xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงดีอีจัดเวทีเสวนาเตรียมความพร้อมสังคมไทยรับมือ OTT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดประชุมนานาชาติเรื่อง Digital Infrastructure Forum: Dealing with OTT Disruption ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมให้กับสังคมในการรองรับเทคโนโลยี OTT ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก

โดยงานดังกล่าวมีนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการ สดช. เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาชั้นนำจากประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ Mr. Andy Goldin จากบริษัท Price water house Cooper (PWC) สิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Ms. Michele Ledger จากองค์กร Cullen International ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎเกณฑ์ OTT นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ นายอักฤทธิ์ สังข์เพชร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนผู้ดำเนินการประชุมได้แก่ นายสุธรรม อยู่ในธรรม ที่ปรึกษาเลขาธิการ สดช. และ นายประพันธ์พงษ์ ขำอ่อน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางวรรณพร กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้พูดถึง OTT ในฐานะที่เป็นบริการทางดิจิทัลที่ก้าวข้ามกฎเกณฑ์เดิมๆ เช่น Airbnb ที่ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการโรงแรมรายใหญ่ของโลกทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมแม้แต่โรงแรมเดียว หรือธุรกิจ OTT อื่นๆ เช่น Netflix, YouTube, Uber และ Grab ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้มากกว่าธุรกิจแบบเดิม

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จาก OTT สามารถก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนโดยส่วนรวมได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลและสถิติความหนาแน่นของการที่ได้จาก Uber ที่ทำให้ภาครัฐทราบว่า พื้นที่ใดที่มีมีการจราจรที่ติดขัด เพื่อที่จะดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีความกังวลถึงผลกระทบที่ OTT มีต่อผู้บริโภค เช่น เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากผู้บริโภคต้องยอมให้ข้อมูลจำนวนมากกับผู้ให้บริการ OTT จึงต้องคำนึงว่า ข้อมูลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการทบทวนกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อทำให้ OTT เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด เรื่องที่น่าสนใจ คือ การที่ EU กำหนดให้ OTT มีหน้าที่สร้างความตระหนักรู้ทางสื่อ (Media Literacy) ให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน

จากการประชุมพบว่าประเทศไทยสามารถนำแนวทางที่ดีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาประเทศได้ เรื่องแรก คือ ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เนื่องจากอนาคต แนวโน้มของธุรกิจที่เป็น OTT จะมีมากขึ้น สังคมไทยและโลกย่อมต้องการบุคลากรที่มีทักษะทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่องที่สอง คือ การก้าวไปสู่สังคมนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้

ดังนั้น ในเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขข้อจำกัดเรื่องกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย ทุกฝ่ายต้องเน้นสร้างความร่วมมือมากขึ้น งานวิจัยต้องนำมาใช้มากขึ้น และต้องผลักดันให้เกิดผลผลิต เกิดเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่ง OTT ที่เป็นของไทยมากขึ้น หรืออย่างน้อยให้ผลผลิตของคนไทยเข้าสู่ห่วงโซ่ในตลาดโลก (Global Value Chain) เพื่อไม่ให้เกิดการพึ่งพิงเทคโนโลยีของต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น