xs
xsm
sm
md
lg

“คุมประพฤติ” สรุปยอด 7 วัน 4,648 คดี เมาขับสูงสุด 4,435 คดี แต่ลดฮวบจากปีก่อน 63 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผย เทศกาลปีใหม่ 64 คดีเมาแล้วขับลดลงกว่า 7,500 คดีจากปีก่อน พบกระทำผิดซ้ำ 203 ราย ส่งบำบัด 3 วัน “สุรินทร์” มากสุด 415 คดี

วันนี้ (7 ม.ค.) ณ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นประธานแถลงข่าวสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ภายใต้ชื่อ “คุมประพฤติใส่ใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน เมาขับจับติด EM” โดยมีคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายวิตถวัลย์ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ตลอด 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 63 - 4 ม.ค. 64 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 117 แห่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 4,648 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถในขณะเมาสุรา4,435 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.42 คดีขับเสพ 193 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.15 คดีขับรถประมาท 20 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.43 ส่วนจังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. สุรินทร์ 415 คดี 2. บุรีรัมย์ 365 คดี และ 3. ชัยภูมิ 349 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลงถึง 7,562 คดี คิดเป็นร้อยละ 63

นายวิตถวัลย์ เผยอีกว่า จากการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดย้อนหลัง 3 ปี พบมีผู้กระทำผิดซ้ำในคดีขับรถในขณะเมาสุรา 203 ราย และมีผู้กระทำผิดซ้ำในฐานความผิดเดียวกันจากช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ราย นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำในคดีขับเสพ อีกจำนวน 9 ราย สำหรับการติดกำไล EM ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด มีจำนวนทั้งสิ้น 58 ราย โดยส่วนใหญ่ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัย ในช่วงเวลา 23.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการติดกำไล EM แล้วจำนวนทั้งสิ้น 10,470 ราย โดยเป็นคดีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 จำนวน 113 ราย

นายวิตถวัลย์ เผยต่อว่า สำหรับมาตรการคุมความประพฤติ นอกจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ ได้แก่ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม การพักใช้ใบอนุญาตขับรถ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย วินัยจราจร หรือห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดแล้ว ในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟู ได้ดำเนินการคัดกรองด้วยแบบประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว หากพบว่ามีผู้กระทำผิดที่มีพฤติกรรมการติดสุราระดับสูงจะส่งเข้ารับการบำบัดการติดสุรากับสถานพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมถึงกลุ่มผู้กระทำผิดซ้ำจะดำเนินการเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง ร่วมกับการทำงานบริการสังคม อาทิ การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุ การช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล และการให้ความรู้สร้างจิตสำนึก เช่น การเยี่ยมชมห้องดับจิตและตึกอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการขับรถขณะเมาสุรา

“ตลอด 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ ตลอดช่วงเทศกาล รวมจำนวน 142 ครั้ง โดยให้บริการประชาชนที่จุดบริการประชาชน พร้อมทั้งจัดให้มีการทำงานบริการสังคมโดยการตรวจเยี่ยม แจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม กาแฟ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แจกแอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย อำนวยความสะดวกจราจร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่ประชาชนที่เดินทาง ตรวจเยี่ยมด่าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ณ ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้น จำนวน 300 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 2,461 ราย”






กำลังโหลดความคิดเห็น