xs
xsm
sm
md
lg

ThaiWPS คุยดีอี จุดประกาย “คลังข้อมูลไทยในประเทศไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พงศ์พรหม ยามะรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด “ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส” (ThaiWPS)
ThaiWPS เสนอแนวทางช่วยผลักดันประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ “ประเทศดิจิทัล” หรือดิจิทัลเนชันอย่างยั่งยืน เผยได้คุยกับตัวแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เพื่อจุดประกายให้รัฐบาลตั้งนโยบายประเทศ เรื่องการรักษาความปลอดภัยข้อมูลให้ถูกจัดเก็บในคลังข้อมูลประเทศไทยแทนต่างประเทศ สุดปลื้มปีใหม่ ThaiWPS มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 13 เจ้า ถือว่าน่าพอใจมากเมื่อเทียบกับเวลา 6 เดือนที่เริ่มเปิดตลาด

พงศ์พรหม ยามะรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด “ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส” (ThaiWPS) แสดงความกังวลกรณีรัฐบาลไทยต้องการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวว่า ปีนี้คือปีที่นโยบายดิจิทัลเนชันของไทยต้องถึงจุดเปลี่ยน 2 เรื่องหลัก ไม่เช่นนั้น “ไทยแลนด์ 4.0” ไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแน่นอน

“ผมไม่ได้พูดในฐานะแบรนด์ ThaiWPS ผมมองในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เราต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ ผมคิดว่า เรื่องสำคัญ คือ ต้องทำเรื่องคน และการจะทำเรื่องคนได้ต้องเปลี่ยนแปลงเมือง ต้องเริ่มที่เมืองก่อน” พงศ์พรหม ระบุ “เรื่องที่ 2 คือ รัฐบาลควรหนุนให้มีการตั้งคลังข้อมูลในประเทศไทย อาจจะเชิญต่างชาติมาตั้งศูนย์ที่เมืองไทย หรืออุดหนุนให้คนไทยตั้งศูนย์ในไทยก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ข้อมูลถูกเก็บนอกประเทศต่อไป การสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมในไทยย่อมไม่เกิดขึ้น”

ให้เงินสตาร์ทอัปอย่างเดียวไม่ได้


เรื่องแรก พงศ์พรหม มองว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ คือ การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เช่น พื้นที่ “มิวเซียมควอเทีย” ในเวียนนา หรือกรุงโตเกียว ที่หากสืบค้นบนอินเทอร์เน็ตจะพบว่ามีรายชื่อพิพิธภัณฑ์คุณภาพมากกว่า 10 หน้าต่อเนื่องกัน

“ผมไม่ได้ต่อต้านห้าง แต่วันนี้อัตราการเกิดห้างในประเทศไทยมีมากกว่าอัตราสถานที่เพื่อการเรียนรู้ เมืองใหญ่ควรจะมีแกลลอรี หรือพิพิธภัณฑ์ ให้สมดุลระหว่างศิลปวัฒธรรม และพื้นที่ขายของไทย มีปัญหาเด็กอยากได้ของราคาแพง เรื่องนี้ไม่ผิด เพราะไทยเรามีห้างทั้งต้นซอย และท้ายซอย ถ้าทุกผ่ายร่วมกันรณรงค์ เราจะสามารถสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ เมืองที่ทำให้คนคิด และตั้งคำถามได้”

พงศ์พรหม ย้ำว่า การที่รัฐบาลเทเงินมาผลักดันการทำสตาร์ทอัปของเด็กยุคใหม่อย่างเดียวนั้น ไม่ได้ผลเรื่องการพัฒนาคนแน่นอน แต่รัฐควรจะต้องนำเงินมาอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศด้วย

“ทำไมมีไทยแลนด์ 4.0 แล้วยังสมองไหล เด็กจบใหม่ด้านเทคโนโลยีหันไปทำงานต่างประเทศกันหมดเพราะไทยไม่มีศูนย์วิจัยและพัฒนารองรับ ทั้งหมดนี้มาจากปัญหา คือ การไม่มีแก่นในการทำให้อุตสาหกรรมไอทีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”

พงศ์พรหม ยกตัวอย่างซิลิคอนวัลเลย์ เขตเศรษฐกิจไอทีของสหรัฐฯ ที่มีขอบรั้วติดกับมหาวิทยาลัย นักศึกษาสามารถเดินข้ามรั้วไปฝึกงานได้ และจบการศึกษามาทำงานที่บริษัทที่ต้องการได้

สำหรับแผน EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แม้จะเริ่มดึงเงินทุนไอทีจากมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ มาได้บางส่วน แต่พงศ์พรหม มองว่า ไทยยังขาดการพัฒนาคน เนื่องจากมาเลเซีย หรือสิงคโปร์นั้น ทำมหาวิทยาลัยคู่ไปด้วย สะท้อนว่า ไทยไม่มีแผนที่ดีพอจะเอาบุคคลากรมาป้อนอุตสาหกรรม

ข้อมูลไทยควรอยู่ในประเทศไทย


เรื่องที่ 2 คือ ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของระบบข้อมูล และเครือข่าย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะต่อยอดเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว แต่วันนี้ข้อมูลต่าง ๆ ของประเทศไทยกลับถูกจัดเก็บอยู่ในคลังข้อมูลต่างประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่าย และเสี่ยงถูกโจรกรรมข้อมูล

“วันนี้เทคโนโลยีวิเคราะห์ใบหน้า face recognition ที่รู้จักใบหน้าคนไทยดีที่สุด คือ Facebook คลังข้อมูลอยู่ที่สิงคโปร์ เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยของชาติได้ เพราะฐานข้อมูลใบหน้าคนสามารถต่อยอดสู่ระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับเมือง เพื่อป้องกันอาชญากรรม และการก่อการร้ายได้” พงศ์พรหม กล่าวต่อ “ทางที่ทำได้ คือ เชิญเค้ามาตั้งศูนย์ที่เมืองไทย หรืออุดหนุนให้คนไทยตั้งศูนย์ในไทย ประเทศอื่นเขาก็ทำใน 2 ทางนี้ ไม่ได้ทำอะไรที่แปลกกว่านั้น”

พงศ์พรหม ชี้ว่า ได้จุดประกายให้รัฐบาลตั้งนโยบายประเทศ เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว เช่น การให้สิทธิพิเศษให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในไทย หากทำได้ เชื่อว่าจะทำให้ระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจไทยโตไปด้วย ต่อยอดได้หลายทาง

“มีการเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้า เราเลยต้องออกมาพูด” พงศ์พรหม ระบุ “เราจะปล่อยให้มันเลยเถิดไปเรื่อย ๆ หรือดีอี ควรมีนโยบายมาเลยว่าจะสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมเอไอ ในไทยได้อย่างไร ไม่งั้น คนงง ต่างชาติก็งง มีแต่เงินก้อนหนึ่งที่ให้สตาร์ทอัปมา”

นอกจากข้อมูลใบหน้าคนไทย ยังมีข้อมูลอีคอมเมิร์ซไทยที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลายทาง การปล่อยให้ข้อมูลอยู่นอกประเทศถือว่าเป็นความเสี่ยง และหากรัฐบาลไทยกำหนดนโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจเอไอ แต่ไม่มีการกำหนดรายละเอียดที่มาของข้อมูล ไทยจะเสียหายทันที

“ถ้าไม่เป็นเจ้าของดาต้า ไทยก็จะเป็นผู้ขาย และเป็นผู้ให้บริการอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดแล้ว เราก็จะหนีการยึดครองของบริษัทต่างชาติไม่ได้”

พงศ์พรหม ยืนยันว่า การให้ความเห็นเช่นนี้ไม่ได้หวังให้ ThaiWPS ได้ประโยชน์เรื่องการจุดประกายให้รัฐบาลอุดหนุนให้คนไทยตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย โดยบอกเพียงว่า “เรื่องนี้ผมไม่ได้มอง ถ้ามาก็ดี”

ThaiWPS มีแผนเปิดตัวบริการคลังข้อมูลคลาวด์แก่องค์กรไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ขยายจากธุรกิจผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำนักงานเพื่อคนไทย ซึ่งเปิดตลาดเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยการันตีว่าจะเป็นบริการคลังข้อมูลคลาวด์แรกที่ปักธงในประเทศไทย เพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่างแอมะซอน และไมโครซอฟท์ จริงจัง ผ่านความปลอดภัย ความรวดเร็ว ราคา และบริการที่ดีกว่า

“ต่อไปนี้ คือ เราจะโชว์ว่าเราดีที่สุดในประเทศไทย เจาะตลาดหน่วยงานเอกชน และภาครัฐ เราจะเอาดาต้ากลับมาอยู่ในประเทศไทย การันตีได้ว่า ทุกธุรกิจจะไม่ถูกคู่แข่งเปิดดูระหว่างทาง”

ThaiWPS ตอบรับดี

สำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์สำนักงานเพื่อคนไทย ThaiWPS มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นช่วงปีใหม่ รวมเป็น 13 ราย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร และเอกชนกลุ่มนิคม

“ในเวลา 6 เดือน ถือว่าตอบรับดี จากการลงไปคลุกคลีกับตลาด พบว่า ผู้ใช้มีปัญหา คือ จ่ายแพง แต่ใช้ได้น้อย เราจึงยืนยันว่าจะเล่นราคา มั่นใจว่าจะทำได้ คือ ขอเวลา 3 ปีให้ ThaiWPS เป็นแมส”

สำหรับโครงการที่ ThaiWPS จะมอบไลเซนส์ให้หน่วยงานการศึกษาใช้โปรแกรมฟรี บริษัทระบุว่า พบความต้องการในช่วงแรก คือ 8 แสนไลเซนส์ แต่มีการพิจารณามอบได้จริงในเฟสแรก 5 แสนไลเซนส์ โดย ThaiWPS เน้นการสอนและมอบความรู้การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลแก่หน่วยงานการศึกษาในโครงการนี้ ไม่ได้เทรนด์เฉพาะสอนใช้ซอฟต์แวร์ ThaiWPS

“ปีนี้เราคุยอีก 2-3 โรงเรียน ทำห้องเรียนต้นแบบ เราจะจับมือกับ 2 มหาวิทยาลัยใหญ่ คือ ลาดกระบัง กับพระนครเหนือ เราจะเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่เอาความรู้ไอทีมาถ่ายทอดในคณะวิศวฯ เลย”

ผู้บริหาร ThaiWPS ให้ข้อมูลว่า การประเมินตลาดธุรกิจซอฟต์แวร์สำนักงานเพื่อคนไทยนั้น อยู่ที่ราว 25 ล้านไลเซนส์ คาดว่าจะเติบโตเป็น 27 ล้านไลเซนส์ เมื่อเกิดโครงการ EEC จุดนี้ ThaiWPS ชี้ว่า คู่แข่งหลักของบริษัท คือ ซอฟต์แวร์เถื่อน ซึ่งปีหน้าบริษัทมีแผนให้บริการซอฟต์แวร์สำนักงานบนคลาวด์ต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น