xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก 3 หน่วยธุรกิจ 'ดิจิทัล เวนเจอร์ส'(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การที่ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' วางดิจิทัล เวนเจอร์ส (DV) ให้เป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ 'ฟินเทค' (FinTech) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการทางการเงิน หรือธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินในโลกยุคดิจิตอลก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรก และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญกับธุรกิจการเงิน การธนาคารในประเทศไทย

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงการเข้ามาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และตั้งบริษัทขึ้นมาเนื่องจากเห็นความสำคัญของการนำฟินเทค มาใช้กับอุตสาหกรรมการเงินในประเทศไทย ภายใต้ประโยคสำคัญคือ ความรู้ที่สำคัญที่สุดคือความไม่รู้

'การที่ไทยพาณิชย์ซึ่งถือเป็นธนาคารรายใหญ่ในประเทศไทย ยอมรับว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในอุตสาหกรรมคือความไม่รู้ ในสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งเป็นการแข่งขันในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนา DV ขึ้นมาเพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าว'

ปัจจุบัน DV ที่เปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เพิ่งเริ่มคิด หรือเริ่มพัฒนา อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ดิจิทัล เวนเจอร์ส 4.0 ที่มีการคิดและพัฒนามาจนค้นพบว่า ผู้ให้บริการฟินเทคในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยมาก เพราะมูลค่าตลาดฟินเทคในประเทศไทยอยู่ที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ และสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 6 พันล้านเหรียญ ทำให้เชื่อว่าการจะพัฒนาวงการฟินเทค ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้ต้องไม่ใช่การรอให้สตาร์ทอัปในประเทศไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมา แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ได้เห็นถึงความจำเป็นในการให้บริการ รวมถึงการสร้างทางลัดให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเงินได้สะดวกขึ้น

อีกมุมหนึ่งคือการเข้าไปลงทุน หรือศึกษาจากบริษัทฟินเทคในต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนเพื่อที่จะเข้าไปศึกษาหรือนำความรู้เกี่ยวกับการนำฟินเทคมาปรับใช้กับธนาคาร ให้เกิดความเหมาะสม ไม่ได้เป็นการลงุทนเพื่อหวังหาผลกำไรอย่างจริงจัง ดังนั้น รูปแบบของการเข้าไปลงทุนจึงมีหลากหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ DV จะดำเนินงานผ่าน 3 ส่วนธุรกิจ คือ 1.หน่วยทุนองค์กร (Coporate Venture Capital) 2.หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอล (Digital Products) และ 3. หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัป (Accelerator)

โดยที่ การแบ่งหน่วยธุรกิจหลักของ DV ออกมาเป็นหน่วยงานทุนองค์กร (Coporate Venture Capital) จึงเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่เหมือนเป็นเรดาห์ เพื่อเสาะหาบริษัทที่ดีและไม่แพงจึงเข้าไปลงทุน โดยไม่ได้ลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน แต่ลงทุนในบริการที่เหมาะสมกับธนาคารเท่านั้น ภายใต้งบลงทุนที่วางไว้ทั้งหมด 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,750 ล้านบาท

ในจุดนี้ พลภัทร อัครปรีดี ผู้อำนวยการหน่วยงานทุนองค์กร DV อธิบายเพิ่มเติมว่าจะมีการแบ่งเงินลงทุนไปใช้สำหรับลงทุนในกองทุนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญราว 700 ล้านบาท ส่วนอีก 980 ล้านบาท จะเป็นการเลือกจากทาง DV ในการลงทุนในบริษัทที่น่าสนใจ และ อีกราว 70 ล้านบาท จะเก็บไว้ใช้ในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปที่จัดขึ้น

เนื่องจากในการลงทุนของฟินเทค มีเรื่องที่น่าสนใจแบ่งออกเป็นด้วยกัน 3 ส่วนคือเรื่องของ 1.ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ กระเป๋าเงินออนไลน์ ระบบเพย์เมนต์ ประกันภัย การทำนิติกรรม ธุรกิจนายหน้า การบริหารสินทรัพย์ การให้ความรู้ทางการเงิน 2.โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี บล็อกเชน การเข้ารหัส ระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยง การพิจารณาสินเชื่อ การมีส่วนร่วมต่อสังคม และการยืนยันตัวตน

สุดท้ายคือ 3.เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ ให้ระบบสามารถเรียนรู้การใช้งาน การใช้คำสั่งเสียง รวมถึงการนำข้อมูลทางชีวภาพมาใช้งาน และการนำระบบเวอร์ชวลเรียลลิตี้ มาใช้ในธุรกิจทางการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจเพื่อให้สามารถเป็นผู้นำในฟินเทคได้

ต่อมาคือ หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอล (Digital Products) ที่ภายในจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Innovation Lab ที่จะเป็นการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจะเป็นการทำวิจัยและพัฒนาในผลิตภัณฑ์ที่จะได้ใช้ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเฟ้นหาผู้บริหารมาดูแล อีกส่วนคือ Product ที่จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ได้จริงภายใน 3-6 เดือน

สุวิชชา สุดใจ ผู้อำนวยการ หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอล DV กล่าวถึงเทรนด์ของธนาคารทั่วโลกในตอนนี้ว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าได้ประโยชน์ การสร้างแล็ป ของทาง DV ถือว่าเป็นแล็ปแรกที่มีความพร้อมและสมบูรณ์มากที่สุดในเมืองไทย

'เป้าหมายของแล็ปคือ ต้องการที่จะวิจัยและพัฒนาลผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ธนาคาร พร้อมไปกับการสร้างความสัมพันธ์แก่บริษัทฟินเทค โดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัปในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับทางธนาคารได้เร็วขึ้น ด้วยการจำลองระบบของธนาคารมาให้บริษัทที่เข้าร่วมได้ทดลองใช้งานในเดือนสิงหาคม'

โดยการเปิดระบบจำลองการทำงานของธนาคารจะไม่สร้างความเสี่ยงให้แก่ฐานลูกค้าเดิม เพราะจะมีการเปิดชุดคำสั่งในการพัฒนา ออกเป็นส่วน ส่วนแรกสำหรับทุกๆบริษัทที่สนใจสามารถเข้าถึงที่อยู่ของแต่ละสาขา หรือตู้เอทีเอ็มของธนาคาร กับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว

อีกส่วนจะเปิดให้เฉพาะบริษัทที่ลงทะเบียนกับทาง DV เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่ลึกกว่านั้น อย่างเช่นจำนวนเงินฝากในธนาคาร ปริมาณทรานเซคชันที่เกิดขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานบัตรเครดิต ซึ่งการสร้างระบบจำลอง (Simulation Lab) ขึ้นมา เพื่อให้การทดสอบทดลองหรือวิจัย สามารถทำได้เร็วขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบกับลูกค้าของธนาคาร ภายใต้ความร่วมมือกับทางไอบีเอ็ม

นอกจากนี้ ยังระบุว่า 4 เทคโนโลยีที่จะโฟกัสในปัจจุบันคือ IoT (Internet of things) ถัดมาคือ Biometrics ที่จะช่วยผลักดันในการยืนยันตัวตน Blockchain การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินใจ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และ Machine Learning (AI) ในการทำความรู้จักพฤติกรรมของลูกค้า ก่อนนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อสรรหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น

สุดท้ายในส่วนของหน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัป (Accelerator) ที่ทาง DV สร้างขึ้นมาเพื่อให้สตาร์ทอัปที่มีไอเดีย มาช่วยปูพื้นฐาน เพื่อให้เป็นช่องทางลัดในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงได้ ด้วยหลักสูตรการอบรมเป็นระยะเวลา 9 - 12 สัปดาห์ ที่จะบ่มเพาะตั้งแต่เรื่องกฏหมายการเงิน รวมถึงได้ร่วมทำงานกับทางธนาคาร

ชาล เจริญพันธ์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัป กล่าวว่า การทำศูนย์บ่มเพาะของทาง DV จะไม่มีการนับว่าเป็นรุ่นที่เท่าไหร่ โดยถือว่าเป็น Batch 0 ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทดลองได้เรื่อยๆ ถือว่าเป็นหลักสูตร MBA ของการเป็นสตาร์ทอัป ด้วยการเชิญที่ปรึกษา (เมนทอร์) เข้ามาช่วย 1 คนต่อ 1 ทีม เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

'ทุกทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินเบื้องต้น 3 แสนบาท โดยไม่มีข้อผูกมัด และจะมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาทสำหรับทีมที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาไปต่อเนื่อง ซึ่งทาง DV เข้าใจว่าต้องมีการพัฒนาไปจนถึงจุดที่สามารถสเกลเข้าสู่ตลาดได้ ทำให้ต้องมีการลงทุนในส่วนนี้ และที่สำคัญคือจะได้รับการซัปพอร์ตจากทางไทยพาณิชย์ ในทุกๆภาคส่วน'

จะเห็นได้ว่าในทุกๆหน่วยธุรกิจของ DV จะมีความเสี่ยง เปรียบเหมือนการลงทุนของธนาคารที่จะนำเงินฝากประชาชนมาปล่อยกู้ ก็ต้องมีการศึกษา และเรียนรู้ที่จะจำกัดความเสี่ยง ดังนั้นการก้าวไปข้างหน้าในวันนี้ ก็เหมือนเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ธนาคารทำธุรกิจหลักต่อไปอย่างเข็มแข็งและมั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น