xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงภายใน 5 ปี เมื่อ 5G มา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วันที่ 18 ม.ค.2562 เวลา 11:00 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) ได้รับเชิญเพื่อบรรยายในฐานะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการบริการวิชาการคณะแพทย์ศาสตร์ประจำปี 2562 ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ในหัวข้อ “Technology disruption” โดยกล่าวว่า “5G, AI, Big Data และการวิเคราะห์ (analytics) จะพลิกผันรูปแบบอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมจะถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วภายใน 5 ปีจากนี้ ให้กลายเป็นโรงงานอัตโนมัติ (automation) ด้วยการที่ 5G จะไปควบคุมหุ่นยนต์ (Robot) และ sensor ในโรงงาน เป็นต้น และจะเกิดขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกัน จนทำให้แรงงานที่เราผลิตออกมาทำงานในรูปแบบดั้งเดิม ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งงานรูปแบบใหม่ในอนาคตได้อีกต่อไป ซึ่งอาชีพใหม่ที่เราไม่เคยเห็นกำลังจะเกิดขึ้น อาชีพเก่าหลายอาชีพกำลังจะจากไป ดังนั้น ประเทศจึงต้องเร่งให้มีการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถ (Reskill) ของแรงงานอย่างมากในทศวรรษนี้”

ขณะเดียวกัน 5G จะเข้ามาพลิกสถานการณ์ หรือเกิดการ “disruption” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังต่อไปนี้ (1) อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงจะพลิกโฉมเพราะ 5G ทำให้ VR และ AR เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ (cloud) ด้วยการหน่วงของเวลาที่ต่ำมาก จนทำให้มิติของเกม การเรียน และการฝึกอบรม เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมืออย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยการควบคุมและสั่งการเป็นไปอย่างเรียลไทม์ ซึ่งอุตสาหกรรมเกม esports กำลังจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเข้าถึงคนในยุค Gen Z และ Gen Alpha มากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอุปกรณ์สวมใส่ VR/AR กำลังจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีราคาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้กลายเป็นอุปกรณ์ส่วนตัว รวมไปถึงติดตั้งที่บ้าน และสถานที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วไป และจะทำให้ผู้สวมใส่สามารถรับชมวิดีโอคอนเทนต์ได้แบบอินเตอร์แอ็กทีฟด้วยประสิทธิภาพสูงอีกด้วย, (2) การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (autonomous driving) จะเกิดขึ้น โดย 5G จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากว่า การเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ การเชื่อมต่อรถยนต์กับรถยนต์ รถยนต์กับสิ่งของรถยนต์กับมนุษย์ มนุษย์กับสิ่งของ จะปรากฏขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเรียลไทม์จนทำให้ระบบเซ็นเซอร์ หรือ IoT ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้รถยนต์มองเห็นรถยนต์ และมองเห็นสิ่งรอบข้างหรือที่เรียกว่า การสื่อสารแบบ Vehicle to anything (V-to-X) ได้อย่างเหลือเชื่อ จนคาดการณ์ว่า ในปี 2035 ความชัดเจนของยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะปรากฏเป็นการทั่วไป และจะนำไปสู่การเกิดเมืองอันชาญฉลาด (smart cities) เพราะเนื่องจากสรรพสิ่งต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานได้อย่างอัตโนมัติ

ประเด็นต่อไป คือ (3) การผ่าตัดระยะไกล (Remote robotic surgery) จะปรากฏชัด โดย 5G จะยกระดับการแพทย์ และสาธารณสุข ในรูปแบบการรักษาทางไกล (telehealth) ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยและทดลองการผ่าตัดข้ามประเทศที่เกิดขึ้นจริงแล้ว และคาดว่าจะมีอุปกรณ์เชิงพาณิชย์เกิดขึ้นอย่างหลากหลายภายในปี 2020 นั่นหมายความว่า ในอนาคต การแพทย์จะเข้าถึงผู้คนทั่วโลก ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษยชาติดีขึ้นมาก เนื่องจากเทคโนโลยีจะเชื่อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับผู้ป่วย แม้ว่าจะอยู่คนละสถานที่กันก็ตาม, (4) สายการผลิตมีแต่หุ่นยนต์ (Production-line robotics) ซึ่งการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงเซ็นเซอร์เกิดขึ้นด้วยระบบ 5G ก็จะทำให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาแทนแรงงานในสายการผลิตในโรงงานอุตสากรรม ส่งผลกระทบให้โรงงานทำงานแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบ 5G สามารถทำให้ข้อมูลในเซ็นเซอร์ และแขนกลหุ่นยนต์ ทำงานร่วมกันได้ด้วยการส่งข้อมูล และคำนวณวิเคราะห์ได้อย่างเรียลไทม์ ดังนั้น 5G จะเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (workflow) ในองค์กรต่างๆ รวมไปถึงระบบซัปพลายเชนต่างๆ จะมีความรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงไปด้วยการทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้น 5G ถือได้ว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game-changer) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้สรุปว่า “ปรากฏการณ์ที่เราจะได้เห็นในปี 2019 ก็คือ การเริ่มวางโครงข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้การทำงานมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการทำงานผ่านระบบคลาวด์ (cloud) และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 5G ซึ่งจะทำให้ทีมในบริษัทสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาอีกต่อไป โดยบริษัทที่มีวัฒนธรรมรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถยอมรับการทำงานรูปแบบใหม่ได้ ก็จะมีความเสื่อมสภาพลง และจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรุ่นใหม่ จนจะทำให้องค์กรรูปแบบดั้งเดิมหลายองค์กรไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะในงานใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการที่องค์กรไม่สามารถปรับไปสู่ความยืดหยุ่น และไม่สามารถลดต้นทุน เพื่อที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อีกต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น