xs
xsm
sm
md
lg

ภาคโทรคมนาคมจับมือตั้งศูนย์รับภัยไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯพร้อมผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเอ็มโอยูสร้างความตระหนักในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมผุดแนวคิดจัดตั้งศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมนต์ชัย หนูสง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมชั้นนำ ทั้ง 8 ราย ได้แก่ AIS โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ True Online, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที, บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT, บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Symphony, บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CS – Loxinfo และบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ UIH ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการสร้างความตระหนักในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะร่วมมือกันพัฒนาสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างความตระหนักในด้านการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดและมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งจะหารือร่วมกันเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Telecommunication CERT (TTC-CERT) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และผู้ใช้บริการทางการเงินที่ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม ให้สามารถใช้บริการได้อย่างไร้กังวลและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นโดยคาดว่าจะสามารถตั้งได้ภายใน 1 ปีต่อจากนี้

ทั้งนี้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างเต็มที่และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้โครงข่ายโทรคมนาคมมีความมั่นคงปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐ อาทิ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดให้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นปัญหาความมั่นคงเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สนับสนุนให้มีการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยการจัดตั้งศูนย์การเฝ้าระวังและรับมือภัยคุกคาม


รวมถึงแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ที่มีแนวคิดในการสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้บริโภคในการใช้บริการโทรคมนาคม ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีการดำเนินงานร่วมกัน และภาคเอกชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถจัดตั้งศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ โดยจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 ในขณะนี้มีผู้ใช้งานในระบบ 3G และ 4G รวมกันมากกว่า 124 ล้านเลขหมาย โดยมีปริมาณการใช้บริการข้อมูล หรือดาต้า โดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1,033 PB ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มาอยู่ที่ประมาณ 1,728 PB ใน ไตรมาส 4 ของปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นถึง 67% ในระยะเวลาเพียง 1 ปี และยังมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 33% ในสิ้นปี 2560 เป็น 43.34% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ จากสถิติของ ETDA พบว่า เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการจำนวนกว่า 203 เว็บไซต์ มี ความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่าย

จากรายงานดัชนีชี้วัดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โลก หรือ Global Cybersecurity Index 2017 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 22 จาก 194 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของโลก และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับ ที่ 3 ของโลก อย่างไรก็ดี ไทยจำเป็นต้องยกระดับความศักยภาพและความเข้มแข็ง เพื่อเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะในเวลาที่ต้องเผชิญภาวะวิกฤติทางไซเบอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น