xs
xsm
sm
md
lg

“ลายนิ้วมือที่สามารถปลดล็อกได้ทุกสมาร์ทโฟน” เกิดแล้วจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำหรับใครที่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีการสแกนลายนิ้วมือว่า จะสามารถปกป้องความลับในสมาร์ทโฟนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ออกมาเผยแล้วว่า สามารถสร้างลายนิ้วมือแบบ “Master Print” ที่ “ปลดล็อก” ได้ทุกสมาร์ทโฟน หรือหากเปรียบกับกุญแจก็คือ “มาสเตอร์คีย์” ที่สามารถปลดล็อกได้ทุกประตู

โดยสิ่งที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นนั้น เป็นการนำภาพลายนิ้วมือส่วนต่างๆ จำนวนมากมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพลายนิ้วมือใหม่ ซึ่งภาพลายนิ้วมือ Master Print นี้มีความคล้ายคลึงกับภาพลายนิ้วมือเดิมประมาณ 26-65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเหตุผลที่ Gap ของความสำเร็จนั้น ค่อนข้างกว้าง เนื่องจากขนาดของฐานข้อมูลนั้นแตกต่างกัน ยิ่งมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือขนาดใหญ่เท่าไร โอกาสในการสร้างลายนิ้วมือมือปลอมสำเร็จก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ชี้ว่า ความสามารถนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีประเด็นด้านซีเคียวริตี้อื่นๆ ร่วมด้วยอีกสามข้อ นั่นคือ โดยทั่วไปแล้ว เซนเซอร์สำหรับสแกนลายนิ้วมือบนสมาร์ทโฟนนั้นมี “ขนาดเล็ก” สอง คือ สมาร์ทโฟนอนุญาตให้ผู้ใช้งานบันทึกลายนิ้วมือได้มากกว่า 1 นิ้ว และข้อสุดท้าย สมาร์ทโฟนให้โอกาสผู้ใช้งานหลายครั้งในการสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อก

Nasir Memon นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เจ้าของผลการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า เพราะเซนเซอร์บนหน้าจอสมาร์ทโฟนมีขนาดเล็กมาก มันจึงไม่ได้จับภาพลายนิ้วมือแบบเต็มๆ อีกทั้ง มันมีหน้าที่ต้องจดจำลายนิ้วมือหลายนิ้ว ระบบจึงเรียนรู้ที่จะจำภาพลายนิ้วมือเป็นส่วนๆ ดังนั้น เมื่อเราวางนิ้วลงบนเซนเซอร์ ระบบจะไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่า นั่นเป็นนิ้วมือไหน รวมถึงไม่ทราบว่า ผู้วางนิ้วนั้น อยู่ในท่าทางอย่างไร

“หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งจับคู่ได้กับแพตเทิร์นที่บันทึกไว้ มันก็จะเข้าใจว่า นั่นเป็นเจ้าของเครื่องล็อกอินเข้ามา”

Memon และทีมได้ทำการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลายนิ้วมือดิจิตอล 800 ชุด จากนั้น ได้แยกลายนิ้วมือเหล่านั้น ออกเป็นส่วนๆ เป็นหลายพันชิ้น ซึ่งพวกเขาพบว่า หากแยกลายนิ้วมือออกเป็นส่วนๆ แล้ว บางส่วนของลายนิ้วมือสามารถจับคู่กับลายนิ้วมืออื่นได้อย่างน่าประหลาดใจ คิดเป็นความแม่นยำประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังเป็นการทดสอบบนคอมพิวเตอร์เท่านั้น นักวิจัยยังไม่ได้ทดลองนำ Master Print นี้ไปใช้หลอกสมาร์ทโฟนอย่างจริงจัง

ด้าน Anil Jain หัวหน้าศูนย์วิจัยไบโอเมทริกซ์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้นพบดังกล่าวให้ความเห็นว่า การที่นักวิจัยศึกษาลายนิ้วมืออิงตามส่วนประกอบต่างๆ ของลายนิ้วมือนั้นเรียกว่า “Minutia”

“ถ้าคุณดูที่ลายนิ้วมือของคุณ คุณจะเห็นว่า บางครั้งลายนิ้วมือก็แยกออก บางครั้งก็แบ่งเป็นสองส่วน บางครั้งมันก็จบลง การที่ลายมีการแยกส่วน ไปจนถึงการสิ้นสุด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเมทริกซ์เรียกว่า Minutia Points”

แต่ Jain กล่าวว่า เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ใช้ใน แอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ไม่ได้ใช้ Minutia Points ในการระบุตัวตน ตรงกันข้าม แต่ละค่ายต่างมีเทคโนโลยีในการจดจำแพตเทิร์นของลายนิ้วมือของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น TouchID บนไอโฟนนั้น ใช้เทคโนโลยี Texture Pattern ในการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ

งานนี้ก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่า ใครจะพิสูจน์ตัวเองได้ก่อนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น