xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอทีโผล่พ้นน้ำในวันที่ต้องถูกควบรวม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มนต์ชัย หนูสง
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีความพยายามมาโดยตลอดในการหาพันธมิตรเพื่อทำให้ทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่สร้างรายได้ให้องค์กร เพราะทีโอทีรู้ดีว่าเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีศักยภาพในการทำงานได้รวดเร็วเทียบเท่าเอกชน ด้วยระเบียบทางราชการหลายๆอย่าง มาถึง ณ วันนี้ กล้าพูดได้ว่าทีโอทีโผล่พ้นน้ำ แล้ว

ทว่าก็กลับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ต้องถูกยุบรวมเป็นองค์กรเดียวกัน เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ตามแผนที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปเพื่อให้บริษัทใหม่เกิดขึ้นภายในกลางปีนี้

***มีกำไรจากพันธมิตร

ช่วงเวลากว่า 2 ปี ของการดำเนินการเป็นพันธมิตรกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสในการทำคลื่น 2100 MHz ให้เกิดรายได้ ของทีโอทีนั้น แสนยากลำบากกว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆตามกระบวนการของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ความคาดหวังที่จะมีรายได้จากพันธมิตรของทีโอทีล่าช้า แต่เมื่อกระบวนการผ่านพ้นมาได้ การเป็นพันธมิตรคลื่น 2300 MHz กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ก็รวดเร็วขึ้น

ทำให้ทีโอทีมีรายได้รวมในปี 2561 ประมาณ 45,500 ล้านบาท ซึ่งมาจากพันธมิตร เอไอเอส และ ดีแทค 20,200 ล้านบาท ส่งผลให้ทีโอทีฟื้นขึ้นมามีกำไรสุทธิที่ 2,170 ล้านบาท จากที่เคยขาดทุนถึง 4,300 ล้านบาทในปี 2560

เรื่องนี้ ‘มนต์ชัย หนูสง’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ยอมรับว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นของทีโอทีมาจากพันธมิตรทั้งสองราย และในปีนี้กำไรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,490 ล้านบาท เพราะจะได้รับกำไรเต็มปีจากดีแทค และรายได้นี้จะอยู่ยาวนานไปถึงปี 2568 ในขณะเดียวกันทีโอทีก็จะลดต้นทุนในการลงทุนซื้อไฟเบอร์ในบริการบรอดแบนด์ลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่การเก็บเกี่ยวรายได้ คาดว่าภายใน 5-6 ปีธุรกิจบรอดแบนด์นี้จะกลับมามีกำไร

***รวมกันจุดแข็งเท่าเดิม ปัญหาเพิ่มขึ้น

ถึงตอนนี้ถามว่า ยังจำเป็นอยู่ไหมที่ทีโอทีจะต้องรวมกับ กสท โทรคมนาคม ‘มนต์ชัย’ ตอบเชิงเปรียบเทียบว่า ตอนนี้ทั้งทีโอทีและกสท โทรคมนาคม มีศักยภาพและธุรกิจหลักเหมือนกัน อีกทั้งยังมุ่งสู่การเพิ่มรายได้ด้านดิจิทัลเหมือนกัน ดังนั้น 1+1 มันไม่ใช่ 2 แต่มันเป็นแค่ 1.1 ทว่าสิ่งที่จะเป็น 2 คือ ปัญหาของทั้งสององค์กรที่จะมารวมอยู่ที่เดียวกันมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลที่ต้องรออัยการสูงสุดตอบกลับมาว่าการควบรวมจะทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวตนเองเชื่อว่าอัยการก็อาจจะไม่อยากยุ่ง เพราะต้องการให้เป็นเรื่องการตัดสินใจของศาลมากกว่า ซึ่งหากเรื่องนี้ไม่ชัดเจน มันเสี่ยง

ส่วนเรื่องการยุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชน เหมือนกับที่ กสท โทรคมนาคม ทำสัญญาร่วมกับ ดีแทค นั้น ทีโอทีก็ยินดีเจรจากับภาคเอกชน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ทีโอที ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม คุ้มค่า และไม่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ เช่น ข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคม เป็นต้น เพราะตอนนี้ทีโอทีไม่จำเป็นต้องนำเงินอนาคตมาใช้ ต่อไปอีก 5-6 ปีข้างหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นเช่นกัน

แต่หากเป็นข้อพิพาทระหว่าง ทีโอที กับ เอไอเอส เช่น ข้อพิพาทเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ จากมูลค่าหน้าบัตร (พรีเพด) ซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทานแนบท้ายในครั้งที่ 6 และ 7 มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ทีโอทีคงไม่มีใครกล้ายุ่งและไม่สามารถเจรจาได้

เรื่องคดียังไม่พอ ยังมีเรื่องวัฒนธรรมองค์กรอีก ที่ต้องใช้เวลา การควบรวมจึงต้องค่อยๆทำ กว่าจะสมบูรณ์น่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นทีโอทีจึงยังคงกำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรของปีนี้ต่อไป แม้จะต้องเริ่มผุดบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติภายในกลางปีนี้ก็ตาม

***ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล

ทีโอที วางวิสัยทัศน์ขององค์กรในการก้าวสู่ การเป็นผู้นำการให้บริการโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลของประเทศ ภายใต้ค่านิยม IoT ได้แก่ Innovation การสร้างสรรค์นวัตกรรม Operation Excellence การทำงานมุ่งความเป็นเลิศ และ Transparency & Integrity ความซื่อสัตย์ โปร่งใส ภายใต้การทำงาน 3 เรื่อง คือ ปรับโครงสร้างต้นทุน,ปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นดิจิทัล และ ต่อยอดธุรกิจเดิม ส่งเสริมธุรกิจใหม่

ปรับโครงสร้างต้นทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลูกค้ายุคดิจิทัลด้วยต้นทุนที่ต่ำ ราคาถูก ควบคู่กับการเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ครอบคลุมกระบวนการทำงานทั้งก่อนและหลังการขาย การพัฒนาระบบรองรับการใช้งานผ่านมือถือ การปรับปรุงโครงข่าย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้นและเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของเส้นทางโครงข่ายใยแก้วนำแสงในเส้นทางหลัก รวมถึงปรับเปลี่ยนชุมสายโทรศัพท์ประจำที่เป็นระบบ IP Base เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพชุมสายเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานระยาวและรองรับการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลักเป็น 10 หลัก ตอบสนองนโยบายภาครัฐตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย

ทิศทางการดำเนินงานในปี 2562 ทีโอที มุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรจากภายในสู่ภายนอก เพื่อทำให้ ทีโอที เป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ที่สมบูรณ์แบบ โดยเริ่มจากการปรับวัฒนธรรมองค์กร และดำเนินโครงการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร จัดให้มีโครงการอบรมบุคลากรที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญในด้านโทรคมนาคมให้สามารถต่อยอดใช้ความสามารถในการปฏิบัติงานโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนมีการเปิดรับสมัครบุคลากรใหม่ที่มีคุณสมบัติพร้อมปฏิบัติงานในสภาพธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ดำเนินการปรับกระบวนการทำงานในรายละเอียดของเนื้องานให้เหมาะสม รองรับกับสภาพแวดล้อมในยุคดิจิทัล

ยกระดับต่อยอดธุรกิจเดิม ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมากว่า 60 ปี ทีโอทีมีการปรับตัวให้ธุรกิจเข้ากับสภาพสถานการณ์ในปัจจุบันโดยยกระดับบริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อสนับสนุนภาครัฐและภาคธุรกิจ และพัฒนาการบริการดิจิทัล (Digital Service) อันประกอบด้วย บริการ คลาวด์ เซอร์วิส, ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ และ ดาต้า อนาเลติก รวมถึงการให้บริการ ดิจิทัล โซลูชัน แพลทฟอร์ม ทั้งนี้ การยกระดับดังกล่าวช่วยให้ทีโอทีสามารถขยายธุรกิจรองรับการเติบโตของกลุ่มผู้ให้บริการในตลาดการแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ส่วนธุรกิจ ทีโอที โมบายล์จะมีการติดตั้งระบบ Wifi Calling เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ต่อเนื่องและลดค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่ง รวมถึงมีแผนการพัฒนาโครงข่าย 5G Infrastructure Sharing โดยการติดตั้ง ทดสอบ และเปิดให้บริการในพื้นที่เฉพาะด้วย

นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้เร่งพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ขององค์กร รวมถึงความพร้อมในการลงทุนเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศด้วยโครงการให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการ USO เป็นต้น รวมถึงโครงการภาครัฐอื่น ๆ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจเป็น Smart City เป็นต้น


แม้ว่าการลืมตาอ้าปากของทีโอทีได้เห็นผลแล้วในปีนี้ รวมถึงการมุ่งมั่นสร้างวิสัยทัศน์ในการปรับองค์กรให้อยู่รอดในการแข่งขันสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัลแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้การันตีได้ว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใดเข้ามาทำให้ทีโอทีต้องล้มอีกหรือไม่ เพราะความเชื่องช้าในการปรับตัวที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการเป็นเสือนอนกินมันไม่เวิร์ก ทำให้การควบรวมจึงอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของทีโอทีในตอนนี้แม้ว่าจะโผล่พ้นน้ำแล้วก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น