xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ลงนามญี่ปุ่นทดสอบ 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช.ลงนามรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันศึกษาและทดสอบมาตรฐานคลื่นและอุปกรณ์ 5G หลังจากนั้นจะเดินหน้าลงนามกับจีน และยุโรป เพื่อหามาตรฐานที่ชัดเจน คาดเริ่มทดสอบได้ปีหน้า เพื่อให้เปิด 5G ได้ภายในปี 2563

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์กร The Fifth Generation Mobile Communication Promotion Forum (5GMF) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกัน หรือ LoI (Letter of Intent) โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และศาสตราจารย์กิตติคุณ Susumu YOSHIDA ประธาน 5GMF ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ การร่วมลงนามดังกล่าว เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ในทั้ง 2 ประเทศ รูปแบบการประยุกต์ใช้งานรูปแบบใหม่ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงประสบการณ์ในการทดสอบภาคสนามเพื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคก่อนการลงโครงข่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้กับประเทศไทยได้

กรอบความร่วมมือในการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G, วิเคราะห์แนวทางการใช้งานของเทคโนโลยี 5G, หารือแนวทางการพัฒนามาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ในอนาคต, หารือในประเด็นคลื่นความถี่สำหรับ 5G, แลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างรูปแบบการบริการผ่านโครงข่าย 5G, ร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และผลักดันมาตรฐาน 5G ในเวทีนานาระดับชาติ และจัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการดำเนินการ และกิจกรรมที่ส่งเสริมเทคโนโลยี 5G ในทั้ง 2 ประเทศ ให้ภาคประชาชนได้รับทราบ

ด้าน นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. คาดว่า กิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G และการพัฒนาการประยุกต์ใช้งานรูปแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยสามารถก้าวไปพร้อมกับกลุ่มประเทศผู้นำ และผู้ผลิตเทคโนโลยี 5G ได้


สำหรับการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันในครั้งนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องกับการประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 ซึ่งจัดโดย กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC) และ 5GMF ที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และการทดสอบภาคสนาม และการประยุกต์ใช้งานที่เกี่ยวข้องก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น

พร้อมทั้งร่วมกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในประเทศญี่ปุ่น ภายในปี 2563 ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายไว้

ขณะเดียวกัน ผลจากการประชุมครั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้รับทราบความคืบหน้า และถอดบทเรียนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในภาคปฏิบัติจากกลุ่มประเทศผู้นำในการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยี 5G และผลการทดสอบภาคสนามของเทคโนโลยี 5G ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคม บริษัทผู้ผลิต ภาครัฐบาล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจัดทำการทดสอบภาคสนามของเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยต่อไป

“นอกจากนี้เราก็จะเซ็นเอ็มโอยูกับจีน และยุโรป ด้วย เพราะเรื่อง 5G ไม่ใช่แค่เรื่องโทรคมนาคม แต่เราต้องดูเรื่องคลื่นว่าต้องไม่กวนกับคลื่นใคร และอุปกรณ์ด้วยว่าจะรองรับได้หรือไม่ จะใช้กับแอปพลิเคชันไหน ซึ่งแต่ละแอปพลิเคชันมีความหลากหลาย เพราะ 5G มันเกี่ยวข้องกับ IoT เรื่อง 5G แต่ละประเทศต่างมีมาตรฐานที่ต่างกัน สุดท้าย เรื่องนี้จะกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องใช้เวลา คาดว่าภายในปีหน้าจะชัดเจนและปี 2563 จะเปิดบริการ 5G ได้”

ด้านนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวเสริมว่า การเปิดให้บริการ 5G จะเป็นการเปิดให้บริการเฉพาะที่ที่จำเป็น เช่น ญี่ปุ่น จะใช้ในงานโอลิมปิก ในปี 2563 ดังนั้น โอเปอเรเตอร์ไม่ควรมองถึงเรื่องกำไรเพียงอย่างเดียว



ในการประชุมดังกล่าว ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ NTT Docomo, KDDI และ Softbank ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานในการทดสอบระบบ 5G เช่น KDDI และ NEC ดำเนินการทดสอบการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรก่อสร้าง และห้องควบคุม ทำให้สามารถควบคุมเครื่องจักรระยะไกลแบบ Real-time ซึ่งช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างน้อย 15% และ Softbank นำระบบ 5G มาใช้ในการบริหารขบวนรถขนส่งสินค้า logistics ทำให้รถสินค้าสามารถสื่อสารระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้คลื่นความถี่ย่าน 4.5 GHz (4.4-4.9 GHz) และ 28 GHz (27.5-29.5 GHz) เป็นคลื่นความถี่หลัก รวมทั้งย่าน 3.4-3.6 GHz

ทั้งนี้ NTT Docomo ทดลองให้บริการในไตรมาส 3/62 และกำหนดเปิดตัวใช้งานเชิงพาณิชย์ในปี 2563 พร้อมกับ Softbank และ KDDI ที่กำหนดเปิดตัวใช้งานเชิงพาณิชย์ในปี 2563

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจาก กสทช. ยังได้เข้าร่วมการประชุม 3GPP Summit ซึ่งเป็นเวทีหารือ เพื่อกำหนดมาตรฐานในอนาคต เพื่อต่อยอดเทคโนโลยี 5G และงานนิทรรศการ CEATEC JAPAN 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี 5G และ IoT (Internet of Things)




กำลังโหลดความคิดเห็น