xs
xsm
sm
md
lg

เงื่อนไขของการเกิดอัจฉริยะในเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ต่อพงษ์ เศวตามร์

อีกไม่กี่วันข้างหน้า แฟนคลาสสิคคงจะได้กระดี๊กระด๊ากันอีกรอบ...เป็นการกระดี๊กระด๊าแบบนานๆ จะเกิดขึ้นที เพราะว่านักดนตรีระดับโลกชนิดเวิลด์คลาสจะมาแสดงดนตรีให้เราดู

นักไวโอลินสาวอย่าง มิโดริ โกโตะ หรือ ที่เรียกสั้นๆ ว่า มิโดริ คงไม่เรียกเวิล์ดคลาสไม่ได้

สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้จัดขึ้นโดยโตชิบา สมาคมไทย-ญี่ปุ่น เพื่อฉลองวโรกาศมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ คอนเสิร์ตจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2004 บัตรราคา 2500 2000 1500 1000 800 บัตรนักเรียนเอาไปลดได้ 50 เปอร์เซนต์ บัตรสอบถามได้ที่ ไทยทิคเก็ตมาสเตอร์ (02)204 - 9999 รายได้จากงานนีถวายโดยพระราชกุศล มูลนิธิ ส่งเสิรมศิลปาชีพ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

เมื่อไม่นานมานี้ผมเคยเขียนถึงมิโดริเมื่อตอนออกอัลบั้มฉลอง 25 ปีที่อยู่ในวงการ หลังจากถูกค้นพบโดย สุบิน เมธา วาทยากรจอมแอ็กฯ ชื่อดัง จากนั้นเธอก็กลายเป็นเด็กมหัศจรรย์ในวงการ หรือที่เราเรียกกันเสมอว่า Child prodigy

คำๆ นี้เคยถูกเรียกมาแล้วผ่านยุคผ่านสมัยตั้งแต่ โมทซาร์ต เบโธเฟน เมนเดลโซห์น เยฟกินี่ คิสซิน มิโดริ ฯลฯ พูดง่ายๆ ในทุกยุคทุกสมัยจะต้องมีเด็กมหัศจรรย์เกิดขึ้นตลอดเวลา

เข้าใจว่าเพลงส่วนใหญ่ที่มาเล่นในคอนเสิร์ตจะเป็นเพลงสั้นๆ หรือเป็นโซนาต้ามากกว่า ไล่มาตั้งแต่ โซนาต้าสำหรับ เปียโน-ไวโอลิน K.454 ของโมซาร์ต ตามด้วยโซนาต้า หมายเลข 2 ของ ราเวล ครึ่งหลังมีงานชิ้นสั้นๆ ของหลายต่อหลายคน อาทิ ดโวช้าก และ เวียนเนาสกี้

พูดง่ายๆ ว่าน่าจะเป็นค่ำคืนที่ชุ่มฉ่ำและกระจุ๋มกระจิ๋มไม่เลวอยู่

งานนี้มิโดริเธอไม่ได้มาเพราะเรื่องของคอนเสิร์ตเฉยๆ แต่เธอมาในงานโครงการหาเด็กพิเศษของเธอด้วย นั่นคือ จะมีการเปิดคอร์สสอนพิเศษให้แก่เด็กๆ ไทยที่มีความสามารถทางดนตรี (ซึ่งได้มีการคัดเลือกกันไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้) จำนวน 6 คน จากจำนวนที่คัดเลือกกันทั้งสิ้น 400 คน เพื่อติวพิเศษคนละ 45 นาที

อาจจะไม่ทำให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กอัจฉริยะขึ้นมาได้ แต่ทว่าคงได้แรงบันดาลใจกันอย่างมากมายทีเดียวจนอาจจะทำให้เขากลายเป็นคนเก่งๆต่อไปในอนาคตก็ได้

พูดถึงเรื่องเด็กอัจฉริยะ ที่ตอนนี้ทุกคนคิดคล้ายๆ กันแล้วว่า ขึ้นอยู่กับพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์ หลายประเทศก็หาทางสร้างเด็กกันใหญ่ เมื่อไม่นานนี้ทางโตชิบาผู้จัดคอนเสิร์ตเขาได้เปิดโอกาสให้คุยกับมิโดริ ผมก็เลยถามเขาไปตรงๆ ว่า เด็กมหัศจรรย์นั้นสร้างได้จริงๆ หรือ

มิโดริตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า เธอมักจะถูกคนถามอยู่เสมอว่า เลี้ยงมายังไงถึงกลายเป็นเด็กมหัศจรรย์ได้ ซึ่งเธอบอกว่า ไอ้คำว่ามหัศจรรย์นั้นคนอื่นเป็นคนตั้งให้ทั้งสิ้น โดยที่ตัวเธอเองก็ยังไม่ชัดเจนเลยเหมือนกันว่า มหัศจรรย์แบบเป็นทางการที่ได้รับการยอมรับจากทุกคนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

“เมื่อเด็กๆ ทำอะไรได้เหมือนผู้ใหญ่ที่ฝึกมาหลายปี เขาหรือเธอเหล่านั้นก็จะถูกขนาดนามว่ามหัศจรรย์ สำหรับดิฉันจุดประสงค์ของการฝึกฝนนั้นเป็นแบบเด็กๆ นั่นคือ แค่อยากจะเล่นดนตรีให้ได้เหมือนแม่ของฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน ซึ่งฉันอยากจะเล่นให้ได้อย่างไพเราะที่สุด แน่นอนเมื่อฉันมีจุดประสงค์แบบนั้น ฉันก็เลยต้องฝึกฝนอย่างอดทนและเข้มงวดด้วยอายุที่น้อยมากๆ ซึ่งเงื่อนไขของการกระทำดังกล่าวก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนา “ความมหัศจรรย์” ในวงการดนตรีขึ้นมาก็ได้”

“แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้น การจะพูดว่ามีความอัศจรรย์เกิดขึ้นหรือเปล่า ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมเขายอมรับและเชื่อว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือเปล่า สรุปก็คือนอกจากความสามารถที่ทำได้เหมือนผู้ใหญ่แล้ว มันต้องมีคนมาค้นพบ เมื่อค้นพบแล้วก็ต้องมีการทดสอบ ถ้ามันผ่านการทดสอบ สังคมนี้ก็จะรู้สึกประทับใจ และการให้ความนับถือก็จะติดตามมา” มิโดริตอบไว้อย่างงั้น

ถ้าดูเงื่อนไขของการสร้างอัจฉริยะที่ว่านั้น ผมว่าเมืองไทยเราคงมีอัจฉริยะได้ยากเพราะถึงพ่อแม่จะเข้มงวด จะฝึกฝนกันแค่ไหน หรือ ความสามารถสูงส่งสุดๆ ก็ตามที แต่ดูเหมือนไอ้อะไรต่อมิอะไรหลายอย่างจะไม่เอื้อเลย ซึ่งไอ้อะไรต่อมิอะไรนั้นไม่ได้เกี่ยวกับตัวเด็กแม้แต่น้อย

อย่างที่มิโดริพูด สังคมบ้านเรานั้นได้เคยเห็นว่ามีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นในเด็กบ้างหรือเปล่า? หรือเมื่อเห็นแล้วได้เปิดโอกาสให้เขาทดสอบหรือไม่ ? เรามีคนที่จะประทับใจในอัจฉริยะเหล่านั้นเขาแค่ไหน ?

สุดท้ายก็คือเราให้ความนับถือกับเด็กของเราเองแค่ไหน?

เพราะเท่าที่เราเห็นมานะครับ เด็กไทยเก่งๆ ซึ่งโคตรเก่งตอนเด็กๆ มีเยอะเป็นบ้า อันนี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะสาขาดนตรีนะครับ แต่ทางวิชาการทั้งหลาย ผมเห็นเราก็ได้เหรียญโอลิมปิกกันตั้งมาก หรือสมัยก่อนโน้นบอลเด็กๆ เราก็เก่ง แต่พอผ่านช่วงเด็กมาแล้ว คนเก่งเหล่านั้นหายไปหมดใช่มะ

เราชื่นชมกันอยู่แค่ 2 วันที่เขาขึ้นปกหนังสือพิมพ์เท่านั้นแหล่ะครับ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น