xs
xsm
sm
md
lg

แจ้งเกิด “ย่านไซเบอร์เทคกรุงเทพ” ยังไม่ฝันเป็นซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ควงแขนทรู ดิจิทัล พาร์ค ยกระดับความร่วมมือเฟส 2 ดันย่านปุณณวิถีเป็นย่านไซเบอร์เทคกรุงเทพ หรือบางกอกไซเบอร์เทคดิสทริกต์ (Bangkok CyberTech District) คาดภายใน 3 ปี จะมีสตาร์ทอัปทั้งไทยและต่างชาติรวมตัวภายในย่านฯ ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ก่อเกิดเงินสะพัด 3,500 ล้านบาท เบื้องต้น NIA เตรียมนำโครงการนี้ไปโปรโมตในงานอีเวนต์ต่างชาติ เพื่อบอกโลกว่า วันนี้กรุงเทพฯ เปลี่ยนไป ด้านทรู ยังไม่ฝัน “ปุณณวิถี” เทียบชั้นซิลิคอนวัลเลย์ แต่หวังให้เป็นจุดหมายที่สตาร์ทอัปต่างชาติอยากมาหากคิดจะขยายธุรกิจ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มั่นใจว่า Bangkok CyberTech District จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม หรือเกมเชนเจอร์ของประเทศไทย เนื่องจากระบบเศรษฐกิจใน Bangkok CyberTech District สะท้อนถึงแพลตฟอร์ม เพื่อการทำงานร่วมกันที่เปิดกว้างทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริงระหว่างทั้งรัฐ และเอกชน

“ผมมองว่าจะไม่หยุดอยู่เท่านี้ แต่จะเป็นแม่ข่ายที่ต้องขยาย ไม่ได้กระจุกไว้ที่เดียว ต่อไปจะกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของไทย ปีหน้า เราจะเป็น “สตาร์ทอัปเนชัน” ให้ได้ ย่านฯ นี้จะเป็นตัวอย่างรูปธรรม ซึ่ง NIA จะทำให้เห็นว่า พื้นที่นี้ไม่ได้เป็นแค่ที่ตั้งออฟฟิศ แต่มีการแลกเปลี่ยน และมีโครงสร้างอื่นร่วมกัน”

สิ่งที่ NIA และทรู ดิจิทัล พาร์ค จะร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การต่อยอดโครงการที่เริ่มต้นมาแล้วนาน 1 ปี โดย NIA จะนำพาหลากหลายบริการและสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐมาไว้ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านปุณณวิถี (ใกล้เอกมัย ปทุมวัน) ขณะที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะอำนวยสถานที่ ทั้งสถานที่ตั้งสำนักงาน และรองรับความต้องการจัดงานอีเวนต์ หรือการอบรมที่เน้นสตาร์ทอัปเป็นกลุ่มเป้าหมาย

“กูเกิลก็มาแล้ว (ศูนย์บ่มเพาะทักษะดิจิทัลของกูเกิล Academy Bangkok-A Google Space) เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เปิดศูนย์แล้ว มีการจับมือกับกลุ่มทุน มีหน่วยงานรัฐมาตั้ง ทั้งหมดจะสนับสนุนให้ย่านนี้ตอบโจทย์สตาร์ทอัปได้ครบวงจร”

NIA และทรู ดิจิทัล พาร์ค เชื่อว่า ความพร้อมและครบวงจรในย่าน Bangkok CyberTech District จะดึงดูดเหล่าสตาร์ทอัป นักลงทุน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน และดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทั้งหมดนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ “การส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพื้นที่” คล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ ที่ทำให้เกิดบริษัทใหม่ ซึ่งนำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาให้ประเทศได้

ประเด็นนี้ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ย้ำว่า NIA ไม่ได้ลงทุนเป็นเม็ดเงินในโครงการ Bangkok CyberTech District แต่เป็นการจับคู่สตาร์ทอัป และกลุ่มทุน ซึ่งฝ่ายหลังจะเป็นเจ้าของทุนที่สตาร์ทอัปนำมาเช่าพื้นที่ จัดกิจกรรม และปักหลักใน Bangkok CyberTech District

“Bangkok Cybertech District การันตีว่า กรุงเทพฯ มีสภาพแวดล้อม เพื่อสตาร์ทอัปพร้อมที่สุดในภูมิภาค เราได้รวบรวมจุดแข็งของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ให้เข้ามาอยู่ในย่านนี้ ให้บริการสตาร์ทอัปทั้งชาวไทย และต่างประเทศ เป็นแพลตฟอร์มกิจกรรมสำหรับปั้นสตาร์ทอัปให้โตระดับสากล เป็นแลนดิ้งแพดที่ครบที่สุดระหว่างภาครัฐ และเอกชน ทั้งหมดนี้เกิดจากการจับมือไปพร้อมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนไทย”

นอกจากทรู NIA ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรพัฒนาย่านนวัตกรรมให้ประเทศไทย จนเกิดเป็นโครงการชื่อเก๋อย่าง “แนวระเบียงนวัตกรรมพระราม 4” ที่เชื่อมโยง “ย่านนวัตกรรมปทุมวัน”, “ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท” และล่าสุด คือ Bangkok CyberTech District ซึ่งเป็นย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านนวัตกรรมระบบนิเวศสตาร์ทอัปที่ยิ่งใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีการประเมินโดยคร่าวๆ ว่า อนาคตจะมีผู้คนมากกว่า 2-3 หมื่นคนที่ปักหลักในโครงการนี้

NIA คาดว่า ภายใน 3 ปีจะมี Global Startup เกิดขึ้นภายในย่านฯ ไม่ต่ำกว่า 100 ราย เรื่องนี้ผู้อำนวยการ NIA ตั้งเป้าหมายว่า ครึ่งหนึ่งจะเป็นสตาร์ทอัปไทย และอีกครั้งเป็นสตาร์ทอัปจากต่างประเทศ เบื้องต้น คาดว่าจะเป็นสตาร์ทอัปสัญชาติญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ที่เริ่มการเจรจาไว้แล้ว รวมถึงอีกหลายประเทศที่จะสนใจเมื่อ NIA นำไปประชาสัมพันธ์ที่งานสมาร์ทซิตีคองเกรส ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน กลางพฤศจิกายนนี้

นายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า งบประมาณส่วนใหญ่ของโครงการนี้ของทรู คือ งบก่อสร้างอาคารราว 500 ล้านบาท บนเนื้อที่ที่ไม่ได้ซื้อขาด แต่เป็นการเช่า เมื่อถามว่าโครงการนี้ต่างจากย่านนวัตกรรมในประเทศอื่นที่มักอยู่ใกล้สถาบันการศึกษาอย่างไร ผู้บริหารยืนยันว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค มีเส้นทางที่เชื่อมกับย่านกล้วยน้ำไท ซึ่งจะมีการสื่อสารกันบนโครงการอบรมแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีในโครงการ

“เราไม่หวังเป็นซิลิคอนวัลเลย์ไทย แต่หวังให้เป็นจุดหมายที่สตาร์ทอัปทั่วโลกต้องการเดินทางมา เราไม่มองย่านนวัตกรรมอื่นเป็นคู่แข่ง” เนื่องจากทุกแห่งล้วนเป็นแรงผลักดันให้สตาร์ทอัปไทยโตแรง

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งเครื่องผลักดันการสร้างนวัตกรรมในชาติ โดยปีหน้า กระทรวงวิทย์ฯ จะรวมกับมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันเรื่องนี้ในทางเดียวกัน นอกจากนี้ NIA จะเร่งผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายใหม่ เพื่อให้สตาร์ทอัปสามารถทดลองบริการใหม่ที่นอกเหนือกฎกมายได้ รวมถึงจะมีการเปิดกว้างให้ครูสามารถจดสิทธิบัตรนวัตกรรมงานวิจัยได้ ช่วยไม่ให้งานวิจัยอยู่บนหิ้งในอนาคต

หากมองทั้งภาพรวมสตาร์ทที่จดทะเบียน และไม่จดทะเบียน NIA เชื่อว่า ในนี้มีจำนวนมากกว่าหมื่นราย เติบโตจาก 8 พันรายในการสำรวจปีที่แล้ว สำหรับสตาร์ทอัปที่มีการดำเนินการจริง เชื่อว่าจะอยู่ที่ 1 พันรายในปีหน้า จากปีที่แล้วที่มี 750 ราย

นอกจากกรุงเทพฯ ย่านนวัตกรรมลักษณะนี้ ยังมีแล้วที่เชียงใหม่ ซึ่งมีการเปิดพื้นที่ “ไซปาร์ค” (SciPark) ร่วมกับความร่วมมืออีก 5 มหาวิทยาลัยหลักในเชียงใหม่ ซึ่งเบื้องต้น พบว่ามีสตาร์ทอัปจากเชียงใหม่หลายสิบรายที่มีโอกาสโต นอกจากนี้ คือ พัทยา และภูเก็ต ที่มีความพร้อม แต่ยังต้องเน้นการดึงดูดสตาร์ทอัปต่างชาติ จุดนี้สตาร์ทอัปต่างชาติที่ผ่านเงื่อนไข และได้เข้าร่วมกับ NIA ก็จะสิทธิพิเศษเช่นสิทธิวีซ่า 10 ปี เป็นต้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น