xs
xsm
sm
md
lg

ปล่อยกู้อสังหาฯเกินเกณฑ์ แบงก์รายงานกว่า100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -ธปท.เผยแบงก์ปล่อยสินเชื่อโครงการอสังหาฯ เกิน 100 ล้าน กว่า 100 ราย ระบุสามารถทำได้แต่ต้องรับความเสี่ยงเอง พร้อมตั้งข้อสังเกต มูลค่าหลักประกันต่ำเกินจริง หากอธิบายเหตุผลไม่ได้ต้องประเมินใหม่ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติยืนยันสินเชื่ออสังหาฯโตในระดับที่ควบคุมได้ ยังไม่มีสัญญาณร้อนแรง

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิน 100 ล้านบาท ได้รายงานตัวเลขการปล่อยสินเชื่อมายัง ธปท.แล้ว ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดกว่า 100 ราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีมาตรการให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยกู้เกิน 100 ล้านบาท มาให้ธปท.รับทราบ ซึ่งการที่ธปท.ให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลการปล่อยกู้ในโครงการใหญ่ๆ ก็เพื่อป้องกันปัญหา และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินจนส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยโดยรวมเหมือนอย่างช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา

" ในการควบคุมกรณีดังกล่าว ทาง ธปท.ได้แนะนำให้สถาบันการเงินที่จะปล่อยเงินกู้เกิน 100 ล้านบาทพิจารณาถึงความเสี่ยงของโครงการอสังหาฯนั้นๆเอง หากดูแล้วเห็นว่าเหมาะสมก็สามารถทำได้ ซึ่งทาง ธปท.คงจะไม่ไปกำกับว่าอย่าปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการนั้นโครงการนี้ " รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลการปล่อยสินเชื่อโครงการที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาทนั้น มีบางรายที่ ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของมูลค่าหลักประกัน โดยให้ธนาคารอธิบายว่าทำไมจึงตั้งหลักประกันเท่านี้ รวมทั้งวิธีการประเมินมูลค่าหลักประกันต้องมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ และสามารถอธิบายได้ แต่หากไม่น่าเชื่อถือก็ต้องประเมินมูลค่าหลักประกันใหม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมขยายตัวอยู่ในระดับ 6 – 7 % ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ถือว่าร้อนแรงเกินไป หากเปรียบเทียบกับการขยายตัวของสินเชื่อที่ผ่านที่ขยายตัวถึง 10 – 20 % ซึ่งในส่วนของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 14 – 15 % เท่านั้นเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่รวมสินเชื่อบุคคล ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในขณะนี้ยังไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลกัน

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถตอบได้ คงต้องดูปัจจัยหลายประการ รวมทั้งผลประกอบการการขยายตัวของสินเชื่อและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก(สเปรด) ของแต่ละธนาคารรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วย

รายงานข่าวจากฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แจ้งจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2547 ว่า มียอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งสิ้น 617,598 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.94 %ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสแรกของปี 47 เพียง 592 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดหนี้เอ็นพีแอลจำนวน 617,598 ล้านบาท สามารถแบ่งเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เอกชน473,477 ล้านบาท หรือ 15.86% ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 95,901 ล้านบาท หรือ 6.50% ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 25,239 ล้านบาท หรือ 5.61% บริษัทเงินทุน 22,510 ล้านบาท หรือ9.41% และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 469 ล้านบาท หรือ 36.33%

สำหรับยอดเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 47 นั้น สถาบันการเงินมียอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งสิ้น 618,190.94 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.05% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เอกชน 473,477.70ล้านบาท หรือ 15.86% ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 95,901.21ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.50% ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ25,239.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.30% บริษัทเงินทุน 23,103.44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.36%และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 469 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38.42%

ทั้งนี้ การปรับลดลงของเอ็นพีแอล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ง่ายขึ้นและเป็นการโอนหนี้ไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยและบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการการเงิน แต่การลดลงของเอ็นพีแอลถือว่ายังลดลงไม่มากนักตามที่ธปท.ต้องการให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10 %
กำลังโหลดความคิดเห็น