xs
xsm
sm
md
lg

ประชันเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก ตลาดเดือดรับอีสปอร์ต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ZenBook Pro Duo UX581
เมื่ออีสปอร์ต (eSport) กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30%ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นเทรนด์สำคัญที่เกิดขึ้นในฝั่งของบรรดาผู้ผลิตพีซี หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดคือการสร้างซับแบรนด์ขึ้นมาใหม่ หวังสนองตอบเหล่าบรรดาตลาดเกมเมอร์ที่เฉพาะในประเทศไทย มีอยู่กว่า 18.3 ล้านคน เชื่อปีนี้ตลาดเกมมิ่งโตไม่น้อยกว่า 50 % อินเทรนต์ยุคนี้ต้อง 2 จอ

พีซีแบรนด์แรกที่ออกมาเน้นทำตลาดเกมเมอร์จริงๆคือVoodooPC ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1991 ก่อนที่จะถูก เอชพี (HP) เข้ามาซื้อกิจการในช่วงปี 2006 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ เดลล์ (Dell)เข้าไปซื้อกิจการ Alianware ที่ก่อตั้งขึ้นตามมาในปี 1996

ในปี 2006 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ระดับโลกมีซับแบรนด์สำหรับทำตลาดเกมขึ้นมา เพียงแต่ว่าในปัจจุบันเอชพีเลิกใช้ชื่อแบรนด์ Voodoo ในการทำตลาดไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2013

ต่อมาVoodoo รีแบรนด์ใหม่มาในชื่อ OMENที่เสริมทัพด้วยผลิตภัณฑ์ครบทุกไลน์ทั้งโน้ตบุ๊ก พีซี มอนิเตอร์อุปกรณ์เสริม ไปจนถึงเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายต่างๆ

ในฝั่งของแบรนด์เอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เอซุส (Asus) เอเซอร์ (Acer) และเลอโนโว (Lenovo) ต่างก็มีกลยุทธ์ซับแบรนด์เช่นเดียวกัน โดยทางเอซุสได้เริ่มใช้ซับแบรนด์ Republic of Gamers (ROG) ในส่วนของฮาร์ดแวร์และโน้ตบุ๊กตั้งแต่ปี 2006 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ทาง เอเซอร์ เริ่มนำเสนอซับแบรนด์ Predatorออกสู่ตลาดในช่วงปี2008 ส่วนทางเลอโนโวถือเป็นแบรนด์สุดท้ายที่เพิ่งหันมาทำตลาดซับแบรนด์ในช่วงปี 2017 ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในไลน์เกมมิ่งครอบคลุมทั้งเดสก์ท็อปและโน้ตบุ๊กในชื่อ Legionทำให้ปัจจุบันแบรนด์ใหญ่ทั้ง 5แบรนด์ต่างมีซับแบรนด์เพื่อเจาะตลาดเกมมิ่งครบกันหมดแล้ว

แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ผู้ผลิตพีซีเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่มาในตลาดคือการเปิดตัวซีพียูใหม่ของทั้งอินเทล(Intel) และเอเอ็มดี (AMD) เพียงแต่ว่าปัจจุบัน อินเทลกลายเป็นเจ้าตลาดหลักที่ครองตลาดโน้ตบุ๊กเกมเมอร์ประสิทธิภาพสูงเสมอมา

ดังนั้น การเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ของอินเทลที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว Intel Gen 9 ตามมาด้วย Gen 10ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้ปัจจุบันเริ่มเห็นซับแบรนด์เกมเมอร์นำซีพียู Intel Gen 9ทยอยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว ส่วน Gen 10คาดว่าจะมีการอัปเกรดอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ในส่วนของทางเอเอ็มดี จะเน้นไปเจาะตลาดเครื่องเกมคอนโซลต่างๆแทน เพราะความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ การเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับทั้งไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ โซนี่(Sony) ในผลิตเครื่องเกมทั้ง Xbox และ Playstation รุ่นใหม่ที่จะออกมาทำตลาดในช่วงปี 2020

***เป้าหมายหลักเจาะตลาดคนมีตังค์

เมื่อเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กในกลุ่มของเกมมิ่งที่เน้นประสิทธิภาพแรง และมีดีไซน์ที่ล้ำสมัย ทำให้ระดับราคาของสินค้าในกลุ่มนี้จะอยู่ในระดับบนเป็นหลัก ด้วยตัวเครื่องที่อยู่ในระดับแสนบาท ทำให้กลุ่มผู้ใช้งานโน้ตบุ๊กเกมมิ่งไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก
ทำให้ที่ผ่านมา ซับแบรนด์ในกลุ่มของเกมมิ่ง จึงถือเป็นสินค้าที่เกินเอื้อมสำหรับผู้บริโภคทั่วไปจนกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ
ปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ ประเทศไทย กับ HP OMEN X2S
ดังนั้นสิ่งที่แต่ละแบรนด์พยามทำคือการออกรุ่นย่อยทำให้ราคาจับต้องได้ง่ายขึ้นจนมาเริ่มที่ราว3-4 หมื่นบาท รวมถึงการเสริมกลุ่มผลิตภัณฑ์ในตระกูลหลักของแต่ละแบรนด์ที่อัดสเปกเพิ่มขึ้นมาให้รองรับการเล่นเกมได้ในช่วงระดับราคาประมาณ 25,000 บาท ที่ถือเป็นกลุ่มเมนสตรีมของผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ๊กไปใช้งาน และเล่นเกม

นอกเหนือจากกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มผู้ใช้งานที่นิยมเลือกใช้โน้ตบุ๊กเกมมิ่งคือกลุ่มที่นำไปใช้ในการตัดต่อ หรือเรนเดอร์ภาพต่างๆ เนื่องจากต้องการใช้โน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพสูง ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กทั่วไปในท้องตลาดอาจจะไม่เหมาะทำให้ต้องหันมาเลือกใช้งานเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแทน

***แบ่งเกมเมอร์เป็น 5 กลุ่ม

สำหรับตลาดเกมเมอร์ในประเทศไทย ที่มีกว่า 18.3 ล้านคน ทางเอชพีแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆด้วยกัน เริ่มต้นที่ 1.Frugal &Obsessed หรือกลุ่มผู้เล่นเกมทั่วๆไป เน้นเพื่อความบันเทิงเป็นหลักตามด้วย 2.Escapists ที่เล่นเกมเพื่อผ่อนคลายจากโลกความเป็นจริงที่มักจะเป็นกลุ่มผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป 3. Proud Gamer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนทำงานที่เกิดในยุคมิลเลเนียล ที่มักจะเล่นเกมเป็นประจำ 4. Customizers กลุ่มผู้เล่นเกมที่ชื่นชอบการปรับแต่งเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่มีงานประจำทำ

สุดท้ายคือ 5. กลุ่ม Enthusiasts หรือบรรดาเกมเมอร์มืออาชีพ ที่กลายเป็นตลาดหลักของซับแบรนด์เกมมิ่ง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมได้โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะผู้เล่นเกมเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงนักแคสเกม ไปจนถึงผู้ผลิตเกมด้วย

***เชื่อปีนี้ตลาดเกมเติบโตอีก 50%

ปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ ประเทศไทย จำกัดให้ข้อมูลถึงมูลค่าตลาดเกมมิ่งที่มีการสำรวจทั่วโลกพบว่า จากในปี 2017ที่มีมูลค่าราว 2.2 พันล้านเหรียญ จะเพิ่มขึ้นเป็น 4พันล้านเหรียญภายในปี 2021ส่วนในประเทศไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดเกมอยู่ราว 667 ล้านเหรียญหรือราว 2.2 หมื่นล้านบาท
ZenBook Pro 15_UX581
สำหรับในประเทศไทยทาง DEPA ได้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเกมในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ดังนั้นเอชพีในฐานะที่เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการทรานฟอร์มมิ่ง หวังว่าจะเข้าไปช่วยสนับสนุนในการยกระดับทั้งอีโคซิสเตมส์ของอีสปอร์ตในประเทศไทยให้แข็งแรงขึ้น

เนื่องจากมองว่า ตลาดอีสปอร์ต ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ผู้ผลิตเกม ผู้ผลิตอุปกรณ์ และเกมเมอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมแคสเตอร์ การทำแอนิเมชัน กราฟิกต่าง ที่ทางเอชพี จะเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนอาชีพเหล่านี้ภายในมหาวิทยาลัย

***ยุคนี้ต้อง 2 จอ

สำหรับเทรนด์ของโน้ตบุ๊กเกมเมอร์ที่คาดว่าจะกลายเป็นกระแสหลักภายในอนาคตอันใกล้นอกเหนือจากเรื่องของประสิทธิภาพจากซีพียู และการ์ดจอแล้ว เอชพี กลายเป็นแบรนด์แรกที่นำเรื่องของการแสดงผล 2 หน้าจอมาชูเป็นจุดเด่นให้บรรดาเกมเมอร์
ประกอบกับก่อนหน้านี้ ทางอินเทลก็มีการโชว์คอนเซปต์ของโน้ตบุ๊กเกมเมอร์ในยุคใหม่ที่ชื่อว่า 'Honeycomb Glacier'ว่าควรที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาจอที่ 2ที่รองรับการใช้งานทัชสกรีน มาเสริมการทำงานของหน้าจอหลัก
Intel Honeycomb Glacier
จากคอนเซปต์ของอินเทล คือการออกแบบโน้ตบุ๊ก 2จอให้สามารถปรับระดับเพื่อยกหน้าจอขึ้นมาได้เพื่อทำให้จอหลักขึ้นมาอยู่ในระดับสายตาของผู้ใช้งาน ในขณะที่จอเสริมก็จะเอียงเข้ารับองศาการมองของผู้ใช้งานทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น

ย้อนกลับมาดูโน้ตบุ๊กของเอชพีที่ประเดิมออกมาเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่นแรกที่มากับ 2 หน้าจอ ภายใต้ชื่อOMEN X 2S กันบ้าง แม้ว่าจะยังไม่ได้นำคอนเซปต์ของอินเทลในเรื่องการยกจอมาใช้แต่แนวทางที่พัฒนา 2 จอขึ้นมาก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะทาง เอชพี มีการสำรวจพฤติกรรมของเกมเมอร์มา พบว่า กว่า 82%ของผู้เล่น มีการใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อส่งข้อความหากันระหว่างการเล่นเกม62% เปิดเพลงฟังควบคู่ไปกับการเล่นเกม และ 49%มีการเปิดสตรีมเกมที่เกี่ยวข้อง ดูวิดีโอ ท่องเว็บไปด้วย

ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาจอเสริมของเอชพี จึงอิงกับพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อเปิดให้ผู้ใช้สามารถดึงหน้าจอแชท โปรแกรมเล่นเพลง ไปจนถึงการเปิดหน้าเว็บไซต์มาไว้ในจอที่ 2เพื่อให้สามารถใช้งานไปพร้อมๆกับการเล่นเกมได้ทันที

ไม่ใช่เฉพาะเอชพี ที่มีแนวคิดในการนำจอที่ 2 มาใช้ เพราะก่อนหน้านี้ เอซุส เริ่มมีการนำเสนอจอที่ 2 มาให้ใช้งานกันในโน้ตบุ๊ก Asus Zenbook Pro Duo ที่นำเสนอออกสู่ตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา และมีการอัปเกรดใหม่เพิ่มเติมในช่วงงานคอมพิวเทคที่ไต้หวันช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอจอที่ 2 ที่มีความสามารถมากขึ้น จากการที่ร่วมกับนักพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ให้หันมาพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับการแสดงผล 2 หน้าจอ โดยเฉพาะการนำไปใช้กับงานตัดต่อของกลุ่มครีเอเตอร์ เพียงแต่ว่าเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของ Zenbook Pro Duo ยังไม่ใช่เกมเมอร์ ดังนั้น ก็ต้องรอว่าเมื่อไหร่ที่เอซุสจะนำแนวคิดนี้มาใช้กับสินค้าในกลุ่ม ROG


กำลังโหลดความคิดเห็น