xs
xsm
sm
md
lg

เจมาร์ทร่วมวงคลัสเตอร์หุ่นยนต์ จับมือฟีโบ้-จันวาณิชย์เซ็น MOU กับ UBTech จากจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (Institute of Field Robotics: FIBO) หรือฟีโบ้
หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมจัดแพกเกจอัดฉีดให้บริษัทด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ หันมาลงทุนในประเทศไทย ล่าสุด “ฟีโบ้” ดึง “เจมาร์ท” และ “จันวาณิชย์” ลงนาม MOU กับบริษัทยูบีเทค (UBTech) เบื้องต้น ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณสำหรับความร่วมมือนี้ ระบุเพียงว่า ฟีโบ้จะเป็นผู้สร้าง ขณะที่ UBTech จะพัฒนาให้เป็นแมส โดยที่จันวาณิชย์ จะอัดฉีดระบบวิเคราะห์ใบหน้า คาดว่าจะเริ่มใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจค้าปลีกไทยได้ช่วงปีหน้า ด้านเจมาร์ท มั่นใจว่า ตลาดหุ่นยนต์จะเติบโตก้าวกระโดดตามรอยโทรศัพท์มือถือ

นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี (Institute of Field Robotics : FIBO) หรือ ฟีโบ้ เปิดเผยว่า ภาวะโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ ครม.เร่งอนุมัติให้จัดตั้งคลัสเตอร์หุ่นยนต์ 2 ส่วน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวตามทันประเทศอื่น คือ ส่วนหุ่นยนต์เพื่อการผลิต และส่วนหุ่นยนต์เพื่อภาคบริการ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ UBTech ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว โดยมีเจมาร์ท และจันวาณิชย์ เป็นพันธมิตรฝั่งไทย เพื่อผลักดันให้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในเอกชน

“ธุรกิจในอนาคตจะเข้าสู่ยุคที่เครื่องจักรคุยกับเครื่องจักร ดังนั้น ใครที่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในวงจรนี้ ก็จะเสียโอกาส วันนี้ประเทศไทยนำเข้าหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติราว 2 แสนล้านบาท ส่งออกราว 3-4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่าขาดดุลมากกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท จุดนี้ถือเป็นตลาดในประเทศที่มีโอกาสรออยู่”
จากซ้าย อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา,ชิต เหล่าวัฒนา และ ธนพล กองบุญมา
ความพิเศษของการเซ็น MOU นี้ คือ การเป็นเครื่องหมายว่า เจมาร์ทกำลังจะขยายธุรกิจสู่การจำหน่ายหุ่นยนต์ในประเทศไทย ประเด็นนี้ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART มั่นใจว่าจะเริ่มธุรกิจจำหน่ายหุ่นยนต์ได้อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า แต่จะเพิ่มยอดขายได้เร็วเท่าใดขึ้นอยู่กับการพัฒนา

“เราเชื่อว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างไร ตลาดหุ่นยนต์ก็จะเป็นอย่างนั้น 20 ปีที่แล้ว ยอดขายโทรศัพท์มือถือในไทยอยู่ที่ปีละ 2 แสนเครื่อง แต่ไม่กี่ปีผ่านไป จากยอดขายหลักแสนก็กลายเป็น 20 ล้านเครื่อง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ ถ้าเราทำเป็นรายแรก ก็จะเข้าถึงตลาดได้”

เบื้องต้น เจมาร์ทวางแผนนำหุ่นยนต์มานำร่องใช้งานใน 5 สาขา หุ่นยนต์ที่เจมาร์ทจะทำตลาดประกอบด้วยหุ่นรุ่นใหญ่สำหรับธุรกิจ และหุ่นตัวเล็กสำหรับใช้ในบ้าน เบื้องต้น ยังไม่วางเป้าหมายยอดขายเนื่องจากต้องทดลองนำมาวางจำหน่ายก่อน คาดว่ามาร์จินการขายหุ้นจะอยู่ในระดับเดียวกับสินค้าทั่วไปคือราว 30-40% ของราคาขาย ตัวเลขนี้จะชัดเจนเมื่อเริ่มธุรกิจแล้ว

ผู้บริหารเจมาร์ท ย้ำว่ายังไม่มีการกำหนดราคาจำหน่ายหุ่นยนต์ในขณะนี้ แต่รุ่นใหญ่จะมีราคาหลักล้าน รุ่นสำหรับคอนซูเมอร์ราว 3-4 หมื่นบาท ขณะที่ภาคการศึกษาต้องมีราคาไม่ถึงหมื่นบาท ทั้งหมดนี้รวมการพัฒนาระบบให้รองรับภาษาไทย บนระบบวิเคราะห์ใบหน้าของคนไทยแล้ว

ระบบวิเคราะห์ใบหน้าจะเป็นหน้าที่หลักของจันวาณิชย์ บริษัทที่มีดีกรีเป็นผู้ให้บริการระบบอีพาสปอร์ตของประเทศไทย ประสบการณ์การให้บริการประชาชนในหลายด้าน ทำให้จันวาณิชย์ เชี่ยวชาญด้านระบบวิเคราะห์เสียง ภาพ และใบหน้า การเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้กับหุ่นยนต์ จะช่วยให้เกิดประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น รองรับทั้งรีเทล การศึกษา และการเป็นเพื่อนแก้เหงาที่บ้าน

สำหรับ UBTech จุดเด่นของบริษัทไต้หวันรายนี้ คือ การทำธุรกิจหุ่นยนต์ส่วนตัว และหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจ รองรับการใช้งานทั้งที่บ้าน, ห้างสรรพสินค้า, สนามบิน, ร้านค้าจะสามารถใช้หุ่นยนต์แนะนำสินค้าที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน สามารถขยายผลแคมเปญได้แบบเฉพาะกลุ่ม และให้หุ่นยนต์เก็บฟีดแบ็กได้ รวมถึงการนำเอามาใช้เป็นกล้องวงจรปิด

ประเด็นนี้ ทาโร่ เลิศวัฒนารักษ์ ซีอีโอบริษัทเจเวนเจอร์ ยอมรับว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากเอกชนไทยนำหุ่นยนต์มาปรับใช้กับหน้าร้านแล้ว คือ หุ่นยนต์ในเครือจะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้หากมีกรณีที่ใครเดินทางไปโรงพยาบาลก่อนจะซื้อของที่ร้านค้า หุ่นยนต์ที่ตั้งทั้ง 2 สถานที่ จะจดจำใบหน้าคนนั้นได้ เพราะใช้ฐานข้อมูลจากคลาวด์เดียวกัน

“ระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลก เพราะมีใช้งานอยู่แล้ว แต่นี่จะเป็นการเริ่มต้นเก็บข้อมูล และสร้างฐานข้อมูลคลาวด์ เพื่อระบบ AI ของเจมาร์ท” ทาโร่ ระบุ “เจมาร์ทมีเป้าหมายจะจัดตั้งคลาวด์ เป็นแพลตฟอร์ม AI ในประเทศ”

หากโครงการนี้ขยายตัว และสามารถรวบรวมข้อมูลได้มากพอสร้างเป็นระบบ AI คาดว่าจะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาดูแลบริหารจัดการการประยุกต์ใช้ข้อมูลโดยเฉพาะ จุดนี้ไม่มีการกำหนดเวลาแต่คาดว่าอีกไม่นานนับจากที่หุ่นเริ่มวางตลาด
ส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ UBTech
การเปิดตลาดหุ่นยนต์ของเจมาร์ท เกิดขึ้นเพื่อต้องการตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการวางแผนลดบุคลากรลง จุดนี้เจมาร์ทให้ข้อมูลว่า ปกติแล้ว ค่าแรงพนักงานคิดเป็นต้นทุนราว 20-30%

นอกจากนี้ พันธมิตรทุกรายที่เซ็น MOU จะได้รับประโยชน์จากแพกเกจอัดฉีดของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดตลาดหุ่นยนต์ในประเทศไทย ด้วยการลดหย่อนภาษี กระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมถึงสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกลุ่มผู้ให้บริการ เนื่องจากรัฐบาลไทยมองว่าหุ่นยนต์จะเป็นอนาคตในที่ไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย ยุคที่ 20% ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงวัย ค่าแรงจะสูงขึ้น จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานบริการแน่นอน

ภาพรวมยอดขายของเจมาร์ทในปีนี้ คาดว่าจะเท่ากับปีที่แล้ว คาดว่าหลายธุรกิจของเจมาร์ท จะมีความชัดเจนขึ้นในปีหน้า ปัจจุบัน เจมาร์ทมี 206 สาขา ปี 2018 มีทั้งการเปิดและปิดสาขา ปลายปีมีแผนเปิดร้านเพิ่มรวม 10 สาขา งบประมาณราวสาขาละ 2 ล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2018 จะมีจำนวนสาขา 216 สาขาทั่วไทย.


กำลังโหลดความคิดเห็น