xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ติเน็ตเผยแนวคิด IoT ขุมทรัพย์ใหม่ปี 2020 กว่า 7 หมื่นล้านเหรียญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟอร์ติเน็ต เผยผลสำรวจแนวคิด “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Thing) หรือ IoT จากเจ้าของบ้านใน 11 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย พบส่วนใหญ่เชื่อว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมดจะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ความกังวลใจสูงสุดพุ่งเป้าไปที่ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ตลอดจนการให้สิทธิเข้าถึงข้อมูล และแนวทางการแก้ไขช่องโหว่

มร.จอห์น แมนดิชัน รองประธานฝ่ายการตลาดที่ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า “บริษัทวิจัยไอดีซี ระบุว่าตลาด IoT หรืออุปกรณ์ทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ปี 2020 อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 7.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และผู้ที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดได้ จะต้องหาจุดสมดุลระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงในบ้านกับระบบการรักษาข้อมูลส่วนตัวที่เหมาะสม ตลอดจนฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้อย่างสมบูรณ์”

การสำรวจในหัวข้อ “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง : บ้านที่มีการเชื่อมโยง” (Internet of Thing : Connected Home) ได้สำรวจความคิดของเจ้าของบ้านที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีกว่า 1,801 คนทั่วโลก โดยเป็นคนในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย มาเลเซีย และไทย กว่า 750 คน คำถามจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอนาคต โดยเน้นอุปกรณ์ในบ้านทุกชนิด

โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 61% เชื่อว่า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดภายในบ้านจะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยชาวจีนเห็นด้วยในเรื่องนี้มากที่สุดในโลก คือ 84% ขณะที่ประเทศไทย เห็นด้วย 61%

ด้านเจ้าของบ้านทั่วโลกกว่า 69% เป็นห่วงเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนตัว จากการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหมดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านเข้าไว้ด้วยกัน โดยจำนวนนี้มีทั้ง “กังวลมาก” หรือ “ค่อนข้างห่วง” ซึ่งชาวอินเดียกว่า 63% เห็นว่าข้อมูลส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่ไว้วางใจว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้อย่างไรเมื่อตกอยู่ในมือผู้อื่น ขณะที่ไทยเห็นด้วยต่อความคิดนี้ 60%

และหากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อภายในบ้านแอบเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัว และนำไปใช้งานร่วมกันกับผู้อื่นในโลกอินเทอร์เน็ต จุดนี้มีผู้คนกว่า 62% ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างสมบูรณ์ และโกรธมากจนถึงจุด ที่จะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการตอบโต้ ทั้งนี้ ท่าทางและคำตอบของกลุ่มประเทศจากแอฟริกาใต้ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา มีความแข็งกร้าวมากที่สุด และกว่า 50% ของผู้ตอบในประเทศไทยเห็นด้วยต่อคำตอบนี้

ขณะที่คนไทยกว่า 28% เชื่อว่าผู้ผลิตอุปกรณ์หรือผู้ให้บริการ ควรจะเป็นผู้จัดการเรื่องสิทธิการเข้าถึงมาให้เรียบร้อย และอีกกว่า 42% ยังมีความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถออกมาตรการมาดูแล การจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเหมาะสม โดย 11% เห็นว่าควรมีองค์กรอิสระที่ไม่ใช่รัฐบาลเข้ามาควบคุม และบังคับใช้กฎระเบียบด้านข้อมูลที่อุปกรณ์รวบรวมไป ด้านผู้ตอบในประเทศไทย 39% ยังคงเห็นว่า รัฐบาลควรเป็นผู้ควบคุมข้อมูลที่อุปกรณ์รวบรวมไปเช่นกัน

และหากมีการพบช่องโหว่ในอุปกรณ์ กว่า 48% เห็นว่าผู้ผลิตควรจะเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการปรับปรุงระบบ และสร้างแพชจ์ (Patching) เพื่อแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว แต่กระนั้นก็ยังมีผู้คนกว่า 31% ที่บอกว่า ควรเป็นความรับผิดชอบของเจ้าบ้านเองด้วยโดยจะต้องอัปเดตอุปกรณ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้านคนไทยอีกกว่า 47% เห็นว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์ต้องรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้ เจ้าบ้านกว่า 40% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับเราเตอร์ใหม่ที่ดีที่สุดด้านความปลอดภัย หากแต่ 48% เลือกตอบ “บางที” เท่านั้น โดยตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่า 50% ความเห็นที่จะยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ทำให้อุปกรณ์มีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับการทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าราคายังคงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อบ้านเข้ากับเครือข่าย และตามด้วยคุณสมบัติการทำงาน และแบรนด์ของผู้ผลิต

“อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งสามารถให้ประโยชน์มากมายแก่ผู้ใช้ แต่ยังมีประเด็นด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวที่เป็นเรื่องสำคัญ และในการข้ามอุปสรรคเหล่านี้จะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่มีความชาญฉลาด รวมถึงศักยภาพในระบบการตรวจสอบตัวตนแบบระยะไกล การเชื่อมต่อเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น) ระหว่างผู้ใช้ และบ้านของพวกเขา รวมถึงการป้องกันภัยมัลแวร์ บ็อตเน็ต และแอปพลิเคชันด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งควรนำมาใช้แบบบูรณาการผ่านเครือข่ายคลาวด์” แมนดิชัน กล่าวสรุป

Company Related Link :
Fortinet

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
กำลังโหลดความคิดเห็น