xs
xsm
sm
md
lg

เพลงเพลินใจ (1)

เผยแพร่:   โดย: ต่อพงษ์ เศวตามร์

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับของถูกใจมากชิ้นหนึ่งจากคุณพี่ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล กรุณาส่งพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนามาให้อ่านกันเล่มหนึ่ง...

ที่ถูกใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเพลงคลาสสิกอีกแล้ว

ผมเคยพูดถึงหนังสือเพลงคลาสสิกที่เคยเขียนกันในเมืองไทยกันหลายเล่ม และได้แนะนำไปว่า ถ้าเผื่อจะอ่านเอามันและอ่านเอาฮา แต่เต็มไปด้วยความหนักแน่นของอารมณ์ ก็ต้อง “บรรเลงรมย์” ของหมอจิ๋ว บางซื่อ ถ้าจะเอาอารมณ์ทางด้านความสะเทือนใจเป็นหลักผสมผสานกับหลักทางดนตรีแบบเรียบง่ายก็ต้อง “จากดวงใจ” ของคีตจร มงคลขร สาทิส

หรือ ถ้าเอาแบบไม่ต้องคิดมาก อ่านแล้วอยากไปฟังดนตรีอย่างง่ายๆ ที่สุด (ซึ่งย้ำแล้วย้ำอีกว่าไปเป็นตำราอ้างอิงอะไรไม่ค่อยได้) กันต่อก็ต้อง ก.ข.ค คลาสสิก ฉบับ ABC คนเขียนก็คือผมเอง

ความจริงยังมีอีกหลายเล่มนะครับที่ดีๆ แต่ก็อีกเหมือนกันที่อาจจะไม่ถูกรสนิยมจนกระทั่งต้องหยิบมาแนะนำกัน

แต่สำหรับหนังสือที่คุณพี่ชุลิตากรุณาฝากมาให้อ่านนั้นอยู่ในขั้นที่ต้องบอกว่าไม่แนะนำไม่ได้ละครับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบดนตรีคลาสสิกก็ตาม หรือคนที่กำลังเรียนหนังสือทางด้านอารยะธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของดนตรีศาสตร์หรือทางสาขาสุนทรียศาสตร์จะต้องขวนขวายหาพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มนี้มาอ่านกันให้ได้

ที่สำคัญผมว่าเอาไปเป็นหนังสืออ้างอิงในการทำรายงานได้สบาย

“ เพลงเพลินใจ” คือชื่อของหนังสือเล่มนี้ และผู้เขียนก็คือ ปราชญ์แห่งการบริโภคนิยมผู้มีนามว่า “พิชัย วาสนาส่ง” นั่นเองครับ

ผมขออนุญาตเรียกท่านว่าเป็นปราชญ์แห่งการบริโภคนิยม ไม่ใช่ในแง่ของการให้ร้ายหรือดูหมิ่นในเชิงลบ แต่ที่เรียกอย่างนั้นก็เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยประทับใจการเป็นนักบริโภคผู้เต็มไปด้วยความละเมียด ละเอียดอ่อน และความรู้ ผ่านจานอาหารในหนังสือที่ชื่อ “ข้างครัว”

เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่อ่านแล้วอร่อย...อ่านแล้วเกิดอาการหิว...อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าได้ท่องไปในครัวของโลกนี้ผ่านตัวหนังสือของท่าน

คืออ่านแล้วรู้เลยว่าท่านผู้เขียนเป็นผู้ที่มีศิลปะและเข้าถึงการทำอาหารและทานอาหารได้อย่างชนิดที่หาตัวจับยาก...ซึ่งจริงๆ แล้วก็คงมีคนจำนวนมากในเมืองไทยที่มี ลิ้น และ หัวใจ อยู่ในขั้นเอกอุแบบนั้น

แต่ที่ทำให้ท่านเด่นที่สุดก็คือ ศิลปะในการถ่ายทอด ลิ้น และหัวใจ ของท่านให้ลงมาอยู่ในหนังสือให้คนอ่านเกิดอาการ ‘ตะกละ’ ขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ!!

ใครไม่เคยเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมท้าให้พิสูจน์ความอร่อยจากหนังสือเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอ่านหนังของของคุณพิชัยน้อย จะมีก็เพียงแค่สมัยก่อนที่บ้านเคยรับ “พบโลก” แม็กกาซีนเกี่ยวกับเรื่องโลกมา ก่อนจะมาจริงๆจังๆ ใน “ข้างครัว” ซึ่งก็ติดอกติดฝีมือการเขียนงานของคุณพิชัยมาตั้งแต่บัดนั้น

(ติดใจถึงขนาดรู้สึกว่า ข้างครัว เล่ม 2 ทำไมบางอย่างงี้หนอ อ่านยังไม่จุใจก็จบเสียแล้ว)

ครั้นเมื่อคุณพี่ชุลิตาส่งหนังสือเพลงเพลินใจมาให้อ่าน เมื่อเห็นชื่อ ผมก็ตลุยอ่านชนิดรวดเดียวจบ อ่านแพล็บเดียวก็ปาเข้าไปสองรอบอย่างจุใจ เพราะอะไรหรือครับ...

คำตอบก็คือ ท่านเขียน โดยเอา หู หัวใจ และ องค์ความรู้เป็นที่ตั้ง ก่อนจะถ่ายทอดออกมาด้วยศิลปะของงานเขียนชั้นครูที่เต็มไปด้วยอาการถ่อมตัว แต่อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้นั่นแหล่ะครับ

เหมือนในบทแรกๆ ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องของดนตรีตั้งแต่ยุคกรีกมาเลย จนกระทั่งไล่มาสู่ยุคศาสนาครอบงำ ในลีลาที่อ่านเพลินๆ จนอดจะเจ็บใจไม่ได้ว่า เมื่อครั้งเรียนหนังสือ ทำไมไม่มีการรวบรวมพิมพ์ออกมากันหว่า

เนื้อที่หมดลงแล้วครับ แต่ยังขอเขียนต่อถึงเพลงเพลินใจอีกซักนิดในสัปดาห์หน้าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น