xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.กังวลไทยอาจไปไม่ถึง 5G ชงบอร์ดเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการ กสทช.กังวลประเทศไทยไปสู่ 5G ล่าช้า หลังพบการประมูลคลื่น 1800 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 ราย และได้ใบอนุญาตไปรายละ 5MHz เหตุผู้ให้บริการยังไม่พร้อมลงทุน เตรียมชงบอร์ดเสนอการประมูล 1800 MHz ที่เหลืออีก 7 ใบ เปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินจาก 3 งวด ออกเป็น 5 งวด

ขณะที่คลื่น 900 MHz ยังมีโอกาสในการนำมาประมูล เตรียมประชุมร่วมกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางใช้คลื่นย่าน 450 MHz แทน และอาจจูงใจการประมูลด้วยการขยายงวดการชำระเงินเป็น 8 ปี ชี้หากปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้าไม่มีการประมูลเพิ่ม ประเทศไทยจะเตรียมการสู่ 5G ไม่ทันปี 2563 สูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหลักแสนล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ผลจากการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ทั้งบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ประมูลคลื่นไปเพียงคนละ 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5MHz

โดยผู้ให้บริการแจ้งว่า หากจะมีการเตรียมการเพื่อไปสู่ 5G เกรงว่าจะมีเงินลงทุนไม่ไหว หากการประมูลยังเป็นรูปแบบเดิม ไม่มีอะไรที่ช่วยเหลือเขาบ้าง เพราะปัจจุบันเขาเห็นว่าการให้บริการ 3G และ 4G ยังสามารถให้บริการแก่ผู้บริโภคได้และเงินที่ลงทุนลงไปเขาก็ยังไม่สามารถคืนทุนได้

ดังนั้น กสทช.ในฐานะที่ต้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนให้ประเทศไทยไปสู่ยุค 5G ภายในปี 2563 จำเป็นต้องทำให้ผู้ให้บริการมีคลื่นเพียงพอในการเตรียมความพร้อมสู่ 5G ซึ่งจะต้องเริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่ภายในปีหน้า จึงมีแนวคิดที่จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ในการเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลในการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออีก 7 ใบอนุญาตในการประมูลครั้งต่อไป จากเดิมที่ต้องจ่าย 3 งวด เป็น 5 งวด โดยใช้ราคาเริ่มต้นการประมูลเท่ากับครั้งล่าสุดนี้คือ 12,486 ล้านบาท แทนการลดราคาการประมูลเพราะไม่สามารถทำได้

ส่วนคลื่น 900 MHz ก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถตกลงกับกระทรวงคมนาคมในการเปลี่ยนคลื่นสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง จากเดิมที่ใช้คลื่น 900 MHz เป็นย่าน 450 MHz ได้ โดยภายในสัปดาห์นี้ กสทช.จะมีการพูดคุยกับกระทรวงคมนาคมถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว ซึ่งหากมีการนำมาประมูลได้ ก็จะมีการเสนอให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินเช่นกัน โดยอาจจะขยายออกไปเป็น 8 งวด

นายฐากร กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ยังมีอยู่จำนวนน้อยมาก โดยมีการใช้งานคลื่นความถี่ในภาพรวมในปัจจุบันประมาณ 420 MHz ซึ่งยังต่ำกว่าข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู อีกจำนวนมาก ซึ่งกำหนดไว้ไม่ควรน้อยกว่า 720 MHz ต่อประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 5G ที่สมบูรณ์ จะต้องเดินหน้าในการจัดสรรคลื่นความถี่ต่อไปเนื่องจากจะต้องมีการส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายมากขึ้น เร็วขึ้น ดังนั้น การใช้งานคลื่นความถี่จะต้องรองรับการใช้งานให้เพียงพอ

ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา การใช้งานเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น 3G ที่ประเทศไทยต้องล่าช้าในการใช้งานกว่าประเทศอื่น 12 ปี การใช้งานเทคโนโลยี 4G ประเทศไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่น 7 ปี วันนี้ การใช้งาน 3G และ 4G ประเทศไทยตามทันประเทศอื่นๆ แล้ว

มีข้อมูลที่สำคัญคือ ขณะนี้มีผู้ใช้งานในระบบ 3G และ 4G รวมกันมากกว่า 120 ล้านเลขหมายมีการใช้งานบริการข้อมูล หรือดาต้า โดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ที่มีปริมาณการใช้งานอยู่ที่ 1,033 เพตะไบต์ เพิ่มขึ้นเป็น 1,208 เพตะไบต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 17% และจากข้อมูลล่าสุด ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 ปริมาณการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,583 เพตะไบต์ ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ถึง 53%

สำนักงาน กสทช. ได้วิเคราะห์ตัวเลขโดยอ้างอิงจากโมเดลในการศึกษาของ IHS, สหประชาชาติ หรือ UN และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา พบว่า หากประเทศไทยไม่มีการใช้งาน 5G จะสูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563 เป็นหลักแสนล้านบาทขึ้นไป และอาจจะพุ่งไปจนถึง 2.3 ล้านล้านบาทปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่ามีการใช้งาน 5G แพร่หลายมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 80% ของกรอบวงเงินงบประมาณ


กำลังโหลดความคิดเห็น