xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทเทคโนโลยีเครียด เจอสหภาพยุโรปเข็นกฎใหม่เก็บภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปิแอร์ มอสโควิซี (Pierre Moscovici) ภาพจากเอเอฟพี
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เตรียมพบอัตราภาษีที่สูงขึ้นในสหภาพยุโรป โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ The European Commission (EC) ได้ออกมาประกาศแผนภาษีสำหรับบริษัทที่มาทำธุรกิจในภูมิภาคมากกว่าจะโฟกัสไปที่การทำธุรกิจในประเทศที่สำนักงานใหญ่ของตัวเองตั้งอยู่

ข้อมูลจาก EC เผยว่า บริษัทดิจิทัลเหล่านี้จ่ายภาษีโดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 9.5 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับธุรกิจทั่วไปที่จ่ายในอัตรา 23.2 เปอร์เซ็นต์

ปิแอร์ มอสโควิซี (Pierre Moscovici) หนึ่งในคณะกรรมการของ EU ออกมาเผยว่า กฎระเบียบของการเก็บภาษีในปัจจุบันนั้นล้าสมัยไปแล้ว และแนวคิดใหม่ที่จะนำมาใช้นั้น จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน และเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า บริษัทอย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) ฯลฯ จะได้รับผลกระทบอย่างไม่ต้องสงสัย

ความพยายามของประเทศในสหภาพยุโรปที่จะกดดันให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ต้องเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจะเห็นได้ว่ามีการดำเนินการที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่เต็มไปหมด ยกตัวอย่างเช่น แอมะซอน ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลักเซมเบิร์ก แต่มีการดำเนินธุรกิจไปทั่วทุกประเทศในยุโรปนั้น ได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการภาษีไปเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งทาง EC ได้ออกคำสั่งให้ลักเซมเบิร์กเรียกคืนเงินเป็นจำนวน 250 ล้านเหรียญยูโร หรือ 9,587 ล้านบาท ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่แอมะซอน

กฎระเบียบใหม่นั้นกำหนดเอาไว้ว่า หากบริษัทดิจิทัลเข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้ จะเข้าข่ายการถูกเก็บภาษีแบบใหม่ ได้แก่

- มีรายได้ในแต่ละปีที่ทำได้จากประเทศในสหภาพยุโรปรวมกันมากกว่า 7 ล้านเหรียญยูโร
- มีผู้ใช้บริการมากกว่า 100,000 คนขึ้นไปในปีภาษีนั้น
- มีการทำสัญญาทางธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการดิจิทัลระหว่างบริษัท กับลูกค้าธุรกิจ มากกว่า 3,000 สัญญาในปีภาษี

ซึ่งในกรณีของแอมะซอน ที่เข้าข่ายกฎเกณฑ์ใหม่ จะต้องยุติการจ่ายภาษีในลักเซมเบิร์กเพียงประเทศเดียว เปลี่ยนเป็นการจ่ายภาษีให้ทุก ๆ ประเทศที่มีลูกค้าใช้บริการของแอมะซอน

แผนงานจากคณะกรรมาธิการยุโรปยังรวมถึงมาตรการภาษีระหว่างกาล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะระงับการดำเนินการด้านเดียวโดยการสร้างการบิดเบือนในตลาดยุโรปจนกว่าจะมีการใช้แนวทางระยะยาว โดยมีผลกับการขายพื้นที่โฆษณาออนไลน์ การเป็นตัวกลางบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้ผู้ใช้งานรายหนึ่งติดต่อกับผู้ใช้งานอีกรายหนึ่งได้ และจากการขายข้อมูลของผู้ใช้งาน

ภาษีระหว่างกาลนี้จะถูกบังคับใช้กับบริษัทที่มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้ในสหภาพยุโรปมากกว่า 50 ล้านยูโรขึ้นไปเท่านั้น งานนี้สตาร์ทอัป และบริษัทขนาดเล็ก ได้รับอานิสงส์ เพราะสามารถเติบโตต่อไปได้ ไม่โดนเก็บภาษีเท่าพี่ที่โตแล้ว

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ระบุว่า ถ้ารัฐสมาชิกเรียกเก็บภาษีดิจิทัล 3 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาจะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 5 พันล้านยูโรต่อปี

แนวคิดนี้ถือว่าน่าสนใจ และน่านำมาใช้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อยเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น