xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์ จาติกวณิช” ชี้ไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดรัฐบาลต้องเปลี่ยนทัศนคติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย
ประธานสมาคมฟินเทค “กรณ์ จาติกวณิช” ชี้รัฐบาลต้องเปลี่ยนทัศนคติ หากยังชูนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยกกรณีมอง “อูเบอร์-แกรบ” ผิดกฎหมาย สวนทางนโยบาย ไม่ดึงดูดนักลงทุน ขณะที่ควรใช้กฎหมายที่มีส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัปไทย หลังอาลีบาบา จับมือซีพี สกัดช่องทางจำหน่ายใน 7/11

นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย กล่าวภายในงานสัมมนา “The New Era of Digital for Business Solution” ที่จัดโดย บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนโยบายแรกที่ได้ประกาศออกมา คือ การถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (ทีพีพี) ทั้งนี้ ไทยต้องมีการหารือถึงความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบของนโยบายนี้

2.การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ จะส่งผลแน่นอนกับแนวทางของผู้ประกอบการ ในการประเมินความต้องการของกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล

รวมถึง 3.การสร้างเมืองใหม่ คือ การโอนย้ายสถานะจากชนบทสู่เมืองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลให้คนมีรายได้มากขึ้น เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเองก็ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ จึงต้องเตรียมการรองรับการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม สายการบิน และลอจิสติกส์ และ 4.การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด สินค้าทุกกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐ และเอกชนจะสามารถเตรียมแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยหลักที่จะสร้างความแข็งแกร่งด้านศักยภาพด้านการแข่งขัน คือ การนำนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาวางรากฐานระบบการทำงาน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างมีศักยภาพ

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้นั้น ต้องให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมในทุกภาคส่วน รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เชิญชวน มีแรงดึงดูด ความโปร่งใส สร้างความสนใจให้กับนักลงทุน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต้องปรับทัศนคติ เปิดรับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่เข้ามา เห็นได้ชัดในกรณีของแอปพลิเคชั่นเกิดใหม่ที่เข้ามาในไทยเพื่อให้บริการ อาทิ อูเบอร์ (UBER) แกรบ (GRAB) ไทยมักมีนโยบายที่สวนทางกับต่างประเทศ
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด
อีกทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบไทย และใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลธุรกิจต่างชาติ เช่น กรณีที่อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ร่วมเป็นพันธมิตรกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ทำให้ธุรกิจประเภทเดียวกันไม่สามารถใช้ 7/11 เป็นช่องทางการจำหน่ายได้ ขณะที่ต่างประเทศ อย่างจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการของประเทศตนเอง นอกจากนี้ กรณีเฟซบุ๊ก กูเกิล ที่เข้ามา มีผลกระทบกับวงการโฆษณา รัฐบาลก็ไร้การออกมาตรการกำกับดูแล เพื่อให้มีรายได้เข้าประเทศ เงินจากผู้ใช้งานไหลออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้ใช้งานก็ไม่สามารถขอใบกำกับภาษีได้

อย่างไรก็ตาม สมาคมฟินเทค แม้ว่าทำงานเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังก็ตาม แต่เมื่อมีเรื่องนวัตกรรมเกี่ยวข้อง ก็คงต้องหาวันที่เหมาะสมในการนัดพบกับ นายพิเชฐ ดรุงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ด้วย

ด้าน นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจของไอดีซี (IDC) บริษัทที่ปรึกษา และวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นนำระดับโลก ระบุว่า เทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองในปี 2560 คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล (Digital Transformation) ส่งผลให้ธุรกิจองค์กรในสาขาต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัว และเร่งปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อรองรับ ปัจจุบัน การเกิดใหม่ของกลุ่มเอสเอ็มอี และร้านค้ารายย่อยถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีการพิมพ์เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการพิมพ์เพิ่มมากขึ้น และจัดเก็บในรูปแบบดิจิตอล โดยใช้สแกนเนอร์

สำหรับกลยุทธ์การขยายฐานกลุ่มลูกค้าธุรกิจองค์กรของบราเดอร์ ในปี 2560 นั้น จะเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีการพิมพ์แบบครบวงจรให้แก่กลุ่มธุรกิจองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานสัมมนาต่างๆ โดยนำทีมผู้เชี่ยวชาญมาร่วม เพื่อเจาะลึกในแต่ละกลุ่มธุรกิจ อาทิ ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจเฮลธ์แคร์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น