xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวทางธุรกิจ “เดลล์ อีเอ็มซี” ในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เดลล์ อีเอ็มซี เร่งขยายธุรกิจโซลูชันสู่องค์กรธุรกิจขนาดกลาง หลังควบรวมอีเอ็มซีเข้ามา พร้อมจัดโซลูชันครบวงจรลุยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจพีซียังใช้แบรนด์เดลล์ เช่นเดิม วางแผนลุย 3 ธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือ การทรานฟอร์มธุรกิจด้วยไอที นำอุปกรณ์พกพามาช่วยในการทำงาน และการพัฒนาทางด้านความปลอดภัย

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี อินโดไชน่า กล่าวถึงการควบรวมกิจการระหว่างเดลล์ และอีเอ็มซี ในช่วงที่ผ่านมาว่า หลังจากที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผ่านกระบวนทางกฏหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา พอเข้าสู่ไตรมาส 1 ก็เริ่มการรวมทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน

“ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งทีมเดลล์ และอีเอ็มซี ได้ผสานรวมกันอย่างเป็นทางการ โดยมีการปรับโครงสร้างบางส่วนในการจัดรวมธุรกิจเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยในตลาดพีซี จะยังคงใช้แบรนด์เดลล์ ต่อไป แต่ในตลาดเอ็นเตอร์ไพรซ์ทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็น เดลล์ อีเอ็มซี”

สำหรับโครงสร้างในการบริหารหลังจากนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภายใต้ เดลล์ อิงค์ (Dell Inc) ที่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พีซีโน้ตบุ๊ก ยังคงใช้แบรนด์เดลล์อยู่ อีกส่วน คือ ในฝั่งของอินฟราสตรักเจอร์โซลูชันโปรดักต์ ในการให้บริการลูกค้าเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่จะรวมทั้งเดลล์ อีเอ็มซี RSA ที่ให้บริการซิเคียวริตี้เกี่ยวกับระบบยืนยันตัวตน และ Virtustream ให้บริการเกี่ยวกับการนำแอปพลิเคชันมาใช้บนเน็ตเวิร์ก

ขณะที่การให้บริการของ Pivotal ให้บริการคลาวด์เนทีฟแพลตฟอร์ม รวมถึงเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล SecureWorks ระบบรักษาความปลอดภัย และ VMware จะบริหารงานแยกกันเป็นเอกเทศ

เดลล์ อีเอ็มซี ถือเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่ารวมกัน 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการแก่ลูกค้าครอบคลุม 98% ของ Fortune 500 มีพนักงานรวมกัน 1.45 แสนคน เป็นฝ่ายบริการ 30,000 คน

นอกจากนี้ ยังระบุว่าสิ่งที่ทำให้เดลล์ แตกต่างจากหลายๆ บริษัท คือ การเป็นผู้คิดค้น และผู้นำเทคโนโลยีจากการลงทุนวิจัยและพัฒนา 1.27 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรกว่า 21,000 ใบ ที่สำคัญ คือ ได้มีการวางงบในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

ขณะเดียวกัน ก็เป็นอันดับ 1 ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Converged Infrastructure, Storage, DataCenter Automation, Cloud และ Virtualization ในส่วนของธุรกิจพีซีก็เป็นอันดับ 1 ในส่วนของธุรกิจคอมเมอร์เชียลทั้งในตลาดโลก และตลาดประเทศไทย

“เดลล์ไม่ต้องกังวลกับผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการความสำเร็จในทุกๆ 3 เดือน แต่มองถึงการลงทุนในระยะยาวที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อไปในอนาคต และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เดลล์ สามารถก้าวข้ามธุรกิจเดิมสู่ดิจิตอลได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”

อีกส่วนหนึ่ง คือ เดลล์ วางองค์กรให้มีดีเอ็นเอเป็นสตาร์ทอัปที่สเกลขึ้นมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว จึงเน้นให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก ทุกผลิตภัณฑ์ของเดลล์ จะออกมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมกับการทำพาร์ตเนอร์โปรแกรม เพื่อให้คู่ค้าสามารถขยายตัวได้

ทั้งนี้ สิ่งที่เดลล์ จะทำใน 3 ปีข้างหน้า จะอยู่ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ IT Transformation จากไอทียุคใหม่ที่นำโมบายแอปพลิเคชันเป็นตัวขับเคลื่อนเข้าสู่คลาวด์ ในการนำสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่มานำเสนอให้แก่ลูกค้าแบบครบวงจร

ถัดมา คือ Workforce Transformation ในการนำอุปกรณ์พกพามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อให้ประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น และสุดท้าย คือ Security Transformation เพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรธุรกิจให้ปลอดภัยมากขึ้นในยุคดิจิตอล

“เมื่อรวมกันแล้วยังมีโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มองค์กรระดับกลางมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในกลุ่มลูกค้าระดับบนที่ยังไม่เคยใช้งานเซิร์ฟเวอร์ของเดลล์อีเอ็มซี ด้วยการนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจรในลูกค้าเดิมให้ขยายครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

ในส่วนของการทำดิจิตอลทรานฟอร์เมชันที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบันนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีบิ๊กดาต้า และเดลล์ เป็น 1 ใน 2 องค์กร ที่มีโซลูชันบิ๊กดาต้าแบบครบวงจร เช่นเดียวกับการให้บริการคลาวด์ที่มีพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมนำเสนอโซลูชันในการให้บริการ

สุดท้ายในส่วนของตลาดพีซี ก็จะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้รองรับวินโดวส์ 10 มากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสที่ตลาดพีซีจะเกิดการซื้อซ้ำในตลาดองค์กร เหมือนเช่นใน 4 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดมีโอกาสในการเติบโตจากการอัปเดตผลิตภัณฑ์ใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น