xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ย กสท” สนใจประมูล 700 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสท โทรคมนาคม สนใจจับมือต่างชาติ ประมูลคลื่น 700 MHz รองรับอนาคต หลัง คลื่น 800 MHz กับ 1800 MHz ที่ถือครองจะหมดอายุลงตามใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช. ในปี 2568

นายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสท มีความสนใจในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำมาประมูลภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายซึ่งรวมถึง กสท ด้วยนั้น มาชี้แจงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการเปิดประมูลดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะยอมรับว่า กสท มีความสนใจ แต่ กสท จะไม่ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการมองหาพันธมิตรในการร่วมลงทุนเพื่อเข้าร่วมประมูล โดยยอมรับว่ามีต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูล และทำธุรกิจในไทย แต่การจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย คงไม่สามารถทำเองได้ เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จึงจำเป็นต้องร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอยู่แล้ว

“ส่วนเรื่องอุปกรณ์ 700 MHz ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่มีอุปกรณ์รองรับสำหรับใช้งาน ส่วนตัวมองว่า ถ้าเกิดการประมูลคลื่น 700 MHz จริงๆ อุปกรณ์ก็จะตามมาเอง และที่สหรัฐอเมริกาก็มีอุปกรณ์รองรับแล้ว”

สำหรับเหตุผลที่ กสท สนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา กสท ไม่มีความสนใจในคลื่นใดๆ ที่ กสทช. เปิดประมูลมาก่อนหน้านี้เลย เป็นเพราะ กสท มองว่า ในอนาคต คือ ปี 2568 คลื่นความถี่ที่ กสท ถือครองอยู่ คือคลื่น 850 MHz และคลื่น 1800 MHz จะหมดอายุลงตามใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช. ทำให้บริษัทจะไม่มีรายได้จากธุรกิจด้านนี้อีกต่อไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับแผนรายได้ในอนาคต กสท จึงจำเป็นต้องมีคลื่นในการทำธุรกิจต่อไป เพื่อนำมาให้บริการรวมกับเสาโทรคมนาคม สถานีฐาน โครงข่ายที่กสทมีอยู่แล้ว และเปิดให้เอกชนอย่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาเช่าใช้รวมกันมากกว่า 13,000 แห่ง และปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจดังกล่าวก็สร้างรายได้ให้แก่ กสท มาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ กสท ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องราคาเริ่มต้นในการประมูลด้วยว่าแพงหรือไม่

ส่วนปัจจัยเรื่องการควบรวมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด นั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจประมูลหรือไม่ นายณัฏฐวิทย์ ให้ความเห็นว่า กระบวนการควบรวมคงต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ กสท ต้องเดินหน้าเพื่อให้บริษัทมีรายได้ในอนาคตก็ต้องทำ ไม่จำเป็นต้องชะลอ

ก่อนหน้านี้ กสท โทรคมนาคม เพิ่งประกาศกำไรปี 2561 ว่าจะมีผลกำไรมากกว่า 13,000 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการ 11 เดือนของปี 2561 บริษัทมีรายได้ 58,731 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 45,038 ล้านบาท มีกำไร 13,675 ล้านบาท จากผลของการเป็นพันธมิตรกับดีแทค ในการให้เช่าเสาโทรคมนาคม ปีละ 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2562 กสท จะมีรายได้จากการลงนามเซ็นสัญญาระงับข้อพิพาทกับดีแทค อีกโดยเงินงวดแรกตามที่ดีแทค แจ้ง 6,840 ล้านบาท จากเงินทั้งหมด 9,510 ล้านบาทนั้น หากสามารถบันทึกเข้ามาในปีนี้ได้ ก็จะทำให้ กสท มีรายได้พิเศษเข้ามา 1 รายการ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 45,000 ล้านบาท เป็นมากกว่า 52,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กสท ยังคงเดินหน้าทำสัญญากับทรูในรูปแบบเดียวกับดีแทคด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น