xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. เตรียมหาข้อสรุปกับ ธปท. จัดเก็บภาษี OTT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช. เผยผลประชุมหน่วยงานกำกับดูแลประเทศอาเซียน เห็นพ้องควรมีมาตรการเก็บภาษี OTT ชี้ การเก็บผ่าน เนชั่นแนล เพย์เมนท์ เกตเวย์ เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ เตรียมหารือร่วมกับ ธปท. เพื่อหามาตรการการเก็บภาษีร่วมกัน พร้อมนำผลประชุมส่งต่อ “นที” เพื่อนำไปรวมกับหลักเกณฑ์เดิมที่มี คาดเดือน ต.ค. สามารถเปิดประชาพิจารณ์ และได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงผลการประชุมหารือ เรื่อง Over The Top (OTT) ของที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ ASEAN Telecommunications Regulators’ Council (ATRC) ระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า การประชุมครั้งนี้มีประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่เข้าร่วมประชุม 8 ประเทศใน 10 ประเทศ โดยประเทศพม่า และสิงคโปร์ ไม่ได้เข้ามาร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยตามแนวทาง 3 ข้อ คือ 1. ส่งเสริมและกำกับดูแลระหว่างอุตสาหกรรม ระหว่างองค์กรกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผลประโยชน์ของประเทศในด้านภาษี 2. การสร้างสภาวะการแข่งขันที่เหมาะสม และเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม กับผู้ให้บริการโอทีที และระหว่างผู้ให้บริการโอทีทีรายใหญ่ และรายเล็ก 3. การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้ากันได้ของระบบต่าง ๆ โดยจะเน้นเนื้อหาที่นำมาให้บริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย จากนั้น ที่ประชุมจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ATRC เร็วที่สุด เพื่อให้แต่ละประเทศดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าว

“หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า การเก็บภาษี เป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งทางหนึ่งที่จะเก็บภาษีได้นั้น สามารถเก็บผ่านช่องทาง เนชั่นแนล เพย์เมนท์ เกตเวย์ได้ เพราะการจ่ายเงินใช้บริการ OTT ส่วนใหญ่จ่ายผ่านทางช่องทางนี้ แต่ประเทศอินโดนีเซีย ก็แนะนำว่าการเก็บผ่านช่องทาง เนชั่นแนล เพย์เมนท์ เกตเวย์ เพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุม ควรบังคับให้มีการลงทะเบียนด้วย แต่หลายประเทศก็ไม่เห็นด้วย และคิดว่าควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ร่วมกันมากกว่า โดยต้องทำให้เหมาะสมกับกฎหมายที่แต่ละประเทศมี”

สำหรับการดำเนินการในประเทศไทยนั้น กสทช. จะนำหลักการดังกล่าวมาส่งเสริม และรองรับบริการ OTT ใน 3 ประเด็น คือ 1. นโยบายภาษี กสทช. จะประสานกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เพื่อให้มีการดำเนินการด้านภาษีกับผู้ให้บริการ OTT โดยรายได้จากการให้บริการในประเทศไทย ควรมีการจัดเก็บภาษีเข้าประเทศ 2. การคุ้มครองผู้บริโภค จะให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เผยแพร่ผ่าน OTT และการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายของประเทศไทย โดยแนวทางน่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายไทย และ 3. การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน กสทช. จะสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันสำหรับการประกอบกิจการ OTT รวมถึงการให้บริการ OTT ที่จะเกิดขึ้นขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมร่วมมือกับผู้ให้บริการ OTT ในการแข่งขันบนกฎกติกาเดียวกัน โดยทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายไม่ปิดกันแนวคิดสร้างสรรค์ของบริการ OTT แบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น

นายฐากร กล่าวว่า หลักการจากการประชุมครั้งนี้สำนักงาน กสทช. จะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over the Top ที่มีรองประธาน กสทช. พ.อ. นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน เพื่อนำไปประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยคาดจะสามารถรับฟังความเห็นได้ภายในเดือน ต.ค. และจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ย. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น