xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 พันธมิตรเทคโนโลยีที่นำมาใช้ใน “ทรู ดิจิทัล พาร์ค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ซิสโก้ เอปสัน ไมโครซอฟท์ และริโก้ คือ 4 พันธมิตรที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค นำเทคโนโลยีของแต่ละแบรนด์ มาเติมเต็มให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ทั้งการทำ Heat Map, ระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อเข้าอาคาร, โปรเจกเตอร์อัจฉริยะ และระบบสำนักงานที่ช่วยให้สตาร์ทอัปทำงานได้เร็วขึ้น

นายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (TDPK) กล่าวว่า ระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัปจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้น ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำเป็นต้องนำบริการด้านอื่นๆ มาช่วยเสริม เพื่อให้สตาร์ทอัปทำงานได้รวดเร็วขึ้นในหลากหลายแง่มุม ไม่ใช่เฉพาะการส่งเสริมเฉพาะธุรกิจเท่านั้น

โดยตามที่คาดการณ์ไว้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเริ่มเปิดให้ผู้เช่าเข้าใช้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัปที่ให้ความสนใจเข้ามาอยู่ในทรู ดิจิทัล พาร์ค แล้วราว 85% หรือราว 60-70 ราย ในจำนวนนี้มีการเซ็นสัญญาแล้วหลักสิบราย

ทั้ง 4 เทคโนโลยีจาก 4 แบรนด์ไอทีที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค จับมือเป็นพันธมิตร ประกอบไปด้วย “ซิสโก้” ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการติดตั้งระบบเครือข่าย การทำ Smart Building เพื่อควบคุมแสงสว่างภายในอาคาร พร้อมการทำ Heat Map ในการรวบรวมข้อมูลการใช้งานพื้นที่ต่างๆ ภายในโครงการ

ถัดมา “ไมโครซอฟท์” จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในระบบจดจำใบหน้า เพื่อควบคุมการเข้า-ออกอาคารโดยอัตโนมัติ “เอปสัน” ที่นำเลเซอร์โปรเจกเตอร์ความสว่างสูง และรุ่นอินเทอร์แอ็กทีฟใหม่ล่าสุดเกือบ 50 เครื่อง มาติดตั้งให้ใช้งาน สุดท้าย คือ “ริโก้” ที่เข้ามาเสริมในเรื่องของระบบสำนักงานอัจฉริยะ และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชัน

“สิ่งที่ทรูดิจิทัล พาร์ค ทำคือ การเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชันที่ผู้เช่าแต่ละรายจะได้รับ Token ในการเข้าใช้ห้องประชุมกว่า 148 ห้อง ในส่วนของพันธมิตรก็จะได้โอกาสในการโชว์เคส เพื่อสร้างโอกาสสู่การนำไปใช้งานจริง”

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวเสริมว่า ในยุคนี้เน็ตเวิร์กจะเน้นเรื่องการเชื่อมต่อคน และสิ่งของ บนพื้นฐานความปลอดภัยระดับสูง ทำให้ตอนนี้ เข้าสู่ยุคของไฮเปอร์คอนเนกทิวิตี ที่เมื่อเชื่อมต่อแล้ว จะสามารถรู้ตำแหน่งของคน และสิ่งที่เชื่อมต่อ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ทำ Location Tracking เพื่อบอกตำแหน่งทิศทาง และสถานะของสิ่งของเหล่านั้นได้ ภายใต้เทคโนโลยี Connected Mobile Experence

“เมื่อรู้ตำแหน่งของคน และสิ่งของแล้ว ก็จะสามารถนำไปเชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ได้มากมาย ที่สำคัญ คือ ต้องมีการปกป้องข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดภัยคุกคามที่จะเข้าถึงข้อมูลการใช้งานต่างๆ ภายในพาร์ก ด้วยการนำระบบซีเคียวริตีระดับสูงมาใช้งาน”

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและการพาณิชย์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ทุกคนต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีจะทำอะไรได้ แต่ควรโฟกัสว่าเทคโนโลยีควรทำอะไร เพื่ออำนวยความสะดวก และเสริมให้คนมีความสามารถมากขึ้น

“การที่อุปกรณ์ในการทำงานเริ่มเปลี่ยนไป จากพีซีกลายมาเป็นโน้ตบุ๊ก และเป็นโมบายดีไวซ์ ทำให้การทำงานได้ทุกที่ นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างของคนวัยทำงานรุ่นใหม่ ที่ใช้ชีวิตไม่เหมือนกับสมัยก่อน และมองว่า ความซับซ้อน ความยุ่งยากของเทคโนโลยี ทำให้กลายเป็นอุปสรรค”


กำลังโหลดความคิดเห็น