xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าทางตันโทรคม/ทีวีดิจิทัล !!(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เริ่มต้นปีจอ 2561 ด้วยการเปิดประเด็นร้อนแรงในวงการทีวีดิจิทัลและธุรกิจโทรคมนาคม จากซีอีโอ หนุ่มใหญ่ 'สมชัย เลิศสุทธิวงศ์' ค่ายเอไอเอสที่มากประสบการณ์ทั้งด้านการประสานงานภาครัฐ การกำกับดูแลสัญญาสัมปทานในอดีต รวมทั้งสะสมชั่วโมงบินในเรื่องธุรกิจ ตั้งไข่ธุรกิจ VASเรื่อยมาจนถึงสู้รบในเกมการตลาดโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ชนิดกระพริบตาก็อาจตกยุคล้าสมัยเรียกได้ว่าครบทุกมิติ ทุกมุมมองในอุตสาหกรรม

***ประสานเสียงยืดงวดค่าใบอนุญาต/ปลอดดอกเบี้ย

ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นกลุ่มทรูและเอไอเอส ออกมาประสานเสียงพูดในเรื่องเดียวกัน แต่ครั้งนี้มันเข้าขั้นภาวะวิกฤต จากการกลัดกระดุมเม็ดแรกพลาดในเรื่องการประมูลความถี่ 900 MHz ที่รับรู้กันในวงกว้างว่ามีการเคาะราคาบ้าเลือด มีบางคนทิ้งใบอนุญาต ทำให้คนที่ชนะได้ใบอนุญาตทั้งทรูและเอไอเอส ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าความถี่ที่สูงเกินจริงติดอันดับโลก ทำให้ทั้ง 2 บริษัท ต้องจ่ายเงินคนละ 75,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 งวด ซึ่ง 3 งวดแรกจ่ายไม่สูงมากนัก เหลืองวดที่ 4 ที่ทั้ง 2 บริษัท ต้องจ่ายรวมกันเกือบ 1.2 แสนล้านบาท

ทั้ง 2 บริษัทได้ทำหนังสือขอความเห็นใจจากนายกรัฐมนตรี หรือ หัวหน้าคสช. เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44ยืดเวลาจ่ายเงินงวดที่ 4 ออกไปเป็น 7 งวด โดย 6 งวดแรกจ่ายงวดละ 8,040 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 7 จ่ายที่เหลือทั้งหมด โดยไม่คิดดอกเบี้ย พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าหากรัฐไม่สนับสนุนการยืดเวลาชำระค่าประมูลครั้งนี้เมื่อรวมกับการเข้ามาของธุรกิจประเภท Over the Top (OTT) ที่ดึงดูดรายได้มหาศาลออกจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างโครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมใดๆทั้งสิ้น ก็จะทำให้การให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทยต้องหยุดชะงักหรือด้อยประสิทธิภาพลง และจะส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

***กลัดกระดุมเม็ดแรกพลาด

ผลของการกลัดกระดุมเม็ดแรกพลาด สะท้อนให้เห็นจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อนักวิเคราะห์หลายสถาบันระบุว่า ราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับราคาคลื่นในประเทศอื่นภายใต้การสำรวจของ GSMA เมื่อกุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา

ราคาที่สูงเช่นนี้อาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลเสียหลายประเด็น โดยคลื่นอาจถูกทิ้งไว้ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เต็มที่ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวอย่างเช่นอินเดีย (ปี 2012 และ 2014) ที่ไม่สามารถนำคลื่น 1800 MHz มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทำให้การให้บริการบนคลื่นล่าช้า หรือออสเตรเลีย (ปี 2013) ที่การประมูลคลื่น 700 MHz นั้นมีราคาตั้งต้นสูงเกินไป ทำให้ไม่มีการจัดสรรคลื่นส่วนนี้ หรือบังกลาเทศ (ปี 2013) ราคาตั้งต้นที่สูงเกินไปทำให้คลื่น 2x5 MHz ย่าน 2100 MHz จำนวน 3 บล็อก ไม่มีผู้ใดยกมือประมูล

ราคาตั้งต้นประมูลคลื่นที่สูงเกินไป จะทำให้โอเปอเรเตอร์มีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น โอเปอเรเตอร์จึงอาจผลักภาระให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาให้บริการสูงขึ้น หรือต้องจำกัดการลงทุนด้านอื่นลง ราคาที่สูงเกินไป ยังอาจทำให้การจัดสรรคลื่นระหว่างโอเปอเรเตอร์ผิดเพี้ยนไป สรุปคือ ราคาที่กำลังดีจะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถลงทุนสร้างเครือข่ายเพื่อให้บริการได้ทันที
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์
หากมองเสียงตอบรับของนักลงทุน พบว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการประมูล เพราะมูลค่าหุ้นของโอเปอเรเตอร์ช่วงก่อนและหลังการประมูลนั้นตกต่ำทุกราย เช่น เอไอเอสที่ราคาหุ้นลดลง 45%, อินทัชลดลง 36% และแจสที่ลดลง 43% ที่หนักที่สุดคือดีแทค หุ้นตก 64% ขณะที่ทรูลดลง 49% แม้แต่ Thcom ก็ลดลง 27%

ส่วนในภาพรวม มูลค่าตามราคาตลาดหรือ Market cap ของโอเปอเรเตอร์ไทยทั้งหมดในช่วงก่อนการประมูลนั้นอยู่ที่ 1.56 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือ 8.6 แสนล้านบาทเท่านั้นในช่วงหลังประมูล คิดเป็นสัดส่วนลดลงเฉลี่ย 45% ถึงแม้ในปัจจุบัน Market cap ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.22 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการเติบโตที่เกิดจากการแข่งขันในธุรกิจที่จ่ายค่าประมูลความถี่ไม่ใช่งวดเดียว 6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีผลศึกษาจาก 'เนร่า' ที่ระบุเรื่องประมูลความถี่ของไทยที่สูงเกินจริง ว่า การนำเหตุการณ์ที่ไม่ปกติมาเป็นมาตรฐานในการตั้งราคา จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และอาจทำให้บางบริษัทที่มองว่า เมื่อราคาคลื่นสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่จะมีกำไรได้ ก็จะชะลอการลงทุน ในประเทศที่คลื่นความถี่มีมูลค่าสูงจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้การแข่งขันทางด้านราคาเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งจะกระทบต่อการกำหนดราคาในระยะยาว เพราะราคาที่ควรจะลดลงตามเทคโนโลยีกลับไม่สามารถลดได้เพราะต้องนำเงินมาจ่ายค่าคลื่น

เนร่าได้มีการคำนวณในกรณีที่ กสทช. มีการปรับลดราคาประมูลคลื่นเริ่มต้นเข้ามาอยู่ในค่าเฉลี่ย จะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการได้ถูกลง และราคาที่เกิดขึ้นจะสะท้อนถึงการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการที่แท้จริง อย่างเช่น ถ้าลดราคาเฉลี่ยคลื่นลง 80% โอเปอเรเตอร์จะมีค่าใช้จ่ายต่อการประมูลต่อหัวที่ราว 1,317 บาท แต่ในขณะเดียวกัน โอเปอเรเตอร์มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือราว 3,643 บาท ซึ่งถ้านำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าบริการก็จะทำให้ธุรกิจเติบโต และผู้บริโภคได้ประโยชน์

'ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการให้การประมูลครั้งใหม่ หากเกิดขึ้น ต้องใช้ราคาตั้งต้นประมูลที่ลดลง แต่อยากให้เห็นข้อมูลว่า ราคาครั้งก่อนมันสูงเกินจริงไปมาก จนเกิดความยากลำบากในการทำธุรกิจ เมื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้ ก็น่าจะหาวิธีแก้ปัญหาทำให้ภาพรวมอยู่รอด ทั้งผู้ให้บริการ ประชาชนผู้ใช้บริการ เศรษฐกิจประเทศ ' แหล่งข่าวในวงการโทรคมให้ความเห็น

ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องให้ความเห็นตอบกลับนายกรัฐมนตรี หรือ หัวหน้าคสช.ให้ความเห็นภายใต้อำนาจของกสทช.ว่า แนวทางการยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นออกเป็น 7 งวด นั้น มีความเป็นไปได้ แต่การไม่จ่ายดอกเบี้ยอาจไม่สามารถทำได้ เพราะในฟากทีวีดิจิทัล เมื่อมีการยืดเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตก็ยังมีการคิดดอกเบี้ย ดังนั้นกสทช.ไม่สามารถปฎิบัติ 2 มาตรฐานได้ ส่วนความคิดที่จะใช้มาตรา44 เพื่อยกคลื่น 1800 MHz ให้ดีแทคด้วยราคาที่เท่ากับเอไอเอสและทรู นั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการจัดสรรคลื่นต้องใช้วิธีการประมูล ส่วนคลื่น 900 MHz นั้นก็ยกเลิกไม่มีการประมูลแล้วเนื่องจากกังวลเรื่องการรบกวนความถี่กับรถไฟความเร็วสูง

'เรื่องการประมูลคลื่น 1800 MHz เราก็แบ่งเป็น 9 ใบอนุญาตๆละ 5 MHz ก็น่าจะพอใจกันทุกฝ่ายแล้ว'

***ยังไร้ข้อสรุปแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล

ส่วนประเด็นร้อนในฟากทีวีดิจิทัลที่สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลขอพักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เป็นเวลา 5 ปี การขอไม่ชำระค่าบริการโครงข่าย และการขอคืนใบอนุญาตนั้น ล่าสุด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ สุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมผุ้ประกอบการทีวีดิจิตอล พร้อมด้วย เลขาธิการกสทช. แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เหตุเพราะความเห็นของ กสทช.และผู้ประกอบการยังไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นการขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เป็นเวลา 5 ปี

แต่ กสทช.ต่อรองเหลือ 3 ปี การขอไม่จ่ายค่าบริการโครงข่ายผู้ประกอบการเห็นว่าที่ผ่านมาได้ชำระค่าเช่าโครงข่าย มาแล้วจำนวนหนึ่งซึ่งน่าจะคุ้มกับการลงทุนของผู้ให้บริการโครงข่ายแล้วจึงไม่น่าที่จะต้องชำระอีก แต่ กสทช.เสนอให้ลดค่าบริการลง 50 % รวมถึงเรื่องการขอให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตได้ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ กสทช.นำความเห็น ของผู้ประกอบการกลับไปพิจารณาแล้วกลับมาหารือกันอีกครั้งซึ่งผู้ประกอบการได้ขอร้องให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดก่อนถึงเดือนพฤษภาคมซึ่งจะครบกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการงวดสุดท้าย และเพื่อที่จะได้ทราบและเตรียมการในการบริหารจัดการต้นทุนการประกอบกิจการโดยรองนายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะให้ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ภายใน 3 สัปดาห์

ในประเด็นทีวีดิจิทัล 'ซีอีโอ สมชัย' เรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ไปต่อไม่ไหว สามารถยุติการจ่ายเงินและคืนใบอนุญาตได้ เพราะทุกวันนี้แค่ยืดเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตมันไม่พอแล้ว รวมทั้งป่วยการที่จะหาคนผิดทั้งฟากรัฐที่รับผิดชอบเรื่องการแจกกล่องดิจิทัล การสร้างโครงข่าย หรือ ด้านผู้ประกอบการที่เล็งผลเลิศว่าจากจำนวนช่องทีวี ในอดีตเมื่อเพิ่มอีก 24 ช่อง รายได้โฆษณาก็จะสูงขึ้น รวมทั้งการทำลายล้างของเทคโนโลยี แพลตฟอร์มอื่นที่คล่องตัวสะดวกกว่าจอทีวี

ในวันที่รัฐอิ่มเอมกับไข่ทองคำจากเงินค่าประมูลคลื่นโทรคมแสนกว่าล้านบาท ก็เป็นวันเดียวกับที่ผู้ประกอบการกลืนเลือด เพราะมูลค่าตามราคาตลาดหรือ Market cap ของโอเปอเรเตอร์ไทยทั้งหมด ลดลงเฉลี่ย 45% หรือลดลงกว่า 7 แสนล้านบาท

การร้องขอขยายเวลาจ่ายค่างวดคลื่นความถี่ โดยปลอดดอกเบี้ย อาจดูเหมือนการเอื้อประโยชน์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง รายได้ของรัฐไม่ได้มาจากดอกเบี้ย แต่มาจากภาษีอากรที่เก็บจากองค์กรธุรกิจที่ทำมาหาได้มีกำไร แล้วมาจ่ายภาษีให้รัฐ เพราะขนาดธนาคารที่มีรายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ เมื่อลูกค้าเป็นหนี้ อาการเข้าขั้นโคม่า ยังเจรจากับแบงก์ลดดอกลดต้นได้เลย ทำไมรัฐจะหาทางช่วยห่านทองคำไม่ได้

ในเมื่ออำนาจกสทช.มีข้อจำกัด เสนอความเห็นปลอดดอกเบี้ยไม่ได้ แต่มาตรา 44 ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น