xs
xsm
sm
md
lg

“ซีดีจี” คาดตลาดไอทีสดใสหลัง IDC ชี้ 2-3 ปีหน้า มูลค่า 4.7 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นาถ ลิ่วเจริญ
กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรแก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เผยตัวเลขจาก IDC คาดประเทศไทยจะมีเงินหมุนเวียนในตลาดไอทีสูงถึง 470,000 ล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินหน้างาน ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยภายในปี 2563 กว่า 20% จะปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

ย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ชู 3 จุดเด่นโซลูชัน คือ 1.Big Data/ Data Analytics 2.IoT และ 3.Privacy/ Security พร้อมนำจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานสนับสนุนภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ก้าวสู่ความเป็น Smart Government และให้การสนับสนุนในด้าน e-citizen service solutions เพื่อการบริการประชาชนที่ดีขึ้น

เผยเทรนด์ที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจ คือ Blockchain, Artificial Intelligence (AI), Augmented Reality (AR) and Virtual Reality (VR) และ Global Internet of Things (IoT) security breach ตั้งเป้าเติบโต 10% โดยยังคงสัดส่วนหลักจากภาครัฐที่ 90%

นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่าจากข้อมูลของ IDC คาดใน 2-3 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะมีเงินหมุนเวียนในตลาดไอที สูงถึง 470,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินหน้าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ขององค์กรในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยคลาวด์ เซอร์วิส (Cloud Service) ยังคงเป็นส่วนที่ได้รับความสนใจ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำรายได้ให้ตลาดไอทีได้สูงกว่า 48,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ตัวเลขจากงานวิจัยของ IDC ยังระบุว่า ภายในปี 2563 มากกว่า 20% ขององค์กรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพื่อเสริมศักยภาพและพร้อมแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

“ซีดีจี ยังคงมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบ System Integrator เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วและใหม่ขึ้นทุกวัน ด้วย 3 จุดเด่นโซลูชันที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ให้กับองค์กรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ 1.Big Data / Data Analytics 2.IoT และ 3.Privacy/ Security”

โดยในส่วนของ Big Data และ Data Analytics ทั้งภาครัฐ และเอกชน จะพบว่า ข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ข้อมูลเหล่านั้นเอง คือ โอกาสที่สามารถนำมาจัดการและรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ขณะเดียวกัน เทรนด์ในการพัฒนาเมืองของภาครัฐสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง IoT ในการบูรณาการเข้ากับระบบ เสริมด้วยงาน e-citizen services เพื่อการบริการประชาชนที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อข้อมูลกลายเป็นหัวใจของการทำงาน Privacy/ Security หรือการจัดการระบบการเข้าถึงข้อมูล และการปกป้องข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกหน่วยงาน โดยทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่บริษัทให้การผลักดันให้เกิดเป็นโซลูชันใหม่ๆ เพื่อตอบทุกโจทย์ความต้องการให้ลูกค้า โดยตั้งเป้าเติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา และยังคงสัดส่วนหลักจากภาครัฐที่ 90%

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของ Gartner ในบทความ Gartner Top 10 Strategic Technology Trends for 2019 ซีดีจี พบว่า technology trends ที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อภาคธุรกิจหลักๆ คือ Blockchain, Artificial Intelligence (AI), Augmented Reality (AR) and Virtual Reality (VR) และ Global Internet of Things (IoT) security breach

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) คือ การนำมาใช้ให้เป็นรูปธรรมสำหรับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพเรื่องของความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล และความปลอดภัยในการเข้าถึงระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เสริมการทำงานร่วมกันระหว่างแผนก หน่วยงาน และองค์กร เช่น เอกสารสำคัญ โฉนดที่ดิน และการดำเนินธุรกรรมต่างๆ

Artificial Intelligence หรือ AI ปัญญาประดิษฐ์ที่ยังคงเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การเกษตร และทางการแพทย์ หากจะมองให้แคบลงอีก สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนในปีนี้ คือ การนำแมชชีนเลิร์นนิง และ AI มาใช้สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจ และขับเคลื่อนการกระบวนการทำงาน หรือแม้แต่การนำ chatbot เข้ามาใช้โต้ตอบกับลูกค้าเพื่อการบริการ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ chatbot ยังถูกนำมาใช้ในองค์กร เพื่อลดจำนวนงาน และขั้นตอนการทำงานให้กระชับยิ่งขึ้น คาดปลายปี 2562 กว่า 40% ของธุรกิจขนาดใหญ่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานภายในองค์กรด้วยการนำ Chatbot มาประยุกต์ใช้

Augmented Reality (AR) and Virtual Reality (VR) แม้ในปีที่ผ่านมา กระแสของ VR จะยังมาไม่แรงเท่า AR แต่การตื่นตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกที่อยากผลักดันเทคโนโลยีนี้ จึงเห็นความพยายามในการนำเสนอต้นทุนอุปกรณ์ที่ต่ำลง เพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี Mixed Reality (MR) ซึ่งเป็นส่วนผสมของ AR และ VR เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมทับซ้อนพื้นที่จริงแบบเรียลไทม์ และยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้าถึงวัตถุเสมือนได้ ได้รับความสนใจมากขึ้นจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์

Global Internet of Things (IoT) security breach แนวโน้มของการเกิดความไม่ปลอดภัย หรือการรั่วไหลของข้อมูลจากการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น จากการพัฒนาและนำมาใช้อย่างแพร่หลายของอุปกรณ์ IoT ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ Gartner คาดการณ์ว่า จากนี้จนถึงปี 2563 จะมีการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ทั่วโลกถึง 20.4 ล้านชิ้น จึงเกิดกระแสการตื่นตัวจากผู้ผลิตชิ้นส่วน IoT ที่เริ่มมองหาการรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่รัดกุมขึ้น

นายนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนมีการปรับตัวเพื่อสอดรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยปัจจุบันจะเห็นได้จากการ transform ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการร่วมกันผลักดันของทุกภาคส่วนตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศสู่ Thailand 4.0

จากข้อมูลของ BOI ระบุว่า ภาครัฐมีการเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดความพร้อมในการใช้ระบบ e-documents โดยตั้งเป้าในปี 2564 มากกว่า 80% ของหน่วยงานภาครัฐ ต้องเข้าสู่เปเปอร์เลส ออฟฟิศ (Paperless Office) ซึ่งหมายถึงโอกาสในการบริการประชาชนที่มีศักยภาพมากขึ้น และในปี 2563 สัดส่วนของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม จะเติบโตถึง 10% ซึ่งเป็นผลมาจาก mobile payment โดยหากมองจากเทรนด์นี้ โอกาสที่น่าจับตามองในการเติบโตของธุรกิจ IT คือ เทคโนโลยีที่เชื่อมโยงถึงโซลูชันในการรองรับความปลอดภัยที่เป็นอีกหนึ่งโอกาสเช่นกัน

“ซีดีจี พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเดินหน้างานดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยนำจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานสนับสนุนภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ สร้างการเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกัน รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ก้าวสู่ความเป็น Smart Government และให้การสนับสนุนในด้าน e-citizen service solutions เพื่อการบริการประชาชนที่ดีขึ้นผลักดันประเทศผ่านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสังคมที่ดีขึ้น และเพื่อความก้าวหน้าของประเทศเป็นหลักสำคัญ”


กำลังโหลดความคิดเห็น