xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไทย 73% ตั้งใจลงทุนระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ชนะ Cloud-AI-IoT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี ประเทศไทย
“เดลล์ เทคโนโลยีส์” โชว์ผลสำรวจผู้บริหาร 100 บริษัทในประเทศไทย พบ 73% ตั้งใจลงทุนระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ สัดส่วนนี้สูงกว่าสัดส่วนบริษัทที่วางแผนลงทุนระบบมัลติคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนหลังจากที่ธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยมองข้ามการลงทุนระบบซีเคียวริตีมาก่อน โดยบริษัทไทยส่วนใหญ่ 40% ถูกจัดเป็นกลุ่มผู้เริ่มก้าวเข้าสู่ดิจิทัล หรือ Adapter มีเพียง 7% เท่านั้น ที่ถูกยกเป็นผู้นำที่สร้างประโยชน์จากการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้แล้ว ขณะที่ 5% ไม่มีแผนลงทุนดิจิทัลใดเลย

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี ประเทศไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งล่าสุดสะท้อนว่า 7% ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยเท่านั้นที่นำดิจิทัลมาทำธุรกิจได้ดี นอกนั้นเป็นบริษัทที่ทยอยตามมา โดยบริษัทกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (40%) เป็นกลุ่มผู้ริเริ่มที่ดำเนินการพัฒนาระบบงานให้เป็นดิจิทัลบ้างแล้ว

“7% นี้อยู่ในสภาวะที่ตื่นตัว เป็นบริษัทที่ใช้ดิจิทัลเต็มที่แล้วจนเป็นดีเอ็นเอของธุรกิจ กลุ่มนี้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจแล้วอย่างสิ้นเชิง” นพดล อธิบาย “กลุ่มบริษัทในไทยที่ไม่มีแผนงานดิจิทัลเลยมีอยู่ 5% ของกลุ่มตัวอย่าง นอกนั้นเป็นผู้ตาม ที่ลงทุนไม่สูงอีก 23% กลุ่มที่ยังรอดูสถานการณ์ และเริ่งวางแผนการลงทุนแล้วคิดเป็นสัดส่วน 25% นอกนั้นเป็นกลุ่มที่เริ่มพัฒนาระบบแล้ว 40%”

น่าเสียดายที่สัดส่วนความพร้อมเหล่านี้นำมาเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในประเทศอื่นไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทกลุ่มผู้นำ (Leader) ด้านดิจิทัลสูง หรือต่ำกว่าประเทศอื่น เนื่องจากเกณฑ์การวัดผล เพื่อประเมินนั้นไม่เท่ากัน ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ธุรกิจปรับใช้แล้วในแต่ละประเทศ

จุดนี้ ผู้บริหารเดลล์ ย้ำว่า การสำรวจ 100 บริษัทในประเทศไทยนี้มีจุดประสงค์เพื่อหยั่งเสียงว่า บริษัทไทยมีความพร้อมในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันขนาดไหน การสำรวจยังตั้งคำถามองค์กรเหล่านี้ถึงแผนการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การวางแผนลงทุน ลำดับความสำคัญในการทำก่อน รวมถึงอุปสรรคที่พบ

ผลการสำรวจพบว่า 45% กังวลว่าจะไม่มีธุรกิจของตัวเองเหลืออยู่ในอีก 5 ปี โดย 96% บอกว่า องค์กรเจออุปกรณ์ที่ทำให้ปรับใช้ดิจิทัลเร็วอย่างที่ตั้งใจไม่ได้

“90% เชื่อว่า การปรับดิจิทัลต้องทำวงกว้าง ผู้บริหารด้านไอทีก็ต้องมีความรู้ด้านธุรกิจ ขณะที่ 71% รู้ว่าต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดย 33% กลัวว่า องค์กรจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

สำหรับ Top Barriers หรือเรื่องยากอันดับหนึ่งที่องค์กรพบความเป็นส่วนตัวของลูกค้า (53%) รองลงมาเป็นความปลอดภัย การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร (49%) นโยบายของผู้บริหารระดับสูง (48%) ที่ต้องปรับ การขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม (45%) และระบบที่เป็น Silos หรือการแยกกันของระบบก็เป็นอุปสรรคในการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน (43%)

ในภาพรวม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นบริษัทในประเทศไทย 69% บอกว่าจะใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเร่งออกผลิตภัณฑ์มาตอบตลาด ขณะที่ 45% จะใช้ระบบ agile ให้การพัฒนาแอปพลิเคชันทำได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอให้แอปผ่านการทดสอบหลายครั้งกว่าจะเปิดให้บริการแอป ซึ่งระบบนี้จะทำให้บริษัทสามารถนำเสียงตอบรับมาปรับปรุง ทำให้บริษัทให้บริการแอปพลิเคชันได้เร็วขึ้น

“ผมว่า agile เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในยุคปัจจุบัน ความเร็วสำคัญกว่าคุณภาพ” นพดล ระบุด้วยว่า วันนี้หลายองค์กรในประเทศไทยกำลังสอนให้พนักงานมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม “เมื่อผู้บริหารมีความรู้ด้านโค้ดดิ้ง ก็จะคุยกับโปรแกรมเมอร์ได้ดีขึ้น พัฒนาบริการได้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น”

***องค์กรไทยเปลี่ยนแนวลงทุน

นพดล ชี้ว่า การสำรวจแสดงถึงแนวโน้มการลงทุนไอทีของบริษัทในประเทศไทยขณะนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่การลงทุนด้านซีเคียวริตีน้อยมาก แต่วันนี้ธุรกิจรู้ว่า ความเสี่ยงนี้อาจทำลายความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าทำธุรกิจด้วย

“ตอนนี้การลงทุนอันดับแรก คือ ซีเคียวริตี 73% รองลงมา เป็นคลาวด์ 63%” นพดล ระบุว่าสัดส่วนเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า อีก 3 ปีนับจากนี้ ตลาดซีเคียวริตีไทยจะบูมที่สุด เนื่องจากการสำรวจนี้ไม่ได้อิงจากมูลค่าการลงทุน

สำหรับบริษัทที่ตั้งใจลงทุนทำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า คิดเป็น 56% ของกลุ่มตัวอย่าง มากกว่าบริษัทที่ตั้งใจลงทุนเรื่อง IoT ราว 55% สัดส่วนนี้เท่ากับริษัทที่ตั้งใจลงทุนบล็อกเชน 55%

ระบบ Cognitive Systems ที่สามารถทำนายรูปแบบธุรกิจในอนาคตได้ก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่กลุ่มตัวอย่าง 44% ระบุว่าตั้งใจจะลงทุนสูงกว่าเทคโนโลยี VR/AR (40%) ซึ่งหลายองค์กรสนใจการลงทุนทำระบบเสมือน ให้พนักงานสามารถตรวจสอบโรงงานจากทางไกล โดยที่พนักงานไม่ต้องเดินทางเข้าไปด้วยตัวเอง

“ในมุมมองของเดลล์ เรามองว่า ตอนนี้ไทยเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เทคโนโลยีเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เร็วขึ้น ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยน การประสานงานระหว่างเทคโนโลยี และผู้บริโภค ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้ได้โอกาสในการเข้าถึงลูกค้า เห็นได้ชัดเพราะองค์กรที่ทำธุรกิจอย่างหนึ่ง สามารถใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจอีกอย่างหนึ่งได้ทันที” นพดล กล่าว “โดยเฉพาะประเทศไทย ธุรกิจมีการพัฒนาตัวเอง ปรับให้อยู่ในยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีทางอีกยาวที่ต้องไป”

ทางเดินที่องค์กรทั่วโลกต้องไป คือ การปฏิรูปแรงงาน การใช้เทคโนโลยีให้พนักงานในองค์กรทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการยกระดับซีเคียวริตีที่ถือว่าเป็นแกนหลักที่ธุรกิจต้องมองให้ครบทุกด้าน

การสำรวจ “ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัลของเดลล์ เทคโนโลยีส์” (Digital Transformation Index) นี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างเดลล์ กับอินเทล ดำเนินการสำรวจผ่านการว่าจ้างบริษัทแวนสันบอร์น (Vanson Bourne) สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับหัวหน้า หรือ C level ในประเทศไทย 100 คนจากบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ (ไม่ระบุสัญชาติ) โดยผลการวิจัยนี้จะถูกรวบรวมเปรียบเทียบกับ 4,600 บริษัทจากการวิจัยทั่วโลก 42 ประเทศ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีหน้า

จุดน่าสนใจ คือ การสำรวจนี้ดำเนินการปีที่ 2 แต่ 2 ปีก่อนนั้น ไม่มีการสำรวจในประเทศไทย และการสำรวจดำเนินเฉพาะใน 16 ประเทศเท่านั้น การขยายพื้นที่ผลการสำรวจมากกว่า 2 เท่านี้ สะท้อนความสำคัญของดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันที่เพิ่มขึ้นในเวทีโลก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น