xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชุดข้อมูล ‘Mobility Data’ สู่สาธารณะ จุดเริ่มต้นพัฒนาการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากงานวิจัยด้านข้อมูลที่นำพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทย มาต่อยอดสู่การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำ ‘Mobility Data’ มาใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้ความร่วมมือของ 3 ฝ่ายคือ ดีแทค - สถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอ 3 แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้

ล่าสุด ได้มีการนำข้อมูลชุด ‘Mobility Data’ มาเปิดให้สาธารณะไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบนโยบาย ผู้สนใจด้านข้อมูล ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเพื่อดูข้อมูลย่อยที่ละเอียดถึงระดับอำเภอได้ผ่าน ‘Mobility Data Dashboard’ ซึ่งเปิดให้ใช้งานฟรี เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำและหัวหน้าหน่วยวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การเปิดเผยชุดข้อมูลการท่องเที่ยวที่ต่อยอดจากงานวิจัย “Mobility Data เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรอง” จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดนำเสนอเป็นนโยบายที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะจากส่วนกลางเท่านั้น แต่รวมถึงในแต่ละจังหวัดที่สามารถทำงานร่วมกันได้

“ความคาดหวังหลักของการเปิดชุดข้อมูลนี้คือเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำชุดข้อมูลไปส่งเสริมการออกนโยบาย เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่เกิดจากข้อมูลจริง รวมถึงการเปิดมิติใหม่ในการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มจังหวัดที่จะช่วยเพิ่มโอกาสของการกระจายตัวทางเศรษฐกิจให้จังหวัดเมืองรอง”


นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการอื่นๆ อย่างเช่น ธนาคาร โรงแรม ผู้ให้บริการทางด้านการเดินทาง นำข้อมูลมาผนวกกันทำให้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ทางสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งมีข้อมูลของคนไทยมากขึ้นเท่าไหร่จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สาธารณะมากเท่านั้น

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค ย้ำถึงการนำข้อมูลของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมาใช้งานในครั้งนี้จะอยู่ในระดับขั้นต้นที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ เพียงแต่นำข้อมูลการเชื่อมต่อการใช้งานในแต่ละจุดมาใช้งานเพื่อทำการวิเคราะห์รูปแบบการท่องเที่ยว และการเดินทางเท่านั้น

“จาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 24 เปิดให้สามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อการศึกษาวิจัยหรือสถิติเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ และนับเป็นการนำข้อมูลมือถือมาใช้งานเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะครั้งแรกในประเทศไทยด้วย”

ทั้งนี้ การเก็บข้อมูล Mobility Data ชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.2020-ต.ค.2021 ครอบคลุมช่วงวันหยุด เทศกาลหยุดยาวกว่า 183 ช่วง คิดเป็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวกว่า 5.39 ล้านทริป ด้วยการนำไปวิเคราะห์ในระดับภาพรวมจังหวัด ประกอบด้วยข้อมูล 10 จังหวัดภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัด 10 อันดับปลายทางที่คนในจังหวัดออกไปท่องเที่ยว

รวมถึงปริมาณการท่องเที่ยวแบบไป-กลับและค้างคืน นำมาแสดงผลดัชนีชี้วัดศักยภาพในรูปแบบกราฟประเมินศักยภาพ และข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพที่ต่างกันของเมืองรอง จนถึงข้อมูลระดับอำเภอ ทั้งช่วงเวลาการกระจุกตัวตามวเวลา และประเภทของวันหยุด

โดยก่อนหน้านี้ ทางดีแทค จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ได้มีการนำเสนอ 3 แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 1.การส่งเสริม Micro tourism 2.การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism) และ 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) เพื่อให้เกิดเป็นนโยบายสาธาณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น