xs
xsm
sm
md
lg

'Seeds For The Future' อาวุธลับ CSR หัวเว่ย(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หัวเว่ยชูกลยุทธ์ CSR ผ่านโครงการ Seeds For The Future สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่สายเลือดหัวเว่ย บ่มเพาะความรู้-เทคโนทันสมัย ถ่ายทอดผ่านเยาวชนทั่วโลก หวังเป็นหนึ่งในช่องทางพัฒนาการศึกษาจากคนกลุ่มเล็กๆที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการถ่ายทอดสู่คนกลุ่มใหญ่ในแต่ละประเทศ 'วัง อี้ ฝาน' นายใหญ่หัวเว่ยไทย เผยเชื่อภายในปี 2025 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างน้อย 50% จะมากจากดิจิตอลอีโคโนมี ขณะที่หัวเว่ยไทยคาดปีนี้เติบโตประมาณ 20%

ในบรรดาบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติ หัวเว่ยถือเป็นบริษัทที่มีการรุกตลาดอย่างรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เริ่มจากการเป็นผู้สรรหาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มุ่งตอบสนองลูกค้าในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์และคอนซูเมอร์ ทำตลาดในกว่า 170ประเทศทั่วโลก รองรับผู้ใช้บริการราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก พร้อมขยายตัวเข้าสู่การทำตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมสำหรับผู้บริโภคอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

หัวเว่ยแสดงความมุ่งมั่นใจการทำตลาดดีไวซ์ในประเทศไทยด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนไฮเอนด์หลายรุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Ascend P6 สมาร์ทโฟนที่บางที่สุดในโลก , Acend P7 ล่าสุดกับ P8ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในแง่ความทันสมัยด้านเทคโนโลยีแต่ราคาไม่สูงนัก

หัวเว่ย ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของหัวเว่ยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดขายราว 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 ลูกค้าในประเทศไทยเช่น เอไอเอส , ดีแทค, ทรู คอร์ปอเรชั่น, ทีโอที ฯลฯ เป้าหมายของหัวเว่ยคือต้องการเป็นผู้ให้บริการครบวงจร ซึ่งแน่นอนนอกจากการทำตลาด สร้างยอดขายแล้วอีกหนึ่งในกิจกรรมของบริษัทข้ามชาติที่ให้ความสำคัญและถือเป็นการยกระดับองค์กรคือกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม หรือ CSR

'Seeds For The Future' เป็นโครงการแฟลกชิปด้าน CSR ที่หัวเว่ยเริ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและพัฒนาความรู้ความสามารถด้านไอซีทีให้กับเยาวชน โดยมุ่งพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางไอซีที ตลอดจนส่งเสริมความสนใจในอุตสาหกรรมไอซีที ทั้งกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้หัวเว่ยเลือกไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มโครงการนี้

วัง อี้ ฝาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ย มองความเหมาะสมและเลือกไทยในการขยายตลาดออกสู่สากลเป็นประเทศแรกๆ พร้อมมองว่าไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของหัวเว่ยในภูมิภาคนี้ทั้งทางด้านบุคลากร การวิจัยและพัฒนา โดยนับจากนี้ต่อไปสำนักงานหัวเว่ยในประเทศไทยจะเป็นฐานของหัวเว่ยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับการที่ไทยต้องการเชื่อมโยงสู่อาเซียน

ขณะที่ฮอลลี่ รานายโวซานานี หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัดกล่าวว่า หัวเว่ยมองเห็นความสำคัญของการศึกษาด้านเทคโนโลยีว่าจะเป็นพี้นฐานที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกประเทศโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทันสมัยของหัวเว่ย นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะมีอายุประมาณ20-25 ปีหรือประมาณปี 3-4 ศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ หรือไอที หรือ วิศวกรรมศาสตร์เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป ที่สำคัญต้องพูดภาษาอังกฤษได้

'เราต้องการให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้เรียนรู้จริงมากกว่าอยู่ในห้องเรียนได้พบเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆจากผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้จริงๆซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วก็มีโอกาสได้เข้าทำงานกํบหัวเว่ย แต่หากต้องการเข้าทำงานกับบริษัทอื่นก็ไม่มีปัญหา'

ภายใต้โครงการ Seeds For The Futureจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.ทัศนศึกษาด้านไอที 2.ฝึกอบรมด้านไอที และ3. มอบทุนการศึกษา โดยในปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ระยะเวลา 2 สัปดาห์เมื่อวันที่ 1-15สิงหาคม 2558 มีนักศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส คูเวต และไทยเข้าร่วมทั้งหมด34 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กไทย 10 คนจาก8 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,มหาวิทยาลัยมหิดล , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

โดยสัปดาห์แรกของนักศึกษาจะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของจีนที่ปักกิ่ง และสัปดาห์ที่ 2 เป็นการดูงานด้านเทคโนโลยีและปฏิบัติงานจริงตลอด1 สัปดาห์เต็มปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านโครงการนี้แล้วประมาณ 1,744 คน โดยในจำนวนนี้ 66 เป็นคนไทย

ผู้บริหารหัวเว่ยกล่าวว่า การที่หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้าน CSR ภายใต้โครงการ Seeds For The Future โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนในแง่รายได้ที่ตอบกลับมา แต่มองว่าเป็นหนึ่งในการยกระดับสู่การเป็นอินเตอร์แบรนด์ ซึ่งที่ผ่านมามีการวัดความพึงพอใจจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ประมาณ 4.5 จากคะแนนเต็ม 5

ด้านสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ กงสุลใหญ่ ประจำสถานกงสุลใหญ่ นครกว่างโจว กล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้โครงการ Seeds For The Future อยู่ภายใต้แนวทาง 3 อย่างคือ แสวงหา ส่งเสริม และ สนุบสนุน เริ่มจากการให้ความร่วมมือด้านงานเอกสารนักศึกษาที่เดินทาง ภายใต้ความร่วมมือนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กไทยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้จากเจ้าของเทคโนโลยี นับเป็นโอกาสดีอย่างมาก

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในระหว่างการประชุมสูงสุดด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก (APEC Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่ ปรุงปักกิ่ง หยาง ซู ประธาน บริษัท หัวเว่ย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางไอซีทีของภูมิภาคได้ โดยระหว่างการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศของไทย รวมถึงการตั้งฐานการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ยในประเทศไทยอีกด้วย

'เชื่อว่าภายในปี 2025 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างน้อย 50% จะมากจากดิจิตอลอีโคโนมี หัวเว่ยมีประสบการณ์ มีทีมงานที่พร้อมจะแชร์ข้อมูลด้านนี้อยู่แล้ว เป็นความท้าทายของหัวเว่ยอยู่แล้วโดยคาดว่าในปีนี้หัวเว่ยประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 20%' วัง อี้ฝาน กล่าวในตอนท้าย

*** นักล่าฝัน 'Seeds For The Future'

ภายใต้โครงการSeeds For The Future ในปีนี้มีนักศึกษาที่เข้าร่วม 10 คน จากสถาบันต่างๆส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ศึกษาอยู่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นพเก้า แก้วเกษ นักศึกษา ปีที่ 4ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ไม่มีความลังเล ในการเลือกศึกษาหาประสบการณ์กับแบรนด์หัวเว่ย ซึ่งเป็นแบรนด์จีน แทนการเลือกบริษัทข้ามชาติจากค่ายยุโรป หรืออเมริกา เพราะมองว่า หัวเว่ยเป็นแบรนด์ที่กำลังมีการเติบโตอย่างมากมีพื้นฐานธุรกิจมาจากแครี่เออร์ ซัปพอร์ตโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำลังขยายธุรกิจมาตอบสนองตลาดคอนซูเมอร์มากยิ่งขึ้น นับเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่น่าจับตามอง จากการได้ร่วมในโครงการนี้ทำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรและความกล้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆลงสู่ตลาด

ขณะที่ อรวรรยา ศรีตระกูล นักศึกษา ปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ทำให้เห็นการทำงานจริงๆที่สำนักงานใหญ่ของหัวเว่ยซึ่งมีอุปกรณ์ครบ ซึ่งไม่มีให้เห็นในห้องเรียน ลักษณะการสอนเป็นการให้ความรู้จริงๆจากเทคโนโลยีที่หัวเว่ยพัฒนา ตลอดจนทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร ยอมรับว่าเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ว่าหลังจบการศึกษาแล้วจะเข้าทำงานที่หัวเว่ย

Company Related Link :
ซัมซุง

Instagram






กำลังโหลดความคิดเห็น