xs
xsm
sm
md
lg

PwC เผยซีอีโออาเซียนยังไม่พร้อมนำ “AI” มาใช้งาน ต้องรออีก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศิระ อินทรกําธรชัย
PwC ประเทศไทย เผยผลสํารวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียน เกือบครึ่งมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตลดลง ฉุดความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ให้ลดลงตามไปด้วย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ซบเซาของซีอีโอทั่วโลก หลังเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจขาลงของกลุ่มประเทศมหาอํานาจ

โดยผู้นําธุรกิจอาเซียน ตระหนักว่า AI จะเข้ามาปฏิวัติธุรกิจของพวกเขาในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่พร้อมนํา AI เข้ามาใช้งาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และมีช่องว่างทางทักษะภายในองค์กร แนะให้ซีอีโอเร่งเพิ่มพูนทักษะใหม่ และอบรมทักษะเดิมให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อจัดทัพองค์กรให้พร้อมทํางานร่วมกับ AI

นายศิระ อินทรกําธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสํารวจซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจําปี 2562 (PwC’s 22nd Annual Global CEO Survey) ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งสํารวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลก จํานวน 1,378 รายใน 91 ประเทศ ซึ่งในจํานวนนี้ เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จํานวน 78 ราย โดยซีอีโออาเซียนเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน

ทั้งนี้ 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียน ในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า 83% ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง 81% ความไม่แน่นอนของนโยบาย 78% กฎระเบียบข้อบังคับที่มาก และเข้มงวดเกินไป 77% และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 73%

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดําเนินธุรกิจ และกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน และจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออก และหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจากันได้ และอีก 17% เลือกที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหมในเอเชีย อย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม

สําหรับอุปสรรคสําคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดําเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 82% 2.ภัยคุกคามทางไซเบอร์ 81% และ 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 72%

“การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญของธุรกิจในอาเซียน”

นายศิระ กล่าวต่อว่า ผู้นําธุรกิจต่างตระหนักดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ AI กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการดําเนินธุรกิจทั่วโลก โดย 72% ของซีอีโออาเซียน คาดว่า การปฏิวัติของ AI จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลกยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90s และ 87% ยังเห็นด้วยว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทําธุรกิจของตนอย่างมีนัยสําคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลสํารวจกลับพบว่า ธุรกิจอาเซียน เกือบ 40% ยังไม่มีการนํา AI เข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนํา AI เข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า 28% มีการใช้งาน AI ในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้ AI อย่างกว้างขวาง และเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

“เรามองว่า สาเหตุสําคัญที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงไม่ตื่นตัวในการพัฒนา หรือลงทุนเพื่อนํา AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทํางานอย่างจริงจังแม้ว่าจะตระหนักถึงความสําคัญในจุดนี้ น่าจะเป็นเพราะช่องว่างทางทักษะของแรงงานที่มีความรู้ไม่เพียงพอในการใช้งาน AI”

ดังนั้น ภาครัฐ ผู้นําองค์กร ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองด้วยการเพิ่มพูนทักษะใหม่ และฝึกฝนอบรมทักษะเดิมอย่างสมํ่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทักษะทางด้านดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้เหตุผล ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่า การเข้ามาของ AI จะเป็นไปในลักษณะของ “เพื่อนร่วมงาน” ที่เข้ามาสนับสนุนการทํางานประเภทที่ต้องทําซํ้าๆ และเปิดโอกาสให้แรงงานคนได้ไปใช้ทักษะในด้านอื่นมากกว่าเข้ามาแย่งงาน แต่นั่นแปลว่า เราก็ต้องรู้จักวิธีที่จะสามารถทํางานร่วมกับ AI ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย

สถาบันการศึกษาเองควรส่งเสริมหลักสูตร STEM ศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ให้แก่บุคลากรที่กําลังจะถูกป้อนออกสู่ตลาดแรงงาน โดยไม่ลืมที่จะปลูกฝังทักษะทางด้านอารมณ์ควบคู่กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น