xs
xsm
sm
md
lg

ซิสโก้ เผยเบื้องหลังเทคโนโลยีเครือข่ายหลักดัน มช.สู่ “Digital University”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้
ซิสโก้ โชว์เบื้องหลังเทคโนโลยีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์โมเดลพาร์ตเนอร์ใหม่ แบ่งผลประโยชน์ด้านเครือข่ายร่วมกัน โดยระบุให้พาร์ตเนอร์ทุกรายที่เข้าร่วมต้องใช้อุปกรณ์จากซิสโก้เพื่อความต่อเนื่องจากอุปกรณ์เดิมที่มีอยู่ ครอบคลุมโซลูชันด้านความปลอดภัย พร้อมจุดกระจายสัญญาณกว่า 2,700 จุดทั่วมหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันเข้าสู่ “Digital University” เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า โลกการศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์โมบาย และความพร้อมของเครือข่ายไวร์เลสที่แพร่หลาย ทำให้ปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนด้านการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อม และความรู้ให้แก่นักเรียนเพื่อให้ได้งานที่ดี เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจโลกปัจจุบันได้

ขณะที่พฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปที่ทำให้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไปด้วย เทคโนโลยีของซิสโก้ช่วยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้นำสถาบันการศึกษารูปแบบดิจิตอล และส่งเสริมการให้นักศึกษามีประสบการณ์ดิจิตอล ไลฟ์ พัฒนาด้านไอทีได้อย่างราบรื่น และทำให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิตอล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะกลายเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาดิจิตอล และสอดคล้องต่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังจะมาถึง

ความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี ATM (Asynchronous Transfer Mode) รูปแบบเดิม ให้กลายเป็นเทคโนโลยีกิกะบิต อีเธอร์เน็ต (Gigabit Ethernet) ของซิสโก้มาเป็นระบบเครือข่ายหลักของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการติดตั้งโครงข่ายอีเทอร์เน็ต 10 กิกะบิต และโซลูชันไวร์เลส เพื่อให้นักศึกษา และบุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทุกที่ ทุกเวลา บนทุกอุปกรณ์ โดยปัจจุบัน เครือข่ายไวร์เลสของมหาวิทยาลัยสามารถรองรับการทำงานของดีไวซ์ไม่ต่ำกว่า 100,000 เครื่อง และแต่ละแอ็กเคานต์สามารถรองรับการใช้งานดีไวซ์ได้ถึง 5 เครื่อง โดยที่สามารถใช้งานได้พร้อมๆ กัน อีกทั้งผู้ใช้บริการยังสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ทั้งหมดได้อย่างสะดวก

ด้านระบบการรักษาความปลอดภัย Cisco Email Security เป็นด่านแรกในการจัดการทุกปัญหาของอีเมล ไม่ว่าจะเป็นการลดข้อความสแปมที่ไม่ต้องการ การตรวจสอบแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีระบบอัปเดตข้อมูลสแปม และไวรัสอัตโนมัติ รวมถึงความสามารถในการป้องกันปัญหาการโจมตีในรูปแบบต่างๆ และระบบจัดการอีเมลที่ช่วยให้การใช้งานอีเมลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดคิวการรับส่งอีเมล การรับมือต่อเมลที่ถูกตีกลับ และการบริหารการเชื่อมต่อในระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบพื้นฐานของอีเมลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงที่มีการแพร่กระจายของไวรัส หรือการโจมตีของสแปม จึงช่วยให้มหาวิทยาลัยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ พลังงานที่ใช้ แบนด์วิดธ์ของระบบได้มากกว่า 50% รวมถึงประหยัดเวลาของผู้ดูแลระบบไอทีอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Cisco Intrusion Prevention System (Cisco IPS) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นระบบการป้องกันการบุกรุกระบบเครือข่าย มอนิเตอร์ภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ และตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งาน สามารถรู้ลำดับของเหตุการณ์ของระบบที่เกิดจากการโจมตีได้ล่วงหน้า ระบุแนวโน้มของภัยคุกคาม และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว โดย Cisco IPS ทำหน้าที่มอนิเตอร์ทราฟฟิกเครือข่าย ซึ่งการเจาะระบบอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังจากที่ผู้โจมตีสามารถเข้าถึงระบบได้แล้ว Cisco IPS จะทำการตอบโต้ได้ทันที โดยจะช่วยป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้นจากช่องโหว่ในระบบเครือข่าย และระบบปฏิบัติการ และป้องกันการโจมตีจาก Virus หรือ Worm ได้แบบอัตโนมัติ ทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น มหาวิทยาลัยยังสามารถเพิ่มแบนด์วิดธ์ในการรองรับแอปพลิเคชันการเรียนการสอน จัดการเวิร์กโหลดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีปัญหา เนื่องจากระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพช่วยในการป้องกันปัญหาการโจมตี ทั้งภายใน และภายนอกอย่างเต็มรูปแบบ

โดยการอัปเกรดเทคโนโลยีครั้งนี้ช่วยให้ผู้ใช้กว่า 50,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษากว่า 37,000 คน บุคลากรกว่า 11,300 คน ใน 22 คณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายไร้สายที่ปลอดภัย และปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ผ่านแอ็กเซสพอยนต์ประมาณ 2,700 จุด บนความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตขนาด 5 Gbps ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้งในส่วนวิชาการ และส่วนสนับสนุนทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีไวร์เลส แอ็กเซส มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 2 ของประเทศ ช่วยให้นักศึกษา และบุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพีซี โน้ตบุ๊ก ไอ-แพด หรือสมาร์ทโฟน
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความเป็นมืออาชีพ และความเชี่ยวชาญของซิสโก้ รวมถึงการบริการที่ฉับไวให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ช่วยทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มีประสิทธิภาพ เครือข่ายไร้สายสมรรถนะสูง และระบบการรักษาความปลอดภัยเต็มรูปแบบ ช่วยให้สามารถดำเนินงานโครงการด้านไอทีที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นด้าน Digital Infrastructure, Digital Learning, Digital Administration, Digital Students and Staffs และ Digital Security เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายในการเป็น “Digital University” อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชื่อว่าโซลูชันที่ทำงานร่วมกันจากซิสโก้ จะช่วยสนับสนุนให้กลายเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีขีดจำกัด ซึ่งตั้งเป้าว่าการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับยุค Internet of Everything จะทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถติด 50 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังหวังว่าการลงทุนด้านไอทีที่ใช้งบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาทในเฟสแรก ด้วยรูปแบบการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่ทางมหาวิยาลัยคิดขึ้นเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยงบประมาณส่วนใหญ่เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการจัดหาอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเพียงเงื่อนไขของการเลือกอุปกรณ์ยี่ห้อซิสโก้ เพื่อให้สอดคล้องต่ออุปกรณ์กระจายสัญญาณกว่า 600 ตัวที่มีอยู่เดิม โดยเมื่อเอกชนเข้ามาลงทุนจะสามารถจัดการ และบริหารเครือข่ายไวไฟเพื่อให้เกิดรายได้ โดยแบ่งส่วนการใช้งานของมหาวิทยาลัย และการสร้างรายได้ของเอกชนไว้อย่างชัดเจน ขณะที่เอกชนที่เข้ามาลงทุน และยอมรับเงื่อนไขก็คือ บริษัททีโอที โดยปัจจุบันทีโอทีได้มีการเปิดให้เช่าใช้โครงข่ายไวไฟแก่ผู้ให้บริการมือถือหลายราย ซึ่งเอไอเอสก็เป็นรายแรกในผู้ให้บริการไวไฟจากเครือข่ายนี้เช่นกัน

ขณะที่ในส่วนของการลงทุนนั้น เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค เม็ดเงินลงทุนย่อมน้อยกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองหลวง โมเดลของการลงทุนจึงเป็นการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ในลักษณะ P2P ซึ่งเป็นผลประโยชยน์ร่วมกันกับเอกชน ซึ่งสามารถทำให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาได้เร็วกว่าแผนงานเดิมจาก 10 ปี ให้เหลือเพียง 2 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มพัฒนาการเป็น Digital University โดยเฟสแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นการพัฒนาระบบเครือข่ายไร้สาย โมบายเซอร์วิส พัฒนาการระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหารด้วย Business Intelligence เพื่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสามารถใช้เพื่อการวางแผน การตัดสินใจจากข้อมูล คาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ Smart Learning & Smart Classroom, Digital Literacy โดยเป็นไปอย่างราบรื่น และคาดว่าจะเริ่มเฟส 2 ในปี 2559-2562 ซึ่งไม่น่าจะลงทุนน้อยกว่าเดิม โดยระบบไวไฟจะมีการขยายจำนวนแอ็กเซสพอยนต์มากขึ้นกว่า 5,400 จุด เน้นที่ความมั่นคงปลอดภัยของระบบเครือข่าย การเพิ่มฟีเจอร์คลาวด์ ตลอดจนอินฟราสตรักเจอร์ที่มากขึ้น เพื่อให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็นต้นแบบแห่งการใช้ชีวิตแบบดิจิตอลที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น

โดยโซลูชันของซิสโก้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายหลัก (core network) โซลูชันไวร์เลส และระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำงานร่วมกัน เป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยในการรองรับ “Internet of Everything” ที่เชื่อมโยงผู้คน ข้อมูล กระบวนการ และสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ด้วยความสะดวกง่ายดาย ความชาญฉลาด ความยืดหยุ่นในการปรับขนาด และประสิทธิภาพ ช่วยให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนสู่ยุค Internet of Everything ได้อย่างราบรื่นต่อไปในอนาคต

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น