xs
xsm
sm
md
lg

เอไอเอสชี้ราคาประมูลคลื่น 900/1800 MHz แพงเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สมชัย” ซีอีโอเอไอเอส ชี้ประมูลคลื่น 900/1800 MHz รอบใหม่ไม่ควรนำราคาสูงผิดปกติของครั้งที่แล้วเป็นตัวตั้ง แต่เมื่อโทรคมนาคมไทยติดกระดุมผิดเม็ด ผู้ให้บริการก็ต้องหวานอมขมกลืนประมูล เผยต่างชาติสงสัยทำไมให้โอกาส “แจส โมบาย” จอมเบี้ยวเข้าประมูลครั้งใหม่ได้ อาจส่งผลต่อภาพรวมธรรมาภิบาลประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบเคสนี้ในโลกมาก่อน ฝัน กสทช. ชุดใหม่ขอให้เข้าใจอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างแท้จริง ต้องกำกับดูแลให้สมดุล ทั้งผู้ประกอบการ รัฐบาล และประชาชนคนใช้บริการ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และคลื่น 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.กำหนดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค.2561 ก่อนจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย.2561 ว่า เอไอเอส สนใจเข้าร่วมประมูล แต่ต้องขอดูเงื่อนไขการประมูลที่ชัดเจนของคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ก่อนว่าจะเดินตามรูปแบบเดิมที่รักษาการ กสทช.ร่างไว้ หรือจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร

สำหรับปัจจัยหลักที่ต้องนำมาวิเคราะห์นั้น ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก เรื่องความต้องการคลื่นความถี่ หากเปรียบเทียบกับการประมูลในครั้งที่ผ่านมา คลื่นที่ถูกประมูลไปล้วนแต่มีผู้ให้บริการต้องการทั้งสิ้น แต่การประมูลครั้งนี้นับว่ามีความจำเป็นน้อยกว่า เพราะคลื่นที่เอไอเอส มีอยู่ยังคงเพียงพอในการให้บริการ ขณะที่สภาพตลาดโดยรวมทั้ง เอไอเอส เอง และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่างมีคลื่นรวมกันอยู่ที่ 55 MHz หรือ 100 MHz เมื่อนำมาคูณ 2 ก็ยังนับว่าเพียงพออยู่ในขณะนี้

ส่วนที่สอง คือ เรื่องของราคา เอไอเอสมองว่า การนำราคาครั้งที่แล้วมาเป็นตัวตั้งไม่ใช่คำตอบของราคาเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะราคาครั้งที่แล้วเป็นราคาที่ผิดปกติ แพงเกินไปจากการที่มีบางรายต้องการคลื่นแต่สุดท้ายไม่มีเงินจ่าย และส่วนสุดท้าย คือ สภาพการแข่งขัน หากต้องประมูลด้วยราคาที่สูง การแข่งขันจะไม่สามารถแข่งได้ สุดท้ายผู้บริโภคจะถูกผลักภาระให้ใช้บริการที่แพงขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงนั่นเอง

“การพิจารณาทั้ง 3 ปัจจัยนี้ เมื่อถึงเวลาที่ปรึกษาของเราก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจะบอกเราเองวาเราควรร่วมประมูลหรือไม่ ซึ่งเอไอเอสก็มีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว”

นายสมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรณีที่ กสทช.ยังเปิดโอกาสให้ แจส โมบาย สามารถเข้ามาประมูลในครั้งนี้ได้ ทำให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตั้งคำถามว่า ทำไม กสทช.ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนี้กลับส่งผลต่อธรรมาภิบาลของประเทศในภาพรวมด้วย เพราะหากมองดูแล้วกรณีแจส โมบาย นั้นอาจจะไม่กล้าเรียกได้ว่าเป็นเคสเดียวในโลกที่ทำแบบนี้ แต่เท่าที่เคยประสบมาก็ไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน นักลงทุนหลายคนจึงสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

“ดังนั้น ในการประมูลครั้งนี้จึงไม่เชื่อว่าจะมีผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาประมูล เพราะบ้านเราไม่มีระบบอินฟราสตรักเจอร์แชริ่ง แบบชัดเจน หากเขาเข้ามาลงทุนเขาต้องเริ่มปูพรมเน็ตเวิร์กใหม่หมด ต้นทุนสูง และไม่สามารถแข่งขันกับรายเดิมได้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีแค่ 3 ค่าย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู โดยที่ ดีแทค อาจจะเป็นค่ายที่ต้องการมากที่สุดเพราะสัญญาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลง”

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ก็ต้องมีผู้ประมูล ในเมื่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยติดกระดุมผิดเม็ดมาตั้งแต่แรก ผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องหวานอมขมกลืน ติดกระดุมเม็ดต่อไป แต่หากเงื่อนไขการประมูลยังคงเริ่มที่ราคาสูงแบบนี้ การแข่งขันในการประมูลก็คงไม่ดุเดือด

ดังนั้น กสทช.ชุดใหม่จึงควรเป็น กสทช.ที่เข้าใจอุตสาหกรรม เข้าใจบริบทการกำกับดูแลที่ต้องสนับสนุนมากกว่าการกำกับ และต้องสร้างความสมดุลทั้งภาคเอกชนผู้ประกอบการ รัฐบาล และประชาชน ที่ผ่านมา โชคดีที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย แข็งแรงมาก ทำให้การลงทุนขยายเน็ตเวิร์กเป็นไปได้ไวกว่าเป้าที่ กสทช.วางไว้ รัฐก็ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียเงินลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจ

อนึ่ง เบื้องต้น กสทช.ระบุว่า คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ (1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท

ส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ 15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคา จะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น