xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ชี้ ธ.ค.นี้ต้องพร้อมเป็นกระทรวงดีอี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
รักษาการ รมว.ดีอี เผยพยายามผลักดันเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงดีอี ให้ได้มากที่สุด คาดได้เห็นความชัดเจนสิ้นปีนี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าในกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้าง และจัดกำลังพล เพื่อเปลี่ยนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นกระทรวงดีอีว่า ขณะนี้ นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวง กำลังเร่งกระบวนการภายในเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกำลังพลให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่างๆ การเตรียมตัวสำหรับสำนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายใหม่เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ...จะยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อนำมาใช้รองรับหน่วยงานใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2 หน่วยงานในกระทรวงดีอี คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ตาม แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะพยายามผลักดันให้เดินหน้ามากที่สุด ทั้งนี้ ยอมรับว่าตอนนี้ปลัดทำงานคนเดียว กำลังพลไม่เพียงพอ ตนในฐานะรักษาการรัฐมนตรีก็จะเข้ามาดูแล และจะหาคนมาช่วยเพื่อให้การขับเคลื่อนไปสู่กระทรวงดีอี มีความพร้อมภายในเดือน ธ.ค.นี้

“สำหรับความคืบหน้าเรื่องของกำลังคนราว 300 อัตรานั้น ได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งก็รอตอบกลับมา ทางดีอีเองมีความตั้งใจให้ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยโดยเร็ว และให้ทันในปลายปีนี้”

ด้านนางทรงพร ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าด้านกฎหมาย 3 ฉบับ ที่กระทรวงดีอี จะต้องเร่งให้เสร็จ และเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงดีอี ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... อยู่ในช่วงรอการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) และ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... กระทรวงดู และปรับปรุง เนื้อหาให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การทำธุรกรรมออนไลน์ (อี-เพย์เมนต์) ที่กำลังจะออกมาด้วย ดังนั้น กระทรวงดีอี จึงกำลังดำเนินการกำหนดแนวทาง และมาตรการปฏิบัติตามนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งกระทรวงดีอีพร้อมผลักดันแนวทางปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อเกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ กระทรวงดีอียังต้องดูแลในส่วนของแผนกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี ซึ่งตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงของการร่างแผน ซึ่งเป็นขั้นตอนใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว โดยรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา เมื่อรวบรวมเสร็จสิ้นมาเป็นร่างแล้ว จะส่งไปที่กฤษฎีกาตีความ และให้ ครม.พิจารณา และส่งไปที่ สนช. คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และได้ใช้ในไตรมาส 2/2560

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกระทรวงจะต้องปรับวิธีการทำงาน ทำตัวตนให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริง ส่วนรัฐวิสาหกิจในสังกัดต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหาร และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพื่อให้มีผลงานเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น