xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง 5 เทคโนโลยี ช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้
ประเด็นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะกลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากความพร้อมของเทคโนโลยี กำลังเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเร่งให้เกิดการปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 4 ขึ้นในภูมิภาคอาเซียนนี้

สิ่งที่น่ายินดีคือไทย ถือเป็นประเทศกลุ่มผู้นำในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อม และเตรียมตัวรับกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 แล้วต่อจากสิงคโปร์ ที่เริ่มเตรียมการตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย เริ่มมีการนำยุทธศาสตร์ 4.0 มาเป็นแผนของประเทศในช่วงปี 2017

ประกอบกับข้อมูลผลการศึกษาวิจัย เรื่อง "เร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอาเซียน: แผนปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต" (Accelerating 4IR in ASEAN: An Action Plan for Manufacturers) ของทางซิสโก้ (Cisco) ในการศึกษาความพร้อมของภูมิภาคอาเซียนในการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แสดงให้เห็นว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ร่วมกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่จะกลายเป็นกลุ่มผู้นำของอาเซียน ในการก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นในปีนี้

ในรายงานดังกล่าว ได้มุ่งเน้นศึกษาถึงโอกาส และปัจจัยหลักที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะช่วยส่งเสริมเติบโตทางเศรษฐกิจของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่พบว่าช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ สร้างรายได้ให้แก่ภูมิภาคนี้ถึง 6.7 แสนล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของจีดีพีภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ยังมีการคาดการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะสามารถเติบโตไปได้ถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญ ภายในปี 2028 หรือในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพียงแต่ในจุดนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าภูมิภาคอาเซียน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกราว 2.5 - 2.75 แสนล้านเหรีญ หรือคิดเป็น 35-40% ได้ เพียงแค่ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมการผลิต มีการลงทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution หรือ 4IR) มาใช้งาน
นาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ ให้ข้อมูลว่า มีการคาดการณ์ว่าทุกหนึ่งเหรียญสหรัฐ ที่ใช้ในภาคการผลิตนั้น จะมีการเพิ่มมูลค่าอีก 1.81 เหรียญเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสำหรับการจ้างพนักงาน และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีก 4 งาน ดังนั้นการเร่งปรับใช้เทคโนโลยี 4IR จะช่วยให้ภูมิภาคอาเซียนรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งปัจจุบันขึ้นอยู่กับกับค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ และทำให้ภาคธุรกิจนี้ยังคงเติบโต และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญคือ เมื่อมองในแง่ของการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการผลิต ไทย อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย ที่มีความได้เปรียบในเรื่องของขนาด และจำนวนประชากร ในการสร้างรายได้แก่ภูมิภาคนี้ โดยรายได้หลักๆของอุตสาหกรรมการผลิตในไทย มาจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ยาสูบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์

***แนวทางปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต 4.0

อย่างไรก็ตาม ภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น ทำให้ทางซิสโก้ ร่วมกับบริษัทวิจัย นำเสนอแนวทาง 6 ข้อที่องค์กรควรพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยประกอบไปด้วย 1.ให้ความสำคัญกับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ที่พิจารณาจากปัจจัยการขับเคลื่อนมูลค่าสำคัญของแต่ละรูปแบบการผลิต ไม่ว่าจะเป็น สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าชนิดพิเศษ สินค้าสำหรับคอนซูมเมอร์
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีน ซิสโก้

2.วางแผนการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เหมาะสม ด้วยการทำความเข้าใจวิธีการแก้ไขปัญหา ด้วยการเลือกหาโซลูชันที่เหมาะสม ไม่ตื่นเต้นไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น 3.นำร่องด้วยการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโซลูชัน เพื่อให้ได้โซลูชันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม


4.ร่วมงานกับพันธมิตรในอีโคซิสเตมส์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในระยะยาว เพื่อให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน 5.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น ทั้งการเชื่อมต่อ ระบบรักษาความปลอดภัย IoT ไปจนถึงการวางแผนทรัพยากร และการผลิตแบบครบวงจรและ6.รองรับการปรับเปลี่ยนอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับใช้เครื่องมือที่ช่วยเสริมศักยภาพ กลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมถึงความสามารถที่เฉพาะเจาะจง ดัชนีชี้วัด และการปรับเปลี่ยนกระบวนการโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง


"ส่วนสำคัญที่สุดคือบทบาทของภาครัฐในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต ที่จะกลายเป็นพื้นฐาน และตัวอย่างให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยการส่งเสริมเรื่องของบุคลากร การสร้างอีโคซิสเตมส์ที่สมบูรณ์เพื่อส่งเสริมการลงทุน"


***5 เทคโนโลยีเสริมอุตสาหกรรม

1.IoT (Internet of Things) จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เติบโต และมีการใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาปรับปรุงเรื่องของการเชื่อมต่อสินทรัพย์ เพื่อเก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ข้อมูล ไปจนถึงปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


2.ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องการนำมาใช้งานคู่กับโซลูชัน เพื่อเรียนรู้ ตัดสินใจ ประมวลผล เพื่อช่วยยกระดับงานอัตโนมัติต่างๆ โดยเฉพาะในโรงงานผลิตที่นำไปใช้ จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น


3.ระบบการพิมพ์ 3 มิติ จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต่อกระบวนการผลิตแบบเดิม ทำให้โรงงานผลิตสามารถสั่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ไปจนถึงการทำสินค้าเฉพาะบุคคลได้มากขึ้น


4.หุ่นยนต์ล้ำสมัย ที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ชนิดผิวนิ่ม ยานพาหนะไร้คนขับ และหุ่นยนต์รีโมท ที่จะเข้ามาช่วยลดการพึ่งพาแรงงาน และ 5.อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ทั้ง AR VR ต่างๆ ที่จะเข้ามาผสมผสานเครื่องจักรกับบุคลากร ให้รองรับงานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น


เมื่อเห็นถึงแนวทาง และการนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้เหมาะสม จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถ เริ่มต้นวางแผนทั้งในรูปแบบของระยะสั้น ในการปรับปรุงองค์กรเตรียมรับยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ไปจนถึงการวางแผนในระยะยาวเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและอินโดจีน ซิสโก้ กล่าวว่า ในส่วนของซิสโก้ เมื่อเห็นแนวโน้มการเติบโตจากอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งทีมงานขึ้นมาดูแลอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็เข้าไปร่วมมือกับภาครัฐ ในส่วนของสำนักงานอุตสาหกรรม ในการให้ความรู้เรื่องของอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมไปกับพัฒนา ตัวอย่างโครงการ กลุ่มผู้บุกเบิกในการนำเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม 4.0 ที่เริ่มมีการนำไปใช้งานแล้ว


"ภายในปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าที่ลงทุนเทคโนโลยีเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบที่ดีต่อไปในอนาคต เพียงแต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการมีโครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มที่รองรับ ที่จะช่วยให้เกิดการนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต้องเป็นการร่วมมือของทุกภาคส่วน"


กำลังโหลดความคิดเห็น