xs
xsm
sm
md
lg

สมชื่อซิมโฟนี่แห่งสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: ต่อพงษ์ เศวตามร์

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณแฟนๆ ที่กรุณาเติมเต็มความรู้น้อยในเรื่องของชื่อของ "ยามาดะ" คีตกวีชาวญี่ปุ่นที่ผมเขียนแนะนำแผ่นของเขาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกันอย่างมากทีเดียว

ประเด็นแรกก็คือ ชื่อของยามาดะที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Koscak ที่ผมบอกไปว่า เหมือนกับพวกคอสแซ็ก ที่อยู่ทางเหนือของรัสเซียหรือไม่ก็ไพล่ไปเหมือนกับพวกฮังกาเรียนกันเลย ปรากฏว่าท่านผู้อ่านหลายท่านกล่าวว่า น่าจะอ่านว่า "โคซากุ" มากกว่า

ผมก็ว่าโคซากุน่าจะเข้าเค้ากว่าชื่ออื่น เพราะ คอสแซ็ก มันไม่เข้ากับความเป็นซามูไรของแกเลย

ส่วนอีกเรื่องก็คือ บ้านและตระกูลของยามาดะนั้น อันนั้นก็แปลเอาตรงๆ จากเอกสารที่พอจะค้นได้เกี่ยวกับตัวเขานะครับ ไปเป็นคนของแคว้นไหนอันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ยังไงก็ตามต้องกราบขอบพระคุณท่านผู้อ่านมาอีกครั้งจริงที่กรุณาแนะนำติชมด้วยความปราณีอย่างที่เคยทำมา อิอิ

กลับเข้าเรื่องของ ซิมโฟนี่ ในบันไดเสียง เอฟ เมเจอร์ หรือ ซิมโฟนี่แห่งชัยชนะและสันติภาพนั้น เป็นซิมโฟนี่ที่ยิ่งฟังแล้วยิ่งติดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศที่ฝนตกฉ่ำๆ แบบนี้

ว่ากันว่าเพลงนี้เขาถอดวิญญาณซามูไรมาเลย ที่เมื่อเข้าสู่สงครามก็เข้าอย่างไม่หวั่นไหว แต่เมื่อเสร็จภาระกิจก็กลับมานั่งสงบแบบเดียวกับพวกซามูไรที่อินกับลัทธิเซนเขาทำกันนะครับ

เคยฟังเพลงบางเพลงไหมละครับที่ฟังแล้วจะเห็นสีเขียวๆ และความร่มรื่นมาแต่ไกล ความรู้สึกฉ่ำ ชื้นๆ แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวานั้น เริ่มตั้งแต่ 2 นาทีแรกเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็ไม่ได้เขียวแบบหมายเลข 6 ของเบโธเฟน เพราะในความชะอุ่มนั้น มีเสียงกลองเดินทัพแบบเร้าใจแทร็กมาด้วยเป็นระยะๆ

แต่ก็ไม่ได้ยินชัดเจนจนกระทั่งเปลี่ยนให้ความร่มรื่นเป็นความฮึกเหิมตอนเดินทัพแบบนั้น

ยามาดะเริ่มต้นเพลงของเขาด้วยเสียงเครื่องสายผสานกับเสียงทองเหลือง(เขาใช้ทรอมโบน 3 ตัวประสาน) ที่งดงามและคักคักมีชีวิตชีวาเอามากๆ ตามด้วยเสียงลมไม้ที่แทรกกลิ่นแห่งความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป ท่อนแรกของเพลงนี้จึงเป็นการเดินเข้าสู่ความร่มรื่นชุ่มชื้นของป่าญี่ปุ่น ภาพนก กวาง ละมั่งภูเขาเดินกันเพียบ รอยยิ้มและฝันดีจะปรากฏเมื่อโผล่เข้ามาอยู่ในท่อนแรกนี้

ท่อนสองคำว่าสันติเริ่มปรากฏ เพราะสันติภาพ ความสงบในใจของยามาดะ ทุกอย่างลื่นไหลใสเย็นชนิดที่ต้องบอกว่า สุดยอด หลายคนฟังเพลงของยามาดะอาจจะรู้สึกว่า ท่อนสองกับท่อนสามของเขาจะคล้ายๆ กัน แต่ผมกลับชอบนะครับ เพราะมันเหมือนกับการที่เราไปอยู่คนเดียวในป่า แล้วก็นั่งสมาธิ หรือ สงบนิ่งอยู่ตรงนั้นอย่างมีความสุขที่สุด

ท่อนสุดท้ายของเพลงเป็นการกลับมาสู้ธีม Triumph อีกครั้ง ท่วงทำนองเดิมแต่เพิ่มความคึกคัก ทีนี้เสียงกลองและจังหวะเปลี่ยนเป็นเดินทัพ ก็ไม่รู้ว่าจะไปสู้กับใครละครับ แต่ที่แน่ๆ ใครก็ตามฟังงานนี้แล้ว เชื่อว่าจะมีแรงไปทำสงครามอย่างมีความสุขมากขึ้น

งานนี้ถือเป็นซิมโฟนี่บทแรกที่เขียนโดยนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น เชื่อว่าไม่มีการตั้ง ‘ชื่อ’ มาตั้งแต่เริ่มต้นนะครับ แต่เมื่อมีการบรรเลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทุกคนที่ฟังก็มอบชื่อนี้ให้ว่าเป็น Triumph And Peace อย่างสมบูรณ์แบบ

ผมเชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธชื่อนี้ได้หลังจากที่ฟังจบลงแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น