xs
xsm
sm
md
lg

4.0 แค่เอื้อม? หน่วยงานรัฐไทย 88% มีเพจ Facebook

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) มั่นใจว่าปี 2561 จะเป็นปีของข้อมูลภาครัฐแท้จริง
การสำรวจพบหน่วยงานรัฐบาลไทยเดินหน้าปรับระบบงานเป็นดิจิทัลแล้ว 70% ที่น่าสนใจคือ มีการใช้โซเชียลติดต่อประชาชนสูงขึ้น สถิติล่าสุด พบหน่วยงานรัฐเปิดเพจบนเฟซบุ๊ก (Facebook) มากกว่า 88% โดยมีการใช้ YouTube ร่วมประชาสัมพันธ์ข้อมูล 50% และใช้ Line มากกว่า 50% ผลสืบเนื่องจากคนไทยทั่วประเทศนิยมใช้ Line

ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) เปิดเผยผลการสำรวจความพร้อมรัฐบาลหน่วยงานรัฐประจำปี 2560 ว่า กว่า 91% ของหน่วยงานภาครัฐระดับกรม หรือเทียบเท่า จำนวน 274 หน่วยงานนั้น ถูกประเมินว่าสอบผ่านเรื่องความพร้อมรัฐบาลดิจิทัล โดยความพร้อมอันดับ 1 คือ โครงสร้างพื้นฐาน อันดับ 2 คือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ รองลงมา เป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านี้ยังสอบตกเรื่องระบบบริหารจัดการ และเทคโนโลยีอัจฉริยะ

“ในภาพรวม หน่วยงานรัฐมีความพร้อมแล้วด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายแล้ว และด้านเจ้าหน้าที่ที่ปรับตัวเข้ากับยุคโซเชียลมากขึ้น ดังนั้น ความท้าทายที่ต้องปรับปรุง คือ จะทำอย่างไรให้คนไทยมีแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์มากขึ้น แอปพลิเคชันที่จะทำให้คนไทยมีปฏิสันธานกับเจ้าหน้าที่รัฐได้สะดวก”

ดร. ศักดิ์ ระบุว่า สิ่งที่ EGA วางแผนในปีหน้า คือ การสร้างแอปพลิเคชันที่จะบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงานเข้าเป็นเรื่องเดียว ปัจจุบัน ตัวอย่างแอปพลิเคชันภาครัฐที่รวมข้อมูลในลักษณะนี้แล้วคือ แอปพลิเคชันไทยวอเตอร์ (Thaiwater)

“เราคาดว่าจะทำแอปพลิเคชันสไตล์นี้เพิ่มอีกในปีหน้า เป็นแอปพลิเคชันที่รวมข้อมูลเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวเนื่องกัน โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่มจากหลายแอปพลิเคชัน”

ดร. ศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า เบ็ดเสร็จทั้งปี 2560 แอปพลิเคชันภาครัฐบาลไทยถูกดาวน์โหลดมากกว่า 1.5 ล้านครั้ง โดยแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เอสเอสโอคอนเนกต์ (SSO Connect) แอปพลิเคชันของสำนักงานประกันสังคม รองลงมา คือ Thaiwater แอปพลิเคชันรายงานระดับน้ำ และอาร์ดีสมาร์ทแท็กซ์ (RD Smart Tax Application) แอปพลิเคชันสรรพากร

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า จากหน่วยงานรัฐทั้งหมด 274 กรม ราว 192 กรมมีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก (88%) โดยหากสำรวจหน่วยงานระดับจังหวัด 1,179 แห่งทั่วประเทศ พบว่า 534 หน่วยงานระบุว่าใช้ Line ในการสื่อสาร คำนวณเป็นสัดส่วนมากกว่า 50%

“สถิติเหล่านี้ถือว่าดีมาก วันนี้หน่วยงานรัฐ 82% มีบริการออนไลน์ ภาครัฐเริ่มส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ล้วน จุดนี้พบว่า ภาครัฐตื่นตัวเรื่องการสำรองข้อมูลด้วย พบว่ามากกว่า 200 หน่วยงานหรือ 92% มีการสำรองข้อมูล”

สำหรับการสำรวจในปีหน้า ดร. ศักดิ์ ระบุว่าจะปรับปรุงการสำรวจให้ครองคลุมหน่วยงานรัฐทั้งหมดในปีหน้า จากปีนี้ที่ศึกษาเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีเจ้าหน้าที่ด้านไอที จุดนี้พบว่า ปีนี้ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ด้านไอทีราว 6,000 คน เป็นนักวิชาการราว 75% โดย CIO ภาครัฐระดับกรมวันนี้อยู่ในตำแหน่งราว 3 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมต่อเนื่อง

ปีหน้า ยุคทอง Open Data

สำหรับแนวทางการเชื่อมฐานข้อมูลภาครัฐ หรือ Open Data ผู้อำนวยการ EGA ระบุว่าตรงกับนโยบายเรื่องการนำ Big Data มาใช้กับหน่วยงานราชการ จุดนี้คาดว่า ปีหน้าภายในไตรมาสแรก ประเทศไทยจะพัฒนาระบบ Big Data ในโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่หลายกระทรวงสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาประชาชนคนไทยได้อย่างตรงจุด

“ปีหน้า ฐานข้อมูลภาครัฐที่มีอยู่ปัจจุบัน 800 ฐานข้อมูลต้องเชื่อมถึงกันหมด โดยตอนนี้เชื่อมได้แล้ว 30% ปีหน้าจะทยอยเชื่อมกันมากขึ้น” ดร. ศักดิ์ ระบุ “วันนี้หลายกระทรวงนำ Big Data มาใช้แล้ว ที่เราจะทำ คือ แทนที่จะเป็นคลังข้อมูลของแต่ละกระทรวง เราจะนำมารวมกัน เราจะนำ Big Data มาใช้จริงจังในปีหน้า ทำให้ปีหน้าเป็นปีของข้อมูลภาครัฐแท้จริง”

แม้ฐานข้อมูลหน่วยงานไทยจะเชื่อมถึงกันแล้วในวันนี้ แต่จะยิ่งง่ายขึ้นเมื่อกฎหมายอย่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการเปลี่ยนแปลง จุดนี้ ดร. ศักดิ์ ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“ยกตัวอย่างระบบฐานข้อมูลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ระบบนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขว่าจะดูแลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็จะเชื่อมโยงกับกระทรงยุติธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคม ระบบนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของคนไทยได้เป็นรายวัน​ หรือรายเดือน เพราะกระทรวงสาธารณสุขอัปเดตข้อมูลทุกวัน เราจะได้เห็นในไตรมาสหน้า เรื่องนี้ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.”
กำลังโหลดความคิดเห็น