xs
xsm
sm
md
lg

LINE ประกาศทิศทางธุรกิจเน้นเพิ่มเวลาใช้งานลูกค้าบนแพลตฟอร์ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อึนจอง ลี รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก LINE คอร์ปอเรชั่น
LINE เผยทิศทางธุรกิจในไทย เดินหน้าแนวคิด ‘Life on LINE’ ที่เริ่มประกาศใช้ในญี่ปุ่น ด้วยการเสริมบริการทั้งในส่วนของคอนซูเมอร์ และลูกค้าองค์กร ให้สามารถใช้งาน LINE ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชี้ยังไม่ถึงเวลาสร้างรายได้ ยังคงเน้นเพิ่มระยะเวลาใช้งานบนแพลตฟอร์ม

สถิติการใช้งานของ LINE ล่าสุดคือเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานชาวไทยมากที่สุด ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านราย โดยพบว่ามีการใช้งานต่อเนื่องถึง 26 วันในแต่ละเดือน และกว่า 93% มีการเปิดใช้งานเป็นประจำ

ทำให้ LINE ไม่ได้เป็นแค่บริการแพลตฟอร์มแชทอีกต่อไป แต่ครอบคลุมทั้งเรื่องของคอนเทนต์ทั้ง LINE TV LINE Today LINE Stickers ความบันเทิงจากเกมต่างๆ O2O ทั้งในส่วนของ LINE MAN LINE Jobs และ LINE Shopping สุดท้ายคือฟินเทค ที่มีพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Rabbit LINE Pay
พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา
พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา LINE กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนไทยไปแล้ว และที่สำคัญคือ LINE จะไม่มีการเก็บข้อมูลการแชทของผู้ใช้ เพราะใช้ระบบการเข้ารหัสทุกขั้นตอน และเก็บข้อมูลไว้บนดาต้าเซ็นเตอร์ของ LINE เพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าการให้บริการของ LINE จะปลอดภัย เพราะหลังจากนี้ LINE จะเข้าไปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการให้บริการมากขึ้น ภายใต้โครงการอย่าง LINE GovTech เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัว

“ปัจจุบันคนไทยกว่า 44 ล้านคน ใช้เวลาอยู่กับ LINE มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นถ้ามีการนำบริการต่างๆของภาครัฐเข้ามาให้บริการใน LINE ก็จะทำให้คนไทยสะดวกขึ้น”

โดยปัจจุบัน LINE ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มระยะเวลาใช้งานบนแพลตฟอร์มของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันในส่วนของจำนวนผู้ใช้งาน LINE คือจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว ส่วนในแง่ของการสร้างรายได้ยังคงมาจากการให้บริการ LINE OA และ โฆษณาบนแพลตฟอร์มอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ LINE ยังมีการเปิดตัวบริการใหม่อย่าง LINE Shopping ที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลสินค้าจากมาร์เก็ตเพลสต่างๆได้ โดยเมื่อเลือกซื้อสินค้าผ่าน LINE Shopping จะได้รับ LINE Point เพื่อนำมาใช้งานภายในอีโคซิสเตมส์ของ LINE ได้ รวมถึงฟีเจอร์อย่าง Wishlist ที่จะมีการแจ้งเตือนถ้าสินค้าที่ติดตามมีการลดราคา

“LINE อยู่ในจุดที่ดีมากๆ ในการเป็นผู้ช่วยของลูกค้า ด้วยการที่ LINE มีข้อมูลและเข้าใจลูกค้า ด้วยการนำพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ามาใช้ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าต่างๆ เพื่อนำเสนอบริการที่ต้องการ”

ถัดมาคือการเสริมบริการ LINE MAN เพื่อให้ครอบคลุมหัวเมืองหลักของประเทศไทยภายในปี 2020 ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ LINE MAN เนื่องจากปัจจุบันเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้ LINE MAN ขยายบริการไปสู่ LINE MAN Grocery ในการซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาเก็ตให้แก่ลูกค้า

สุดท้ายคือการเสริมบริการในส่วนของ LINE Call ที่ปัจจุบันกว่า 50% ของผู้ใช้งาน LINE มีการใช้งานเป็นประจำ ด้วยการเพิ่มบริการ LINE Melody เข้ามาให้บริการเสียงรอสาย และเสียงเรียกเข้าของ LINE Call เพื่อสร้างสีสันให้การใช้งานสนุกมากขึ้น

***เสริมบริการทางการเงินใน Rabbit LINE Pay
ธโนบล เซ็นภักดี
ในส่วนของบริการทางการเงิน จากการที่ LINE ให้บริการ Rabbit LINE Pay (RLP) ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทยอยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ทำให้มองถึงการนำ LINE Point ไปใช้ร่วมกับร้านค้าภายในเครือข่ายของ Rabbit LINE Pay

ธโนบล เซ็นภักดี หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท แรบบิท ไลน์เพย์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน RLP มีจุดรับชำระเงินตามสถานที่ต่างๆ กว่า 6 หมื่นจุดทั่วประเทศ ทำให้เมื่อนำ LINE Point เข้ามาร่วมก็จะทำให้ลูกค้าสามารถนำ LINE Point ไปใช้งานตามร้านค้าต่างๆได้

ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือกับทางธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (KASIKORN LINE) ขึ้นมา เตรียมให้บริการทางการเงินให้แก่ลูกค้า LINE ในช่วงปี 2020 โดยจะครอบคลุมในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจประกันภัย และการลงทุน

***สนผู้ใช้มากกว่าธุรกิจ ปรับราคา OA คุมคุณภาพเนื้อหา

เมื่อ LINE กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานสูงกว่า โซเขียลมีเดียอื่นๆถึง 3 เท่า ทำให้กลายเป็นว่าแบรนด์ธุรกิจต่างๆ สนใจเข้ามาใช้งาน LINE เป็นช่องทางในการสื่อสาร โดยปัจจุบัน LINE Official Accounts มีบัญชีผู้ใช้กว่า 3 ล้านราย

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย ที่ผ่านมา LINE@ ทำให้เกิดการ Over Broadcasting หรือการส่งข้อความหาผู้ใช้มากเกินไป ทำให้เกิดอาหาร Blind Broadcast ที่แบรนด์ส่งข้อมูลแล้วเข้าไม่ถึงผู้บริโภค

“จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ LINE มีการ Redesign เพื่อบาลานซ์การส่งข้อความให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ส่ง และผู้รับอยู่ในจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับได้ ทำให้เกิดรูปแบบการคิดค่าบริการตามปริมาณข้อความที่ใช้งานจริง”

แต่หลังจากการศึกษาในการเปิดเผยราคาใหม่ ทำให้มีการปรับราคาให้เหมาะสมมากขึ้น ด้วยการลดค่าใช้จ่ายให้แก่แบรนด์ เหลือข้อความละ 8 สตางค์ จากเดิมที่อยู่ข้อความละ 20 สตางค์ สำหรับธุรกิจ SMEs ส่วนลูกค้าองค์กร จะเหลือข้อความละ 4 สตางค์ จากก่อนหน้านี้ที่ตั้งไว้ 10 สตางค์ และถ้าเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านราย จะลดเหลือข้อความละ 1 สตางค์เท่านั้น

“LINE ได้ทำการสำรวจข้อมูล LINE OA ทั้ง 3 ล้านแอคเคาท์ พบว่าส่วนใหญ่จะมีผู้ติดตามต่ำกว่า 1,100 ราย และมีการส่งข้อความต้ำกว่า 10 ครั้งต่อเดือน ทำให้ได้เข้าไปพูดคุยกับทางญี่ปุ่น เพื่อให้ปรับราคาลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม”

พร้อมแนะนำฟีเจอร์ใหม่สำหรับ LINE OA ไม่ว่าจะเป็น OA Plus ECommerce เพื่อทำให้ LINE OA สามารถพัฒนาไปเป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซ Official Account x LINE MAN ในการนำบริการของ LINE MAN มาให้บริการทำให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจาก LINE OA ของแต่ละแบรนด์ได้ทันที

และยังสามารถนำ LINE OA ไปใช้คู่กับโซลูชันทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฝ่าย HR ภายในองค์กร เพื่อนำมาใช้ในบริษัท โซลูชันเกี่ยวกับภาคการศึกษา ที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้งานเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารของโรงเรียนให้ผู้ปกครอง ไปจนถึงภาครัฐที่จะนำบริการของภาครัฐมาให้ประชาชนใช้งาน


กำลังโหลดความคิดเห็น