xs
xsm
sm
md
lg

“ฐากร” ลั่น ผุด 5G พร้อมญี่ปุ่น ปี 63 ชี้ประมูลคลื่นต้องราคาถูกจูงใจเอกชนลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช. เผยการประมูล 5G ต้องราคาถูก เหตุโอเปอเรเตอร์ยังไม่สนเทคโนโลยีนี้ มั่นใจคลื่นที่มีอยู่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ดังนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดไม่เช่นนั้น จะตกขบวน 5G ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเตรียมสนับสนุนเงินสำหรับแรงงานที่จะตกงานจากการมาของเทคโนโลยีด้วย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น กำหนดการเกิด 5G ในปี 2563 ส่วนประเทศไทยก็ต้องเร่งให้เกิดพร้อม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคนที่จะทำให้เกิดคือรัฐบาล ไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ เพราะไม่มีใครต้องการ5G โอเปอเรเตอร์เห็นว่า คลื่นที่มียังสามารถให้บริการกับผู้บริโภคได้อยู่ และเพียงพอ ไม่ได้ต้องการความเร็วระดับ 5G จึงคิดว่าไม่ได้ประโยชน์ในการให้บริการที่จำเป็นจะต้องลงทุนสูง

ดังนั้น ภาคองค์กรธุรกิจมากกว่าที่ต้องการความเร็วสูงระดับ 5G ในการใช้บริการ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสนับสนุน กระตุ้นให้โอเปอเรเตอร์มาสนใจลงทุน ราคาประมูลคลื่นต้องถูก และต้องหามาตรการในการช่วยลดภาระให้กับโอเปอเรเตอร์ เช่น มีมาตรการทางภาษี

นายฐากร กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ก็จริง แต่สิ่งที่ทั่วโลกกังวลก็มี นั่นคือ การตกงานของแรงงานคน ที่จะถูกเทคโนโลยีมาแทนที่ ซึ่งหลังจากการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) พบว่า การเข้ามาของ 5G นั้น คนจะตกงาน 10-30% แม้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคน แต่กับคนอายุมากจะสามารถทันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นหรือไม่ รัฐบาลต้องหาแนวทางในการดูแลรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้

เมื่อ 5G เข้ามาในไทยจะกระทบภาคการผลิตในไทย 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหมวดใช้แรงงานถึง 30-40% ในการผลิต 2. ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ และ 3. ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลงเช่นกัน เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีในการรักษาทางไกลได้ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็จะโดนกระทบเช่นกัน

“หาก 5G ไม่มา ก็จะกระทบต่อการส่งออก แต่เมื่อมาแล้ว ก็กระทบแรงงาน เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรับมือกับเรื่องนี้ คนอายุมาก จะตามเทคโนโลยีไม่ทัน ที่ผ่านมา กสทช.ก็ใช้เงิน USO ในการพัฒนาทักษะให้บุคลากรเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้บรรจุเรื่องการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ลงในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ด้วย เรื่องนี้ต้องคิดพร้อมกัน เพราะทั่วโลกก็กังวล เราก็ต้องรับมือให้ได้” นายฐากร กล่าว

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.จะช่วยสนับสนุนเรื่องการประมูลคลื่นความถี่โดยมีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่หลายคลื่นพร้อมกัน ทั้งย่านความถี่ ต่ำ กลาง สูง โดยประเมินราคาจากทั่วโลก ซึ่ง กสทช.ยังมีเวลาคิดอีก 2 ปี

ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ประมูล 5G ในรูปแบบที่นำคลื่นความถี่ย่านสูง คือ คลื่นความถี่ 28 GHz มาประมูลพร้อมกับคลื่นความถี่ย่านกลาง คือ คลื่นความถี่ 3.5 GHz โดยราคาย่านสูง ราคาอยู่ที่ 6,100 ล้านบาทต่อ800 MHz และย่านกลาง ราคาอยู่ที่ 36,000 ล้านบาทต่อ100 MHz

“5G ไม่ควรมีโอเปอร์เรเตอร์เป็นเจ้าของ เพราะคลื่นที่ใช้ต้องผสมผสานกัน คนประมูลก็เป็นคนมีใบอนุญาตประเภทที่สาม การประมูล ต้องกำหนดราคาที่ถูก ซึ่งต้องศึกษาราคาอีกครั้งหนึ่ง ไม่เช่นนั้น จะไม่มีใครมีเงินลงทุน เท่ากับว่าเราจะไม่ทันประเทศอื่น เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องแทรกแซง เพราะอินเทอร์เน็ตจะเป็นเหมือนน้ำ ไฟ มันจะแพงไม่ได้”

ส่วนเรื่องผลกระทบด้านแรงงาน อาจจะหาแนวทางการเก็บภาษีกับหุ่นยนต์มาช่วยแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วจะนำแรงงานกลับเข้าไปทำงานได้อย่างไร มันจะเกิดแรงงานใหม่ๆ ขึ้นมา ที่คาดไม่ถึง รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ประเทศจีนใช้ ซึ่งเขามีแนวคิดเรื่องนี้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น