xs
xsm
sm
md
lg

CA มั่นใจไทยแข่งดีขึ้นได้ ด้วย API (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธุรกิจไทยนั้นถูกมองว่าอยู่ล้าหลังประเทศใหญ่อย่างจีน เกาหลี และญี่ปุ่นมานาน ภาพลักษณ์นี้แม้จะต้องร่วมมือแก้ไขกันหลายส่วน แต่นักวิชาการของซีเอ เทคโนโลยี (CA Technologies) เชื่อว่าถ้าธุรกิจไทยหันมาใช้ "API Management" มากขึ้น ก็จะช่วยให้การแข่งขันของธุรกิจนั้นดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

เหตุที่ API Management ถูกมองเป็นตัวช่วยหลัก เพราะ API (Application Programming Interface) หรือช่องทางการดึงข้อมูลในระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชัน นั้นสามารถเร่งให้องค์กรขยายโอกาสทางธุรกิจได้ดีขึ้น เร็วขึ้น บนต้นทุนที่ต่ำลง เรียกว่าธุรกิจใดที่สามารถจัดการรวมถึงวางกลยุทธ์เรื่อง API ได้ดี ก็ย่อมสามารถยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า พนักงาน และคู่ค้าได้ดีขึ้น

ที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจขนส่ง ธุรกิจขนส่งสินค้าที่เปิด API ให้นักพัฒนารายอื่นสร้างแอปพลิเคชันติดตามรถส่งพัสดุได้หลายรูปแบบ จะได้ประโยชน์เพราะถูกใจลูกค้า ขณะเดียวกันก็ลดภาระพนักงาน แถมยังเพิ่มโอกาสพัฒนาคู่ค้าในอนาคต

แน่นอนว่าวันนี้ตลาด API Management กำลังบูมเต็มที่ ข้อมูลจากบริษัทรีเสิร์ชเอ็นรีพอร์ตส์ (Research N Reports) ประเมินว่าตลาดนี้จะเติบโตมากกว่า 33% ทั่วโลกตลอดช่วงปี 2017-2021 เนื่องจากมีหลายบริษัทร่วมให้บริการ API Management อย่างคับคั่ง เพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนไป โดยตลาด API Management จะมีมูลค่าเพิ่มจาก 609.32 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 มาเป็น 3,436 ล้านเหรียญในปี 2022

*** กระตุ้นธนาคารไทยหาทางรอด

เมดิ เมโจวี (Mehdi Medjaou) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ API (Lead API Economist) สถาบัน API Academy ที่ CA Technology จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้าน API กับบุคลากรในธุรกิจ ยืนยันว่า API จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั่วโลกโดยเฉพาะธนาคาร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย

"กูเกิล อาลีบาบา เฟซบุ๊ก บริษัทไอทีรายใหญ่วันนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ API แม้แต่อะเมซอนก็ยังซื้อบริษัทและมีทีมงานโฟกัสด้านฟินเทค" เมดิระบุ "สถานการณ์วันนี้คือสถาบันการเงินถูกกดดัน เพราะบริษัทไอทีตัวหลักลงมาเล่นเอง ลูกค้าคาดหวังสูง ขณะที่มาตรการรัฐก็เข้มงวดขึ้น"

เมดิระบุว่าประเทศอย่างอังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแคนาดาได้ประกาศมาตรการควบคุมการเก็บข้อมูลของธนาคารอย่างเข้มงวด ขณะนี้ ประเทศระดับกลางอย่างเม็กซิโก แอฟริกาใต้ และอินเดียกำลังเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น แนวโน้มเหล่านี้เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ส่งให้ API Management เป็นเรื่องสำคัญ
ธนาคารยุคนี้จำเป็นต้องเปิดพื้นที่บางส่วนให้ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันอื่นได้ เนื่องจากตลาดนี้มีมูลค่าสูงมาก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่าธนาคารยังลงทุนน้อยในส่วนที่จำเป็น เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่กว่า 80% ของธนาคารถูกใช้ไปกับการบำรุงรักษาระบบและแอปพลิเคชันในระยะสั้น โดยราว 11% ของเงินลงทุนไอทีของธนาคารถูกใช้ไปกับการปรับบริการให้เข้ากับกฏหมาย เพียง 9% ของเงินลงทุนเท่านั้นที่ธนาคารนำไปใช้วางแผนระยะยาว

"ธนาคารควรต้องวางกลยุทธ์ จากเดิมที่ไม่เปิดข้อมูลให้ใครเลย ลูกค้าต้องมาเจอเซลล์ที่สาขา ธนาคารจึงมีโอกาสเสนอขายกองทุน การวางกลยุทธ์ Open API ทำให้ธนาคารมีพื้นที่ให้ข้อมูลของธนาคารเชื่อมกับพันธมิตร ต่อยอดเป็นอีโคซิสเต็มส์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์"

เมดิ ยกตัวอย่างธนาคารเฮลโลแบงก์ในเบลเยียม (Hello Bank) ที่ขยายฐานลูกค้าได้ด้วยการจับมือกับบริษัทแพลตฟอร์มอสังหาให้บริการคำนวณเงินกู้แก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านผ่านเว็บไซต์ ยังมีธนาคารในสหรัฐฯที่เปิด API ให้บริษัทสตาร์ทอัปชื่อมินท์ (Mint) ช่วยให้ชาวอเมริกันที่ถือบัญชีหลายธนาคาร สามารถติดตามความเคลื่อนไหวบัญชีได้จากหน้าเดียว ขณะที่ธนาคารในอังกฤษ ยอมเปิด API ให้บริษัทสตาร์ลิง (Starling) สามารถทำแพลตฟอร์มขาย API ให้บริษัทฟินเทคที่สนใจ ทำแอปพลิเคชันได้ง่ายและเร็ว

ทั้งหมดนี้ เมดิชี้ว่าธนาคารอาจวางยุทธศาสตรได้ 4 ทาง คือ 1. ไม่ลงมือทำแอปพลิเคชันเอง แล้วเปิดโอกาสให้คู่ค้า เพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ 2. ลงมือสร้างเป็น API พื้นฐาน 3. สร้างแพลตฟอร์ม API ขึ้นมา และ 4. ให้คนอื่นสร้างแอปพลิเคชัน แล้วจึงร่วมมือในฐานะพันธมิตร

ไม่ว่าจะวางยุทธศาสตร์อย่างไร ธนาคารมี 4 ด้านที่ต้องทำ คือ 1. ต้องเข้าถึงสตาร์ทอัป ให้มาช่วยแก้ปัญหาที่ธนาคารทำเองไม่ได้ 2. ลงทุนในสตาร์ทอัป ทั้งการเป็นพี่เลี้ยง, ร่วมก่อตั้ง, การเป็นพันธมิตร, การซื้อ และการลงทุนในสตาร์ทอัป เห็นได้ชัดว่าบริษัทใหญ่ซื้อบริษัทสตาร์ทอัปจำนวนมาก 3. การคัดลอก หรือการเรียนรู้จากแอปพลิเคชันที่ใช้ API แล้วประสบความสำเร็จ 4. ตัดการเข้าถึง API ซึ่งถือเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่บริษัทใหญ่ทำเพื่อไม่ให้มีแอปพลิเคชันที่ทำงานซ้อนซ้ำกัน

*** ความท้าทายอยู่ที่กฏหมาย

ไม่เพียงธนาคาร เมดิ ย้ำว่าทุกธุรกิจควรให้ความสนใจกับการบริหารจัดการ API เช่นธุรกิจเฮลท์แคร์ หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ซึ่งจะตอบโจทย์ในยุคที่อุปกรณ์อยู่ที่หนึ่ง แต่ข้อมูลวิ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง ทั้งหมดนี้ ความท้าทายหลักคืออุปสรรคทางข้อกฏหมาย ทำให้จำกัดการใช้งาน แม้จะเป็นตัวช่วยให้ปลอดภัยแต่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางไม่ให้ API เติบโตเท่าที่ควร

ความท้าทายของวงการ API Management ในไทยนั้นไม่ต่างจากในต่างประเทศ เมดิมองว่าไทยกับสิงคโปร์นั้นไม่ต่างกัน เทรนด์ที่เห็นในขณะนี้คือมีการใช้ API Management มากขึ้น แม้ธนาคารจะยังไม่มา แต่กลุ่มรีเทลเริ่มให้ความสำคัญมากกว่า รวมถึงกลุ่มเฮลท์แคร์ที่ให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ธุรกิจขนส่งหรือหน่วยงานการจราจร ยังเปิด API ให้ประชาชนดูเส้นทางรถ หรือตำแหน่งรถได้โดยไม่ต้องจำกัดที่แอปพลิเคชันเดียว

"'ไทยมาไกลเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน แต่ที่ยังไม่มาคือความมั่นใจ CA จึงเน้นให้ความรู้เรื่อง API Management ดึง API Academy เข้ามาเพราะตอบโจทย์การลงทุนของธุรกิจได้' เมดิทิ้งท้าย 'ตลาดไทยถือว่าเป็นตลาดไดนามิกที่มีแนวโน้มขยายตัวเสมอ เหนือกว่าประเทศอื่นในอาเซียนแม้จะไม่ถึงระดับโลก แต่ก็เทียบได้กับประเทศในยุโรปอย่างเอสโทเนีย ถ้าไทยใช้ API Management มากขึ้นเชื่อว่าจะช่วยให้การแข่งขันดีขึ้น"

สำหรับ เมดิ เมโจวี นั้นเดินทางมาจากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อเดินสายร่วมงานประชุมที่ CA จัดขึ้นที่อินเดีย ไทย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศในภูมิภาค ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนว่า CA พยายามหนุนให้ธุรกิจตื่นตัวลงทุน API Management โดยเบื้องต้น CA ไม่เปิดเผยงบลงทุนในธุรกิจ API Management ซึ่ง CA ระบุว่าเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจเท่านั้น แต่ยืนยันว่าจะจัดทีมขายและทีมซัปพอร์ตเพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่จะเกิดขึ้นในตลาดไทย.



กำลังโหลดความคิดเห็น