจ ที่สุดเขายอมรับว่าความให้และต่อสู้จนชนะ

ทนายมิลเลอร์แสดงเป็นตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องเอดส์ เข้าใจเอดส์ผิดๆ แต่ค่อยๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนอคติต่อชาวเกย์และผู้ติดเชื้อได้ในท้ายที่สุด

ขณะเดินออกจากศาลกับแบคเต็ต เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ฟีลาเดลเฟียเป็นเมืองที่ใช้ประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (4 กรกฎาคม 1776) เขาเรียกร้องให้สาธารณชนเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้ติดเชื้อตามคำประกาศอันเป็นรากฐานรัฐธรรมนูญนั้น นี่คงเป็นที่มาของชื่อหนัง

มีฉากสู้คดีกันในศาลมากหน่อย ซึ่งก็เป็นประโยชน์สำหรับคนดูที่ได้เรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคเอดส์ ซึ่งเมื่อผสานกับเหตุการณ์ต่างๆ นอกศาล ทำให้ได้เห็น “โฉมหน้ามนุษย์” ของเอดส์ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้รับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความกดดัน ปัญหาในก้นบึ้งจิตใจของผู้คน

ภาพของทนายหนุ่มที่เคยมีอนาคตไกลไม่ต่างจากเทวดาตกสวรรค์ จากที่เคยใส่สูทมีสง่าราศีมาแต่งตัวแบบชาวบ้านๆ วิ่งหาทนายความอย่างโดดเดี่ยวสิ้นหวัง มิลเลอร์เป็นคนที่สิบที่เขาไปพบ

แต่ในความสิ้นหวังก็ยังเห็นคุณค่าและความงามของชีวิต ฉากที่มิลเลอร์และเบคเค็ตอยู่กันสองต่อสองเพื่อซ้อมถามตอบก่อนไปศาลในวันรุ่งขึ้นเป็นฉากที่ทำให้เห็นว่า เขาได้ยอมรับความตายโดยดุษณี แต่ก็ยังชื่นชมชีวิต เขาเปิดเพลงโอเปร่าร้องโดยมารีอา คัลลาส และดูดดื่มในสุนทรียรส เขาล่องลอยไปในอีกโลกหนึ่งที่อยู่เหนือความเจ็บปวดและความตาย

มิลเลอร์ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องดนตรีโอเปร่านั่งฟังและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น เขาเริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต เห็นว่าแม้ความตายอยู่ต่อหน้า คนเราก็ยังสามารถดื่มด่ำกับรสชาติของชีวิตได้ เขาเลิกความตั้งใจที่จะซักซ้อมคดี และกลับบ้านด้วยความรู้สึกรักชีวิต รักลูกรักเมียอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

เอดส์ได้ทำให้ผู้คนแบ่งแยก แตกแยก แปลกแยก และรังเกียจกัน แต่เอดส์ก็ทำให้ผู้คนรักกันและหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันมากกว่าเรื่องใดๆ

เอดส์ทำให้คนเป็นทุกข์ สิ้นหวัง แต่เอดส์ก็ทำให้หลายคนเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต อย่างพิมพ์ใจ ม่ายสาวชาวเชียงใหม่ที่บอกว่า “ขอบคุณที่เป็นเอดส์” เพราะเอดส์ทำให้เธอได้เข้าใจชีวิตและเห็นคุณค่าของชีวิตของตนเองและของคนอื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้เธอออกจากโลกเล็กๆ ไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นเอดส์เสียอีก

เอดส์ปิดกั้นผู้คนจากกัน แต่เอดส์ก็เปิดพรมแดนชีวิต พรมแดนสังคม ทำให้ผู้คนร่วมมือกัน ประสานงานกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในอาทิตย์สองอาทิตย์นี้ที่กรุงเทพฯ ที่ผู้คนหลายหมื่นคนจากทั่วโลกมาร่วมประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเอดส์ มาผนึกพลังหาทางแก้ไขปัญหา

เบคเค็ตโชคดีที่ได้ทนายที่เปลี่ยนใจมาช่วยเขา ได้ครอบครัวญาติมิตรที่อบอุ่นมาก โดยเฉพาะแม่ (Joanne Woodward) ที่รักลูกไม่เปลี่ยนแปลงและให้กำลังใจลูกตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้าย

ผู้ติดเชื้อและเป็นเอดส์ ส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีอย่างเบคเค็ต คนเหล่านี้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร พวกเขาตายไม่ใช่เพราะเอดส์ แต่ตายเพราะ “ไม่อยากอยู่” และ “อยู่ไม่ได้” เพราะเคยมีพ่อมีแม่ พอเป็นเอดส์ก็ไม่มีอีกต่อไป เคยมีพี่มีน้อง มีญาติสนิทมิตรสหาย พอเป็นเอดส์ก็หายหมด ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวในมุมมืดแห่งชีวิต อยู่อย่างโดดเดี่ยว อยู่แบบไม่สัมพันธ์กับใคร อยู่แบบคนไม่มีชื่อ (นิรนาม) แล้ว จะอยู่ได้อย่างไรและอยู่ไปทำไม (ไปคลีนิคยังต้องไป “คลีนิคนิรนาม” Anonymous Clinic !)

“ผมสู้มาตลอดชีวิต สรุปได้อย่างหนึ่งว่า คนเราจริงๆ แล้วไม่กลัวตายเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับความตายทุกรูปแบบอย่างในปัจจุบัน ผมว่าคนกลัวความโดดเดี่ยว ความเหงา การถูกทอดทิ้ง ถูกดูหมิ่นและถูกรังเกียจมากกว่า” (“ที่สุดของนักเลงบ้านทุ่ง – บันทึกของสันติ” จากหนังสือ บันทึกเพื่อนชีวิตใหม่ – บันทึกของผู้ติดเชื้อ)

ผู้ติดเชื้อหลายคนทำใจได้ ดูแลสุขภาพอายุยืนยาวกว่าสิบปี บางคนติดมาจะยี่สิบปีอยู่แล้ว ยังกินได้ นอนหลับ ทำงานได้ ขณะที่เพื่อนหรือคนรู้จักที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีตายไปแล้วหลายคน ตายเพราะมะเร็ง เบาหวาน ความดันและสารพัดโรค โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน

วันนี้สถานการณ์เอดส์เริ่มเปลี่ยนไป มียาต้านไวรัสที่ผู้ติดเชื้อเข้าถึงง่ายขึ้น ราคาถูกลง ยาต้านไวรัสทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดูภายนอกแทบจะไม่รู้ว่าใครติดเชื้อ เพราะนอกจากไม่เห็น “ริ้วรอย” ทางร่างกาย ก็เกิดมี “รอยยิ้ม” ปรากฏเปื้อนใบหน้ามากกว่าเดิม

เสียดายว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อดีขึ้น แต่ของสังคมดูจะยังบกพร่องเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น