xs
xsm
sm
md
lg

ทีโอที เอ็มโอยู กนอ. พัฒนาระบบอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนอ.ผนึก กฟน.-ทีโอที-SME D Bank ร่วมเดินหน้าโครงการความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ทั้งระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พลังงานอัจฉริยะ ศูนย์การให้บริการด้านข้อมูลอัจฉริยะ และการสนับสนุนการให้บริการทางการเงินกับผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

นายสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเน้นการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดย กนอ. มีบทบาทในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค

ดังนั้น จึงได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับพันธมิตร 3 ฝ่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในการศึกษา “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Digital/Telecommunication) และบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)” ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ ก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต ทั้งในด้านการวางระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบให้บริการธุรกรรมทางการเงิน การใช้พลังงานอัจฉริยะที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการต่อยอดภาคการผลิต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของไทย ด้วยนวัตกรรมที่จะเชื่อมโยงความเจริญไปสู่ภูมิภาค”

สำหรับเป้าหมายของความร่วมมือในโครงการดังกล่าว กนอ. กฟน. ทีโอที และ SME Bank จะร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ทั้งในด้านการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) และการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับบริการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งในการวางระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบการสื่อสารไร้สาย รวมทั้ง Digital Solution Platform ที่ประกอบด้วยการให้บริการด้านการเก็บรักษาข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้ระบบศูนย์กลางการเก็บข้อมูล หรือ Data Center ด้วยรูปแบบการให้บริการในระบบต่างๆ อาทิ คลาวด์แพลตฟอร์ม (Cloud Platform) ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล สามารถตอบโจทย์การทำงานของธุรกิจได้เป็นอย่างดี Internet of Things หรือ IoT Platform เป็นการเชื่อมโยงข้อมูล ด้วยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน Cyber Security หรือระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันการเจาะข้อมูลเข้าสู่ระบบ Big Data หรือระบบศูนย์ข้อมูลกลางที่สามารถนำไปประมวลผล เพื่อประโยชน์การผลิต และวางแผน และ AI Platform หรือระบบประมวลผลอัจฉริยะ เป็นต้น

3.การสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางการตลาด การจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ควบคู่กับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค

ขณะที่นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า เป้าหมายของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทีโอที ต้องขอขอบคุณ กนอ. ธพว. และ กฟน. ที่ให้ความไว้วางใจ ทีโอที ในการที่จะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคมสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร และบุคลากร รวมถึงสนับสนุนด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลให้กับผู้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S-Curve โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค และรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transformation ด้วยการดำเนินงานที่ใช้ดิจิทัลเป็นฐาน และพัฒนาธุรกิจไปสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาขยายตลาดสร้างรายได้ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ กฟน. และ ทีโอที ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้า และการสื่อสารที่จะนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) อันจะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการจัดสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้า และการสื่อสารสำหรับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในนิคมอุตสาหกรรมให้สวยงามเป็นระเบียบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสาร และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กฟน. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับ กนอ. และ ทีโอที ซึ่งบทบาทของ กฟน. จากพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การร่วมกับ กนอ. พัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรม โดยศึกษาและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พลังงานทดแทน (Renewable Energy) การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมมีความทันสมัย ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตาม โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค พัฒนาอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) 2.อุตสาหกรรมการบิน และลอจิสติกส์ (AVIATION AND LOGISTICS) 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL) 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS) 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB)


กำลังโหลดความคิดเห็น