xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรที่อยากรับคนดิจิทัลต้องปรับตัวอย่างไร ฟัง 6 ข้อแนะนำจากดีแทค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จากการที่มีผลสำรวจระบุว่า ภายใน 25 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานในตลาดจะหายไปถึง 47% จากการแทนที่ของเทคโนโลยี ทำให้ทุกองค์กรต้องทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล ดีแทค จึงเริ่มโครงการปั้นองค์กรสู่ดิจิทัล และขึ้นเป็นผู้นำภายในปี 2020 กับเป้าหมายรับคนดิจิทัล 200 ราย

น.ส.นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ทุกองค์กรต่างต้องทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่ามีผลกระทบมากหรือน้อย ที่จะทำให้องค์กรปรับตัวเร็วตาม

อย่างในดีแทค ได้เริ่มโครงการผลักดันองค์กรให้ก้าวสู่ดิจิทัลมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การขึ้นผู้นำองค์กรดิจิทัลในประเทศไทย ปี 2020 ทั้งจากการปรับวัฒนธรรมองค์กร และรับพนักงานในยุคดิจิทัล

“ดีแทคเข้าใจว่าคนดิจิทัล หรือน้องๆ รุ่นใหม่มีความชอบไม่เหมือนรุ่นก่อน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับองค์กรให้เห็น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในบริษัท เพราะตามเป้าหมายที่วางไว้คือ ดีแทคต้องการเพิ่มพนักงานอีก 200 ตำแหน่ง ที่เป็นคนดิจิทัล หรือมีทักษะทางด้านดิจิทัลในปี 2020”

นอกจากนี้ ยังแนะนำองค์กรให้เตรียมความพร้อมด้วยกัน 6 ข้อหลักๆ คือ 1.คนดิจิทัล อยากจะอยู่ในองค์กรที่ทำงานในลักษณะเป็นโปรเจกต์ ไม่ได้อยากทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ องค์กรต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดแบบสตาร์ทอัปมาทำงานร่วมกัน

2.คนดิจิทัลอยากทำงานที่มีคุณค่า และภูมิใจในผลงานของตนเอง 3.คนดิจิทัลมองว่าผลตอบแทนอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของเงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการได้โอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจที่พัฒนาขึ้นระหว่างทำงาน

4.คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในรูปแบบที่มีระดับชั้น แต่ชอบการเปิดกว้างเพื่อให้สามารถสื่อสารกับพนักงานในทุกระดับได้ 5.คนดิจิทัลชอบทำงานข้ามแผนก ไม่อยากทำงานเฉพาะทีมเดิมๆ เพราะต้องการเปิดมุมมองใหม่ๆ และสุดท้าย คือ 6.คนรุ่นใหม่อยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาทำให้องค์กรต้องมีการทำเทรนนิ่ง หรือเวิร์กชอปเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้

ขณะเดียวกัน ดีแทค ยังย้ำให้เห็นความสำคัญของบุคลากรยุคใหม่ เพราะมีข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ระบุว่า ในประเทศพัฒนาแล้วตำแหน่งงานในตลาดจะสูญหายไปถึง 47% ภายใน 25 ปีข้างหน้า จากการแทนที่ของเทคโนโลยี และหุ่นยนต์

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลใน Linkedin พบว่า 55% ของบริษัททั่วโลกมีความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัลของพนักงานในองค์กร และมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการ์ทเนอร์ ก็ระบุว่า งานด้านเทคโนโลยียังคงเป็นที่ต้องการทั่วโลก และคาดว่าตลาดจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานด้านเทคโนโลยีถึง 30% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับจำนวนการผลิตของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ในดีแทค กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ได้วางกลยุทธ์ผ่าน 4 เสาหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 1.การปรับโครงสร้างองค์กร (Organization) ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอน และลำดับชั้น 2.ปรับวัฒนธรรมองค์กร (Culture) ไม่ใช่แค่การดึงดูดคนดิจิทัลเข้ามาในบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาบุคลากร

“ที่ดีแทค ซีอีโอไม่มีห้องทำงานแบบที่อื่น ใช้พื้นที่ทำงานเดียวกันกับพนักงานธรรมดา สะท้อนถึงแนวคิดความเสมอภาคของพนักงานในองค์กร ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของบริษัทที่ว่า คิดต่าง (Think different) ทำเร็ว (Act fast) กล้าทำ (To be daring) และมุ่งมั่นที่จะชนะ (Passion to win)”

3.การส่งเสริมทักษะและความคิด (Skill & Capability) ทั้งทักษะความรู้ (Hard skill) และทักษะเชิงอารมณ์ (Soft skill) ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด (Coding) การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (Big data analytics) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product launch) พร้อมไปกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และการทำงานเป็นทีม

สุดท้าย 4.ทำให้เห็นเส้นทางพนักงานดิจิทัล (Digital journey) ในการนำความรู้ และทักษะที่มี มาเสนอแนวคิด ผ่านโครงการอย่าง dtac accelerate หรือ ignite เพื่อให้พนักงานมีโอกาสเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือธุรกิจได้

ตัวอย่างโฆษณาเชิญชวนคนดิจิทัลเข้ามาทำงานของดีแทค




กำลังโหลดความคิดเห็น