xs
xsm
sm
md
lg

เฟซบุ๊กเตรียมให้ข้อมูลผู้ซื้อโฆษณาในรัสเซียกับทางการสหรัฐอเมริกาแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า เชอร์รีล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊กยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อโฆษณาในรัสเซีย ในระหว่างช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยข้อมูลที่จะให้นั้นมีตั้งแต่ตัวโฆษณา เพจที่ Link ไป และกลุ่มเป้าหมายของการลงโฆษณา

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องอื้อฉาว และทำให้เจ้าพ่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เสียรังวัดมากที่สุดกับการพบว่า มีการสร้างบัญชีปลอมจากรัสเซีย เพื่อเข้าซื้อโฆษณาหลายพันชิ้นจากเฟซบุ๊กในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2016 โดยโฆษณาเหล่านั้นมีการเข้าถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในสหรัฐอเมริกาประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของโฆษณาได้เข้าถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กก่อนการเลือกตั้งด้วย ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเข้าเฟซบุ๊กจากเหตุการณ์นั้น มีมูลค่าประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีเงินอีก 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่ถูกใช้จ่ายไปกับโฆษณาที่มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งดูเหมือนกระทำโดยชาวรัสเซีย
         
ทั้งนี้ กฎหมายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ห้ามพลเมือง และบริษัทของต่างชาติใช้จ่ายเงิน เพื่อแสดงการสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือโจมตีผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่คนที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันอาจลงโฆษณาทั่วไปในประเด็นพวกนี้ได้ อาทิ โฆษณาที่พูดถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีเนื้อหาเรียกร้องให้โหวต หรือโจมตีผู้สมัคร ซึ่งนั่นทำให้เหล่านักกฎหมายมองว่าเป็นพื้นที่สีเทาของกฎหมาย

่ส่วนเพจ และบัญชีผู้ใช้งาน 470 บัญชี ที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาเหล่านั้น ได้ทำผิดเงื่อนไขการใช้งาน และได้ถูกระงับบัญชีไปแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้เฟซบุ๊กประกาศจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อตรวจสอบคอนเทนต์ด้านโฆษณาบนแพลตฟอร์มเป็นกรณีพิเศษอีกเป็นพันคนด้วย

ด้านเชอร์รีล แซนเบิร์ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทางการในการสอบสวนเรื่องราว รวมถึงการตรวจสอบว่ามีความพยายามจากรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ และจะแถลงต่อสาธารณะถึงข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาเหล่านั้นว่าถูกใช้อย่างไรบ้างเมื่อการสืบสวนเสร็จสิ้นด้วย

นอกจากลงทุนเพิ่มด้านกำลังคนแล้ว เฟซบุ๊กยังมีการลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาเทคนิคให้กับแมชชีนเลิร์นนิงสำหรับช่วยระบุแอ็กเคานต์ปลอมที่ใช้ในการแพร่กระจายโฆษณาเหล่านั้นด้วย รวมถึงการจ้างพนักงานเพิ่มอีก 4,000 ตำแหน่ง เพื่อรีวิวคอนเทนต์ก่อนที่จะปล่อยขึ้นบนแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ดี เชอร์รีล แซนเบิร์ก แสดงความไม่เห็นด้วย หากจะเข้าใช้อำนาจปิดกั้นอิสระในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากมองว่า หากเกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นบนแพลตฟอร์มแม้แต่คนเดียว ก็เท่ากับว่าเฟซบุ๊กขัดขวางอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น