xs
xsm
sm
md
lg

5G กับ ‘โรงงานไร้คน’ และ ‘รถไร้คนขับ’ / พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เทคโนโลยี 4G ที่เราคิดว่าทันสมัยแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์กลับคิดว่า มันยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะทำให้เกิดการใส่แว่นเพื่อมองเห็นภาพ 3D แบบ realtime และยังไม่สามารถบังคับหุ่นยนต์ให้ทำงานในโรงงานผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติได้ ไปจนถึงยังไม่สามารถทำให้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้

มาวันนี้ ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์กำลังจะเป็นจริงแล้ว เพราะเทคโนโลยี 5G ทำให้การส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้ในเสี้ยววินาที แถมทั้งยังลดเวลาตอบสนองในการติดต่อระหว่างคนและสิ่งของได้สั้นลงอย่างมาก จนเราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในระยะห่างกันถึง 100 กิโลเมตร ได้อย่าง realtime

นั่นจึงหมายความว่า เราสามารถมองเห็นภาพเคลื่อนไหวแบบ 3D ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยู่ ณ สถานที่นั้น ด้วยการมองผ่านแว่น VR (Virtual Reality) และเราสามารถติดต่อและบังคับควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกลข้ามประเทศได้เหมือนเราอยู่ใกล้ตัวหุ่นยนต์ จนทำให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติโดยปราศจากมนุษย์ ไปจนถึงการที่รถยนต์สามารถขับได้ด้วยตัวเอง เพราะหากรถยนต์ทุกคันเชื่อมกันผ่าน 5G จนมองเห็นตำแหน่งกันตลอดเวลาแบบ realtime และยังมีกล้อง 3D รอบตัวรถยนต์ ที่ทำให้รถยนต์มองเห็นภาพซึ่งกันและกันบนถนน ก็จะทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ดีกว่า และปลอดภัยกว่าที่จะให้มนุษย์ขับในที่สุด

เทคโนโลยี 5G ที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐาน IMT-2020 โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ International Telecommunications Union (ITU) มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่ต้องการให้ระบบ 5G เป็นการสื่อสารที่พลิกวงการโทรคมนาคมด้วยการก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตแบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยขีดความสามารถในระดับ Gb/s ซึ่งสูงกว่าระบบ 4G ถึง 10-100 เท่า

การเชื่อมโยงหุ่นยนต์และยานยนต์ที่จะทำให้มันทำงานแบบอัตโนมัติได้นั้น ต้องอาศัยเซ็นเซอร์จำนวนมหาศาล จึงทำให้ระบบ 5G ต้องใช้แถบกว้างความถี่ (Bandwidth) ถึง 100MHz จึงจะเพียงพอต่อการจัดการ Big data เหล่านั้นที่ส่งไปมากับหุ่นยนต์และรถยนต์ และการเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลอย่าง realtime จึงต้องอาศัยระบบคลาวด์ที่ต้องเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ดังนั้น การก้าวสู่ระบบ 5G จึงเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลก จนทำให้ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกถึงต้องเผชิญต่อการ disruption อย่างน่าตื่นเต้นและประหลาดใจในทศวรรษต่อจากนี้ไป

และเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อ 5G ที่จะเริ่มต้นปูพรมทั่วโลกตั้งแต่ปี 2020 นี้เป็นต้นไป เราก็จะได้พบกับบริษัทเล็กๆ แต่ชาญฉลาด และมีพนักงานในรุ่น Gen Alpha และ Gen Y จำนวนน้อย มีการเชื่อมต่อกับผู้คนและองค์กรจำนวนมหาศาลอย่าง realtime จนเกิดปรากฏการณ์ธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ให้บริการดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่าบริษัทแบบดั้งเดิม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามอย่างเช่น คนทำงานในโรงงาน และพนักงานออฟฟิศที่มีทักษะที่เหมาะสมต่อตลาดแรงงานนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่? พวกเขาเตรียมพร้อมรับมือต่อสภาพการจ้างงานที่มาพร้อมกับคำว่า "ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Industry 4.0)" แล้วหรือยัง? ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์รูปแบบใดที่ประเทศต่างๆ ควรนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานในศตวรรษที่ 21? จึงเป็นความท้าทายของผู้นำและผู้บริหารในวันนี้ เราจึงต้องการผู้นำและผู้บริหารที่เห็นอนาคต และเตรียมการเพื่ออนาคตได้อย่างชัดเจน

————————-
บทความโดย
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
https://link.medium.com/vnV4JVinWR
30 พ.ย.61


กำลังโหลดความคิดเห็น